
เปิด 8 วิธีเช็ก ทองจริง หรือ ปลอม มือใหม่ซื้อทองจดไว้ ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
ทองจริง หรือทองปลอม เช็กง่ายๆ ด้วย 8 วิธี พร้อมข้อเปรียบเทียบ ทองจริง ทองปลอม ต่างกันตรงไหน มองด้วยตา แยกออกได้หรือไม่
ซื้อทองออนไลน์ ในยุคที่โลกออนไลน์ใกล้เราแค่เพียงนิ้วมือ มิจฉาชีพก็ประชิดตัวเราได้ราวกับเดินเข้ามาเคาะประตูบ้าน สามารถเข้ามาหลอกลวงเราได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะโทรเข้ามาแอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ หรือแม้แต่การ แอบอ้างขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเรียกง่ายๆ ว่า "ของปลอม" อย่างแยบยล จนหลายคนหลงเชื่อและโอนเงินออกกระเป๋าไปอย่างไม่ทันตั้งตัว เช่นเดียวกับกรณีที่โลกออนไลน์กำลังให้ความสนใจในเรื่องของการ "ซื้อทองออนไลน์"
ดังนั้น เพื่อใหม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่จะเข้ามาแอบอ้างตัวตน เพื่อขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอย่าง "ทอง" คมชัดลึกออนไลน์ จึงได้นำวิธีสังเกตทองง่ายๆ ว่าเป็น "ทองจริง" หรือ "ทองปลอม" ให้กับคนที่ไม่มีประสบการณ์ในการซื้อทอง เพื่อพิจารณาว่าเป็นทอง "แท้" หรือ "ปลอม" ผ่านการสังเกตทองคำแท้ เบื้องต้นด้วยตัวเอง จาก สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที 8 วิธีดังนี้
1. ดูขนาดของทอง
วิธีนี้ต้องใช้การสังเกตให้ดี ต้องรู้ว่าทองคำหนัก 1 บาท หรือ 2 บาทนั้น ควรมีขนาดแค่ไหน น้ำหนักกับขนาดต้องสอดคล้องกัน ถ้าบอกหนัก 1 บาทแต่มีขนาดใหญ่มากก็ให้ระวังไว้เลยว่าอาจเป็นทองปลอมได้
2. วัดจากน้ำหนักของทองคำ
วิธีนี้ถ้าไม่มีเครื่องชั่งก็ต้องมีทองคำแท้อีกชิ้นหนึ่งไว้เทียบกัน เพราะทองคำแท้ไม่ว่าจะเส้นใหญ่หรือเส้นเล็ก ถ้าน้ำหนัก 1 บาท ก็จะมีน้ำหนักเท่ากันเสมอ
3. ดูที่ตราหรือโลโกร้าน
ใช้แว่นขยายส่องดูตามข้อหรือห่วงของทอง ทองแท้ทั่วไปจะมีการตีตราร้านไว้อย่างชัดเจนเพื่อเป็นการการันตี บอกแหล่งที่มา หรือมีการตอกตัวเลขบอกความบริสุทธิ์ของทองไว้ด้วย เช่น 14k 18k 22k 24k ถ้าตรานั้นเบลอ ไม่ชัดเจน ก็ให้ระวังไว้ก่อนว่าอาจเป็นของปลอม ให้หลีกเลี่ยงการซื้อทองที่มีลักษณะนี้
4. หยดด้วยน้ำกรดไนตริก
