
เปิดกฎเหล็ก มาตรการควบคุม การลงทัณฑ์ 13 "ท่าการลงโทษ" ของกองทัพบก
กองทัพบก เปิดกฎเหล็ก มาตรการควบคุม การลงทัณฑ์ 13 "ท่าการลงโทษ" ที่มีการบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
9 มี.ค. 2568 ทีมโฆษกกองทัพบก โพสต์เนื้อหา มาตรการในการควบคุมการลงทัณฑ์ หรือลงโทษกำลังพลของกองทัพบก ที่มีการบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ว่ามีสาระสำคัญอย่างไร ระบุว่า
การปกครองของทหาร ผู้บังคับบัญชามีอำนาจที่จะพิจารณาลงทัณฑ์หรือลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำความผิดได้ เพื่อกำกับดูแลหน่วยทหารในบังคับบัญชาให้มีระเบียบวินัย ตามธรรมเนียมทหารที่ดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติภารกิจทางทหาร ที่มักจะเกี่ยวพันกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ ให้บรรลุความสำเร็จ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
อย่างไรก็ตาม อำนาจของผู้บังคับบัญชาในการลงทัณฑ์หรือลงโทษ ต้องมีการพิจารณาใช้อย่างมีจริยธรรม และเหมาะสม ภายใต้กรอบของกฎหมาย รวมถึงระเบียบหรือคำสั่งต่างๆ ที่หน่วยงานได้กำหนดไว้เช่นกัน มิเช่นนั้นก็อาจจะเกิดปัญหาภายหลังได้ เช่น การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ จนเป็นข้อร้องเรียนได้
ซึ่งกองทัพบก ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงออกมาตรการควบคุมและป้องกันการลงทัณฑ์หรือลงโทษที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและแบบธรรมเนียมทหาร ตามคำสั่งกองทัพบกที่ 499/2567 ลง 26 ธ.ค.67 เพื่อให้การลงทัณฑ์หรือลงโทษเป็นไปตามข้อกฎหมาย และมีความเหมาะสมสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งกองทัพบก ตลอดจนป้องกันการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 โดยมาตรการดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญ ดังนี้
ทำความเข้าใจคำว่า "ลงทัณฑ์" และ "ลงโทษ" มีความหมายที่แตกต่างกัน ดังนี้
"ลงทัณฑ์" หมายถึง การลงทัณฑ์กำลังพลที่กระทำผิดวินัยตามกฎหมายและหลักเกณฑ์หรือแบบธรรมเนียมที่กำหนด โดยใช้การลงทัณฑ์ 5 สถาน ได้แก่ ภาคทัณฑ์, ทัณฑกรรม, กัก, ขัง และจำขัง
"ลงโทษ" หมายถึง การที่ผู้บังคับบัญชาลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อกวดขันและตักเตือนให้รักษาวินัย แต่ไม่ถึงขนาดที่ต้องใช้การ “ลงทัณฑ์” ทางวินัย และหมายรวมถึง การลงโทษในระหว่างการฝึก และการปฏิบัติภารกิจทางทหารต่างๆ
ซึ่งการลงโทษนั้น กองทัพบกได้กำหนด “ท่าการลงโทษ” ให้ยึดถือปฏิบัติรวม 13 ท่า ได้แก่
- 1. ยกเข่าบิดลำตัว (Knee Raise Body Twist)
- 2. นอนปั่นจักรยานยกแขน (Arm Leg Bicycle)
- 3. ตั้งศอก (Plank)
- 4. ลุกนั่งบิดลำตัว (Russian Twist)
- 5. ก้าวย่อ (Lunge)
- 6. นอนตะแคงตั้งศอกยกขา (Side Plank Leg Raise)
- 7. กระโดดตบ (Jumping Jack)
- 8. ดันพื้น (Push Up)
- 9. ดันพื้นกางแขน (Push Up Hand Release)
- 10. แมงมุมแตะสลับ (Spider Man)
- 11. ปีนเขา (Mountain Climber)
- 12. วิ่งยกเข่าสูง (High Knee Running In Place)
- 13. วิ่ง
