ข่าว

ใครสวา (ปาล์ม) นํ้ามัน กฟผ.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเดินทางลงใต้ไปที่ จ.สุราษฎร์ธานี ตัดเชือกรับน้ำมันปาล์มดิบส่งเข้าโรงไฟฟ้า กฟผ.ด้วยตัวเองเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3441 หน้า 6  ระหว่างวันที่ 3-6 ก.พ.2562 โดย...กระบี่เดียวดาย

 

 

ใครสวา (ปาล์ม) นํ้ามัน กฟผ.

 

          ปัญหาราคาปาล์มนํ้ามันตกต่ำ จนทำให้รัฐบาลต้องมีการแทรงแซงทั้งทางตรง โดยการจ่ายเงินตรงให้กับชาวสวนแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ยังต้องซับปริมาณผลผลิตเกินสต็อกออกจากระบบ โดยโครงการจำหน่ายนํ้ามันปาล์มดิบให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามมาตรการปรับสมดุลนํ้ามันปาล์มในประเทศ วงเงิน 2,880 ล้านบาท ปริมาณ 1.6 แสนตัน ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

          ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางลงใต้ไปที่ จ.สุราษฎร์ธานี ตัดเชือกรับน้ำมันปาล์มดิบส่งเข้าโรงไฟฟ้า กฟผ.ด้วยตัวเองเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

          โครงการนี้ดำเนินการร่วมกันโดยกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงพลังงาน มีเป้าหมายรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกร ผลปาล์มนํ้ามัน 18% ราคาผลปาล์ม 3.20 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) คำนวณเป็นนํ้ามันสกัดราคา 18 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในรายละเอียดร่างสัญญามีช่องโหว่ในการกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้สมัคร ว่ากันว่ามีเงาดำหรือไอ้โม่งยืนตะคุ่มอยู่ข้างหลังโครงการนี้ที่จ้องคอยหาผลประโยชน์

          “ไอ้โม่ง” ที่ว่า ต้องเป็นผู้ที่มีสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบขั้นตํ่าไม่น้อยกว่า 50% ของปริมาณที่เสนอจำหน่าย และเป็นผู้มีความสามารถในการขนส่ง เก็บรักษา และส่งมอบ และกำหนดสเปคลงไปที่ผู้ที่มีความสามารถขนส่งทางเรือ โดยให้สาเหตุว่าเนื่องจากการขนส่งทางบกถนนไม่ค่อยดี จำเป็นที่จะต้องใช้เรือในการขนส่ง เพื่อจะส่งเรือ กฟผ.ดูดน้ำมันไปปั่นกระแสไฟฟ้า

          ใครคือไอ้โม่ง ? เมื่อชำแหละสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการนี้มี ช่องโหว่สำคัญ คือ “ การขนส่งทางเรือ” อันเนื่องจากข้ออ้างที่ว่ากฟผ.ผู้ซื้อ ไม่มีคลังสำรองนํ้ามัน และต้องการความต่อเนื่องของวัตถุดิบให้มีความแน่นอนและเสถียร เปิดช่องให้มีคนหาผลประโยชน์จากช่องว่างนี้ ในการเข้าบริหารจัดการในนาม “ออร์แกไนซ์” ให้ทั้งหมด

          การนำนํ้ามันปาล์มดิบไปปั่นกระแสไฟฟ้า 1.6 แสนตัน ที่หวังให้เกิดจิตวิทยาตลาดดันราคานั้น กฟผ. ต้องใช้ซีพีโอวันละ 40 ตัน/ชั่วโมง จากปริมาณ 1.6 แสนตัน ผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 936 ตัน หรือวันละ 1 พันตันโดยเฉลี่ย ในกรอบระยะเวลา 6 เดือน และต้องผสมกับก๊าซหุงต้มจะได้ความคุ้มค่ามากกว่า และทำให้เกิดอาชีพใหม่ขึ้นในการออร์แกไนซ์การจัดสรรขายนํ้ามันปาล์มดิบให้กฟผ.

          “หลักคือส่งนํ้ามันปาล์มดิบ หรือ ‘ซีพีโอ’ ไปก่อน แล้ว กฟผ. จะให้เงินมา 90% ส่วนอีก 10% ต้องนำหลักฐานของเกษตรกรมาแสดงซื้อผลปาล์มจากเกษตรกร 3.20 บาทต่อกิโลกรัม แต่ต้องเป็น เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร (สมุดเล่มเขียว) ด้วย”

 

ใครสวา (ปาล์ม) นํ้ามัน กฟผ.