ทองคำแท้เมื่อหยดด้วยกรดไนตริก จะไม่เกิดปฏิกิริยา ไม่เปลี่ยนสี หรือหลอมละลาย แต่ถ้าทองคำนั้นมีโลหะอื่นผสม เช่น ทองแดง ก็จะละลายไปอย่างเห็นได้ชัดเจน วิธีนี้อาจทำได้ยาก หรือต้องทำที่ร้านทอง เพราะกรดไนตริก หาซื้อไม่ได้ตามร้านค้าทั่วไป
5. ทดสอบโดยใช้แม่เหล็ก
ถ้าใช้แม่เหล็กแล้วดูดติดทันที ทองเส้นนั้นเป็นทองปลอมแน่นอนเพราะใส่เหล็กในปริมาณมาก แต่ถ้าเป็นทองคำแท้แม่เหล็กจะดูดไม่ติด
6. ดูจากรอยต่อหรือจุดที่ทองเสียดสีกัน
วิธีนี้สามารถใช้แว่นขยายดูตามรอยต่อหรือจุดเสียดสี ถ้าเป็น "ทองคำแท้" จะไม่มีรอยถลอก ลอก หรือเปลี่ยนสี แต่ถ้าเป็นทองคำชุบหรือทองปลอม ตามรอยต่อเหล่านี้จะเกิดการลอกหรือถลอกได้
7. ทดสอบโดยการกัดด้วยฟัน
ทองคำแท้จะมีความแข็งไม่มาก ถ้ากัดก็จะเกิดรอยบุ๋มเห็นได้ชัด แต่ถ้าเป็นทองปลอม ทองผสมเหล็กหรือทองแดง หรือทองชุบ จะแข็งมาก กัดแล้วไม่เกิดรอยบุ๋ม
8. โยนลงบนกระจก
ทองคำเป็นโลหะที่มีเนื้อนุ่ม ไม่แข็งเหมือนเหล็กหรือทองแดง ถ้าโยนไปกระทบกับกระจกจะได้ยินเสียงกระทบกันแบบนุ่มๆ ไม่มีเสียงแหลม ไม่ดัง แต่ถ้าเป็นทองปลอมเสียงจะดัง "แก๊งๆ" อย่างชัดเจน
ตรวจสอบทองคำแท้ เชิงลึก
ในกรณีที่เป็นทองปลอม แบบ "ทองยัดไส้" หรือ "ทองคำแท่งปลอม" ที่มีการนำทองคำมาสอดไส้โลหะอื่นๆ เช่น ทองแดง หรือตะกั่ว
หากต้องการตรวจสอบว่าทองคำว่าแท้หรือปลอมในเชิงลึก จะต้องนำไปตรวจสอบหาค่าความบริสุทธิ์ของโลหะ โดยต้องทำในห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ หรือจะมาตรวจสอบที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจนต่อไป
ทองแท้
- มีความนิ่ม เมื่อใช้แรงนิ้วกดเบาๆ จะบุบตาม
- ไม่ดูดแม่เหล็ก เพราะมีทองเป็นส่วนประกอบเกือบ 100%
- ไม่มีปฏิกิริยากับน้ำกรดไนตริก
- ทดสอบด้วยการตะไบ ทองจริงสีข้างในต้องเป็นสีทองด้วย
- น้ำหนักต้องได้มาตรฐาน เช่น ทอง 1 บาทต้องหนัก 15.16 กรัม (หรือใกล้เคียงที่สุด)
- น้ำหนักทองกับขนาดและลวดลายต้องสอดคล้องกัน
ทองปลอม
- มีความแข็ง ใช้แรงกดเท่าไรก็ไม่บุบ
- ดูดแม่เหล็ก เพราะมีเหล็กเป็นส่วนผสมปริมาณมาก
- เมื่อโดนน้ำกรดไนตริก จะถูกกรัดกร่อน
- ถ้าตะไบแล้ว สีข้างในไม่ใช่สีทอง แสดงว่าเป็นทองปลอม
- น้ำหนักไม่ได้มาตรฐาน เช่น ทอง 1 บาท แต่กลับมีน้ำหนัก 20 กรัม หรือ 12 กรัม
- น้ำหนักทองไม่สอดคล้องกับขนาดและลวดลาย เช่น ทอง 2 สลึง แต่มีขนาดใหญ่เท่าทอง 1 บาท