
แพทย์แผนไทยฯ แจง! ร่างคุม "ช่อดอกกัญชา" ต้องมีใบสั่งแพทย์
แพทย์แผนไทยฯ แจง! ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข คุม ‘ช่อดอกกัญชา’ ต้องมีใบสั่งแพทย์ เล็งลิสต์กลุ่มโรคใช้ได้เร็วๆนี้
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้สัมภาษณ์(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ฉบับใหม่ที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย LAW ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2568 ว่า ร่างประกาศกระทรวงฯดังกล่าวเน้นในเรื่องการควบคุม “ช่อดอก” ของกัญชา โดยร้านจำหน่ายต้องมีใบสั่งแพทย์จึงจะจำหน่ายได้ และต้องมาจากแหล่งปลูกที่ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งไม่จำเป็นว่าแหล่งปลูกต้องเป็นวิสาหกิจชุมชน เพียงแต่ต้องได้มาตรฐานของกรมการแพทย์แผนไทยฯที่เรียกว่า GACP (Good Agricultural and Collection Practices) อิงจากแนวทางปฏิบัติของสหภาพยุโรป (EU GMP) ปัจจุบันมีแหล่งปลูกกัญชาผ่านมาตรฐานดังกล่าว 47 แห่ง
“หลักๆร่างประกาศกระทรวงฯ สมุนไพรควบคุม(กัญชา) ที่มีการปรับปรุงใหม่ คือ การย้ำเรื่องการอนุญาตจำหน่ายช่อดอกกัญชา อย่างร้านจำหน่ายต้องมีใบอนุญาตจำหน่าย และส่งออกช่อดอกกัญชา โดยให้อำนาจแก่อธิบดีกรมการแพทย์แผนฯ สามารถพิจารณาไม่ต่อใบอนุญาตได้สำหรับผู้ที่เคยถูกพักใช้ใบอนุญาต และใบอนุญาตดังกล่าวนั้นต้องต่อทุก 3 ปี ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ออกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 17,000-18,000 ใบ ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย รายใหญ่ไม่มาก ส่วนผู้ที่จะซื้อหรือผู้ป่วยต้องมีใบรับรองแพทย์ คล้ายๆใบสั่งจ่ายยา ซึ่งหากไม่มีก็ไม่สามารถซื้อ และร้านขายก็ขายให้ไม่ได้เช่นกัน” นพ.สมฤกษ์กล่าว
แพทย์ทุกท่านสามารถสั่งจ่ายได้ เพียงแต่ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ จะมีการอบรมให้ความรู้เรื่องการสั่งจ่ายช่อดอกกัญชาเป็นการเฉพาะ มีทั้งการอบรมผ่านออนไซต์และออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า คนที่จะซื้อตามร้านต้องมีใบสั่งแพทย์ และร้านขายต้องเก็บใบสั่งแพทย์เป็นหลักฐาน เพราะกรมฯ จะมีการตรวจสอบตลอด “กรมฯ กำลังเตรียมออกแบบรายละเอียดของใบสั่งแพทย์ โดยให้สั่งจ่ายได้ไม่เกิน 30 วัน หรือประมาณ 1 เดือน ของแต่ละอาการกลุ่มโรค โดยจะระบุว่าในแต่ละวันให้ใช้ได้เท่าไหร่จนครบ 1 เดือน ซึ่ง 30 วันก็ประมาณ 30 กรัม โดยกลุ่มโรคที่ใช้จะเป็นโรคเดิมที่เคยมีข้อมูล รวมถึงอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ แต่กรมฯกำลังจะรวบรวมข้อมูลการใช้กับกลุ่มโรคอะไรบ้าง”
ยังมีข้อกังวลว่า จะเปิดช่องให้คนนำไปใช้ผิดกฎหมาย มึนเมา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน นพ.สมฤกษ์ กล่าวว่า ค่อนข้างยาก เพราะต้องมีใบสั่งจ่ายยา มีใบรับรองแพทย์ ร้านถึงจะขายให้ได้ ดังนั้น การจะนำไปทำผิดกฎหมายค่อนข้างยาก เพราะจะมีใบสั่งจ่ายจากแพทย์ และปริมาณไม่ได้มาก
สำหรับร่างประกาศกระทรวงฯ ยังมีรายละเอียดในเรื่องการห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุม(กัญชา) ผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ห้ามโฆษณาสมุนไพรควบคุมในทุกช่องทางเพื่อการค้า และห้ามจำหน่ายในสถานที่ดังนี้ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก และสวนสาธารณะ สวนสัตว์และสวนสนุก ฯลฯ ทั้งนี้สามารถอ่านรายละเอียดประกาศ และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย LAW ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2568