          หนังสือพิมพ์ “ฐานเศรษฐกิจ”ไปตรวจสอบดู ใครเป็นคู่สัญญาจัดส่งนํ้ามันปาล์มดิบให้กฟผ.มีทั้งสิ้น 42 ราย แต่รอบแรกมี 24 ราย จัดส่งที่ท่าเทียบเรือ บริษัท พี.เค มารีน เทรดดิ้ง จำกัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้จัดส่งลำดับแรกคือ บริษัท เจริญน้ำมันปาล์มจำกัด จำนวน 2,000 ตัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวนี้เป็นบริษัทที่ได้รับโควตาสูงเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 8,000 ตัน ขณะที่บริษัทที่ได้รับจัดสรรสูงเป็นลำดับแรก เป็นบริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้จำกัดปริมาณ 1 หมื่นตัน (อ่านกราฟฟิกประกอบผู้จัดส่งน้ำปาล์มดิบ 24 รายรอบแรก)

          บริษัทเหล่านี้ไม่มีเรือขนส่งน้ำมัน จึงต้องมีคนจัดการให้ หรือออร์กาไนซ์จัดการ ที่ต้องมีเรือขนส่ง มีคลังเก็บน้ำมันรอส่ง โดย 40 บริษัทจะต้องจ่ายค่าบริหารจัดการให้ออร์กาไนซ์1บาทต่อ1กิโลกรัมและค่าขนส่งอีก 1 บาทต่อ 1 กิโลกรัม

          โครงการยังมีช่องโหว่ในประเด็นคุณสมบัติน้ำมันปาล์มดิบที่จัดส่ง โดยตั้งค่าเอฟเอฟเอ Free Fatty Acid : FFA หรือค่าความสกปรกและสิ่งเจือปนไว้ที่ 7-9 % ขณะที่มาตรฐานส่งออกหรือค่ามาตรฐานสิ่งเจือปนไม่เกิน 5 % นั่นหมายถึงว่าผู้ส่งสามารถนำน้ำมันที่ด้อยคุณภาพหรือกากผสมลงไปได้มากกว่าปกติ ต้นทุนซื้อปาล์มดิบจึงถูกลงไปด้วย

          ลองนึกภาพข้าวเปลือกในโครงการรับจำนำ โดยมีสิ่งเจือปนหรือธัญญพืช ผสมลงไปทำให้ปริมาณมากขึ้นเข้าโครงการได้มากขึ้น ซึ่งเผชิญกับความเสียหายมากมายมาแล้ว โครงการนี้มีการเตรียมน้ำมันด้อยคุณภาพ ไขปาล์ม กากปาล์มผสมไว้หรือไม่ ที่สำคัญได้ไปไล่ซื้อจากในสวนปาล์ม ลานเท ของเกษตรกรมาแล้วหรือยัง

          “จริงอยู่นํ้ามันปาล์มโครงการนี้ อาจจะแค่คิดกันว่าเอาไปเผาผลิตไฟฟ้า แต่ต้องคำนึงไปถึงมาตรฐานเปอร์เซนต์นํ้ามันที่ก่อหน้านี้ไปบีบให้เกษตรกร ห้ามนำผลปาล์มร่วงมาขาย ต้องตัดปาล์มที่เปอร์เซนต์นํ้ามัน 18 % ไม่ได้เปอร์เซนต์เป็นตกเกรดกดราคาต่ำก่อนหน้านี้ เมื่อทำเช่นนี้จะไปกำหนดมาตรฐานบังคับให้เกษตรกรได้อย่างไร”

          ผู้รับผิดชอบอย่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงานโดยกฟผ.ผู้ซื้อ ต้องเร่งตรวจสอบและปิดช่องโหว่ ช่องว่างทันที อย่าได้รู้เห็นเป็นใจตุกติก จุ๊กจิ๊กไปกับใครเขา

          อย่าให้ใครฉวยโอกาส สวา(ปาล์ม) นํ้ามัน สร้างความชอกชํ้าให้กับเกษตรกรอีกเลย !!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