ซึ่งแต่ละท่าจะมีท่าอนุโลมสำหรับบุคคลที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีข้อจำกัดทางร่างกาย และมีการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ให้สอดคล้องในแต่ละกลุ่มอายุ รวมถึงโรคที่ห้ามปฏิบัติในท่านั้น ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ในการลงโทษ ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุม ดังนี้
- ผู้สั่งลงโทษ ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ผู้ควบคุมการปฏิบัติงานหรือการฝึก ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวร หรือผู้ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายเท่านั้น
- แต่ละท่าลงโทษได้เพียงครั้งเดียวต่อครั้ง หากลงโทษ “วิ่ง” ให้กำหนด “วิ่ง” เป็นการลงโทษสุดท้าย
- ลงโทษได้มากกว่า 1 ท่า เมื่อปฏิบัติแต่ละท่าจนครบแล้วต้องให้ผู้ถูกลงโทษพัก 3 – 5 นาที (ตามความเบา – หนัก) จึงเริ่มท่าถัดไป โดยระยะเวลาลงโทษสูงสุดรวมพักต้องไม่เกิน 30 นาที
- สถานที่ลงโทษต้องเปิดเผย หรือเป็นบริเวณที่มีกล้องวงจรปิด และต้องไม่เป็นสถานที่ลับสายตาหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยผู้สั่งลงโทษต้องอยู่ในสถานที่นั้นตลอดเวลาที่ลงโทษ
- ห้ามมิให้สั่งลงโทษแก่ผู้ที่เจ็บป่วยเด็ดขาด
จะเห็นได้ว่ากองทัพบกมีการกำหนดรายละเอียดอย่างชัดเจนทั้งในการลงทัณฑ์ และการลงโทษ แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีข้อกำหนดที่สำคัญนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ได้แก่
- ผู้บังคับบัญชาต้องกำหนดมาตรการรองรับ และกำกับดูแลหน่วยในสังกัด ให้เป็นไปตามมาตรการนี้ รวมถึงเผยแพร่ทำความเข้าใจ ให้กำลังพลได้รับทราบอย่างทั่วถึง หากพบว่ามีการละเลยการกำกับดูแลถือว่ามีความผิดทางวินัย
- หากผู้บังคับบัญชาหรือกำลังพลพบเห็นการกระทำที่ผิดในการลงโทษหรือลงทัณฑ์ ให้รายงานด่วนต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรง พร้อมแจ้งผู้เกี่ยวข้องเข้าระงับเหตุโดยด่วน หากละเลยให้ถือว่าผิดวินัย หรืออาจเข้าข่ายเป็นตัวการร่วมหรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดอีกด้วย โดยหลังสถานการณ์คลี่คลายให้หน่วยที่เกิดเหตุได้รายงานตามลำดับชั้นจนถึง ผบ.ทบ. ทั้งนี้ที่สำคัญผู้บังคับบัญชาต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ที่รายงานการกระทำผิดนั้นและพิจารณาให้ได้รับบำเหน็จความชอบ
- ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของหน่วยเกิดเหตุ ให้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำผิด ให้ดำเนินการทางวินัย พร้อมลงทัณฑ์ตามฐานความผิด พร้อมกันนี้ ให้มีการดำเนินการตามมาตรการทางการปกครองควบคู่ไปด้วย เช่น การงดบำเหน็จ หรือการปรับย้าย เป็นต้น ทั้งนี้หากมีการฝ่าฝืนมาตรการจนเกิดผลเสียหายอย่างรุนแรง ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินคดีความตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจต่อผู้เสียหาย และครอบครัว พร้อมทั้งให้การดูแล รักษาพยาบาล ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจของผู้เสียหาย รวมทั้งพิจารณาจ่ายเงินชดเชย ค่าทำขวัญ และให้การช่วยเหลืออื่นๆ อย่างเหมาะสม
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : (คลิก)