
เปิดใจ "ส.ต.อ." สอบติดนายร้อย ถูกปัดตก เผย 5 ข้อ แย้งคำชี้แจง บช.ศ.
เปิดใจ "สิบตำรวจเอก" สอบติดนายร้อย ถูกปัดตก เผย 5 ข้อเท็จจริง คัดค้านคำชี้แจง กองบัญชาการศึกษา เตรียมอุทธรณ์ การประกาศผลสอบ
จากกรณีปรากฏข่าว ส.ต.อ.ธนวรรฒน์ ปัญญาเลิศศรัทธา ผบ.หมู่สืบสวน สภ.บ้านบึง สอบเลื่อนชั้นเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2567 และประกาศผลออกมาได้คะแนนทั้งหมด 91 คะแนน และผ่านการสอบวัดสมรรถนะทางด้านร่างกาย เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ แต่ผลออกมาไม่ผ่านการคัดเลือก ซึ่งทางกรรมการบอกว่าพิการ
ต่อมา กองบัญชาการศึกษา ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ส.ต.อ.ธนวรรฒน์ ตามระเบียบการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ในผนวก จ. ท้ายประกาศรับสมัครฯ ข้อ 6.2.5 ระบุ "ห้ามใช้อุปกรณ์ช่วยหรืออุปกรณ์เสริม ในการทศสสอบใด ๆ ทั้งสิ้น.."
ที่ประชุมฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ขาเทียมที่ ส.ต.อ. ใช้ในการทดสอบเป็นแบบ Sport ใช้ในการวิ่งขันกีฬา มีน้ำหนักเบา และมีสปริง เวลาวิ่งจะเสริมให้เท้ากระดกไปข้างหน้า จึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้การวิ่งซึ่งไม่เป็นขาเทียมปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จึงตัดรายชื่อออกจากผู้สอบคัดเลือกได้และไม่มีสิทธิเป็นผู้คัดเลือกได้
21 มี.ค. 2568 ดร.ณรงค์ ไปวันเสาร์ นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออก และประธานฝ่ายกฎหมาย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และพูดคุยกับ ส.ต.อ.ธนวรรฒน์ ทราบว่ากรณีดังกล่าว ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการอย่างชัดเจน ขัดต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ
สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย จะให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้เสียหายอย่างเต็มที่ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ และเป็นแบบอย่างให้หน่วยงานต่างๆ ตระหนักถึงสิทธิของคนพิการ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคตประเด็นสำคัญ
ส่วนกรณีมีการกล่าวอ้างว่า ส.ต.อ. รู้ตัวดียังไงก็ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ชั้นสัญญาบัตร สายงานพนักงานสอบสวนส.ต.อ.ธนวรรฒน์ ชี้แจงว่า ตนเองได้อ่านประกาศรับสมัครดีแล้ว ว่าจะต้องไม่เป็นบุคคลหรือผู้พิการที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้า ที่ต้องย้ำว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ก็ดูจากข้อเท็จจริง ซึ่งตนก็เป็นตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่ได้ปกติ แล้วมันจะเป็นอุปสรรคได้อย่างไร
ซึ่งปกติต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ต้องดูว่าเป็นอุปสรรคอย่างไร ก็ไม่มีบอกอะไร ถ้าเทียบกับปีก่อนๆ หน้า เขาพิจารณาจากรูปถ่ายของตน ว่าสามารถปฏิบัติงานได้หรือไม่ ซึ่งสามารถเป็นข้อโต้แย้งว่าตนสามารถทำงานได้หรือไม่ และถ้าตนรู้ว่าไม่สามารถผ่านหลักเกณฑ์ได้ คงไม่สมัคร และหลังจากนี้จะทำเรื่องอุทธรณ์ ตามกระบวนการ และติดตามผลอุทธรณ์ว่าผลเป็นเช่นไร หากผลเป็นเช่นเดิม ก็คงจะต้องดำเนินการฟ้องศาลปกครองต่อไป
นอกจากนี้ ส.ต.อ.ธนวรรฒน์ ปัญญาเลิศศรัทธา ยังคัดค้านคำชี้แจง ของกองบัญชาการศึกษา ดังนี้
1. ข้อเท็จจริงข้อ 1 กรณีที่ชี้แจงว่าเป็นหากอนาคตอุปกรณ์ชำรุด จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ ท่านเอาเรื่องอนาคตที่ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นหรือไม่ นำมาพิจารณา มันไม่เป็นธรรมครับ เพราะถ้าอนาคตมันไม่ชำรุดละ จะเป็นอย่างไร
2. ท่านต้องการจะให้ พนักงานสอบสวน เผชิญเหตุให้ได้หรืออย่างไร ท่านก็ทราบดีกว่าพนักงานสอบสวน แทบจะไม่มีโอกาสได้เผชิญเหตุซึ่งหน้าเลย ลำพังทำสำนวน สอบปากคำก็หมดเวลาแล้ว และการตรวจที่เกิดเหตุ ท่านอธิบายได้หรือไม่ ว่าต้องไปตรวจเหตุอย่างไร ขั้นตอนอะไร และขั้นตอนใดที่ผมตรวจไม่ได้
3. ข้อเท็จจริงข้อ 2 ที่ท่านแจ้ง ท่านแจ้งข้อห้ามไม่หมด เพราะตามประกาศ ระบุว่า "ห้ามอุปกรณ์ช่วยเหลือหรืออุปกรณ์เสริม ในการทดสอบใดๆ อันได้เปรียบผู้เข้าทดสอบรายอื่น" ซึ่งผมใส่ขาเทียมสำหรับวิ่ง มันทำให้ได้เปรียบผู้เข้าสอบรายอื่นอย่างไร ท่านมีงานวิจัยหรือตัวชี้วัดหรือไม่
4. และขาเทียม ตามนิยามไม่ใช่อุปกรณ์เสริม แต่เป็นอวัยวะเทียม เพื่อใช้ทดแทน และการใช้ขาวิ่งก็ไม่ทำให้ผมได้เปรียบแต่อย่างใด เพราะจะวิ่งเร็วหรือช้า มันก็ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพของร่างกาย ถ้าเช่นนั้น บุคคลที่น้ำหนัก 100 กิโลกรัมที่ไม่ได้ออกกำลังกาย หากใส่ขาเทียมวิ่ง จะวิ่งเร็วกว่านักวิ่ง ที่วิ่งเป็นประจำหรือไม่
5. ตำรวจสายนิติกร ก็ถือเป็นตำรวจ หากเผชิญเหตุซึ่งหน้าจะทำอย่างไร