เปิดคลิปนาทีระทึก น้ำโขงไหลเชี่ยวกรากซัดกระสอบทรายพัง
เปิดคลิปนาทีระทึก น้ำโขงไหลเชี่ยวกรากซัดกระสอบทราย แนวกั้นพัง เจ้าหน้าที่ต้องใช้กำแพงคนกั้นไว้ก่อนนานเกือบชั่วโมง
14 ก.ย. 2567 ช่วงเวลาประมาณ 18.30 น. ได้เกิดเหตุระทึกขวัญ ในสถานการณ์น้ำโขงล้นตลิ่งที่บริเวณพระธาตุหล้าหนอง ชุมชนวัดธาตุ เขตเทศบาลเมืองหนองคาย หลังจากที่น้ำโขงเริ่มเพิ่มระดับสูงขึ้น ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองหนองคาย ได้ช่วยกันวางกระสอบทรายเป็นแนวกั้นป้องกันไม่ให้น้ำโขงไหลเข้ามาในพื้นที่
ซึ่งสามารถกันน้ำได้ในระดับหนึ่งมาตั้งแต่วานนี้ (13 ก.ย. 2567) แต่ปรากฏว่าน้ำโขงไหลแรงเชี่ยวกราก ได้ซัดเอากระสอบทรายพังลงเป็นช่องกว้างประมาณ 2 เมตร น้ำโขงทะลักเข้าไปในซอยวัดธาตุ1, วัดธาตุ2 และ วัดธาตุ 3 ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทุกฝ่าย ต่างพากันแก้ไขสถานการณ์เบื้องต้น ด้วยการเอาตัวเองเป็นแนวกำแพงไว้ก่อน แล้วทยอยเก็บกู้กระสอบทรายมาวางกั้นใหม่จนแล้วเสร็จในจุดหนึ่ง
แต่ก็กลับเกิดเหตุแบบเดียวกันขึ้นอีกเป็นจุดที่สอง ในระยะไม่ห่างกันมากนัก ชาวหนองคายเร่งมือซ่อมแนวกำแพงกระสอบทราย โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงสำเร็จเรียบร้อยสามารถเป็นแนวกั้นน้ำชั่วคราวไว้ได้ และต้องพากันหมั่นตรวจสอบกระสอบทรายที่วางเป็นแนวกำแพงตลอดแนวเกือบ 2 กิโลเมตร ในหลายชุมชนแนวน้ำโขง อย่างไรก็ตามชาวบ้านในละแวกริมโขงต่างอพยพออกจากพื้นที่ไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว เนื่องจากเกรงว่าในคืนนี้หากฝนตกลงมาอีก ประกอบกับน้ำจากเขื่อนในลาวที่มีการปล่อยออกมาจะส่งผลให้ระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นอีก จนไม่สามารถออกจากพื้นที่น้ำท่วมได้
จากรายงานระบุว่า กระสอบทรายที่ทำเป็นบังเกอร์กั้นน้ำโขง ได้แตกถึง 4 ซึ่ง จุดนี้แตกอย่างรวดเร็วและมีขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ได้เร่งช่วยกันซ่อม โดยใช้ทั้งคนและแผงเหล็กที่ใช้กั้นถนนมากั้นกระแสก่อนเร่งวางกระสอบทรายลงอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาพักใหญ่ก็สามารถควบคุมไว้ได้ แต่น้ำก็ยังคงไหลผ่านช่องรอยต่อของกระสอบทราย ต้องใช้คนเข้ามาหนุนกระสอบทรายที่ทำเป็นบังเกอร์ไว้เพื่อความแข็งแรง
และจะได้มีการนำแบริเออร์และกระสอบทรายอีกกว่า 200 กระสอบมาเสริมเพิ่มความแข็งแรง อีกทั้งจะมีการเปิดช่องให้น้ำไหลได้เป็นการลดแรงดัน ปล่อยให้ไหลลงท่อระบายน้ำแล้วใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่สูบกลับลงแม่น้ำโขง สำหรับกระสอบทรายที่ทำเป็นบังเกอร์ในจุดชุมชนวัดธาตุแห่งนี้ ยาวประมาณ 200 เมตร โดยเริ่มจากการวางครั้งแรกความสูงเพียง 2 – 3 กระสอบ ต่อมาเมื่อน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นก็ได้มีการวางเสริมทับกันขึ้นไปเรื่อย ๆ จึงทำให้ไม่แข็งแรงไม่สามารถทนแรงดันของน้ำโขงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้