ข่าว

"นายกฯ" เตรียมบินลงเชียงราย แจ้ง จนท. ไม่ต้องมาต้อนรับ ไม่อยากเพิ่มภาระ

"นายกฯ" เตรียมบินลงเชียงราย แจ้ง จนท. ไม่ต้องมาต้อนรับ ไม่อยากเพิ่มภาระ

12 ก.ย. 2567

นายกฯ พร้อมรัฐมนตรีบางส่วน ลงพื้นที่น้ำท่วมเชียงรายพรุ่งนี้ 13 ก.ย. สั่งการเร่งด่วน 9 ข้อ ยืนยันรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ ด้าน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยอมรับ หนักสุดรอบ 80 ปี สาเหตุฝนตกหนักต่อเนื่อง รับน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน

12 ก.ย. 2567 ที่อาคารรัฐสภา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเชียงรายและเชียงใหม่ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังหัวหน้าส่วนราชการที่อยู่ในพื้นที่ อาทิ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย 
 

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า วันนี้ได้รับรายงานตั้งแต่เช้า อัพเดตสถานการณ์กับทางรัฐมนตรีตลอด สถานการณ์น้ำท่วมเชียงรายและเชียงใหม่ ตอนนี้ค่อนข้างหนักพอสมควร จึงอยากให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องรายงานให้ทราบ ตอนนี้น้ำเข้ามาถึงอำเภอเมืองแล้ว และเข้ามาตรงสนามบินด้วย แต่รันเวย์ยังใช้ได้ จึงอยากสื่อสารให้ทราบว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมารอการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อที่จะสั่งการได้  

ประชุมสถานการณ์น้ำท่วม

 

ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกท่านได้ดำเนินการล่วงหน้า เพื่อดูแลประชาชนไปก่อนหน้านี้แล้ว แน่นอนปัญหานี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อที่จะรักษาและทำให้ประชาชนออกจากปัญหาและอุปสรรคเร็วที่สุด ทั้งนี้ขออนุญาตส่งความห่วงใยไปให้พี่น้องภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายในขณะนี้ และแน่นอนเราจะต้องทำในเรื่องระบบการเตือนภัยและการเยียวยารักษาต่อไป อยากให้ทางราชการเล่ารายละเอียดให้ฟัง เพื่อที่จะบอกแนวทางการดำเนินการต่อไปจะทำอย่างไร 


ช่วงท้ายนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเร่งด่วน ดังนี้

1. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเรื่องการอพยพประชาชน และสัตว์เลี้ยงให้มีความปลอดภัย ตลอดจนสนับสนุนด้านอาหาร  และน้ำดื่ม รวมถึงอาหารสัตว์ให้เพียงพอ


2. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ที่ศูนย์อพยพ และยารักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง โดยให้แบ่งมอบพื้นที่ กำหนดภารกิจ และหน่วยปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่น การดูแลด้านการดำรงชีพ การจัดตั้งศูนย์พักพิง การประกอบอาหาร ถุงยังชีพ การแพทย์ และการสาธารณสุข โดยให้มีการใช้ทรัพยากร และอุปกรณ์เครื่องมือของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด


3. ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการดูแลความปลอดภัยของทรัพย์สิน และบ้านเรือนของราษฎร


4. เมื่อน้ำลด ให้ทุกส่วนราชการตรวจสอบ ความเสียหายระบบสาธารณูปโภค ถนน สะพาน ระบบไฟฟ้า และประปา เพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟังปัญหาความต้องการ และดำเนินการปรับปรุงให้เข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยทหารพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประชาชน ร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือน ถนน และพื้นที่สาธารณะที่ถูกน้ำท่วม

 

นายภูมิธรรม เวชยชัย

5. มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบ และเสริมความมั่นคงแข็งแรงเชิงโครงสร้างให้กับคันกั้นน้ำ และระบบระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ และเร่งรัดปรับปรุงให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว ในเรื่องของงบกลาง รัฐบาลกำหนดการที่จะมีส่วนช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่แค่ตอนเยียวยาแต่ช่วยตอนนี้ด้วย และอยากให้ทุกฝ่ายรักษาชีวิตประชาชนเป็นหลักโดยด่วน และอพยพออกมาจากพื้นที่น้ำท่วมให้เร็วที่สุด นี่คือเหตุจำเป็นและเร่งด่วน


6. ขอให้กรมทรัพยากรธรณี เร่งรัดการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยสูงโดยด่วน เพื่อให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า และเตรียมการได้ทันเวลา ซึ่งแม้ว่าระบบเตือนภัยจะมีแล้ว แต่ประชาชนจำนวนหนึ่งยังไม่อยากออกมาจากบ้าน เพราะเสียดายทรัพย์สินซึ่ง เราก็เข้าใจว่าการจะทิ้งทรัพย์สินเป็นเรื่องที่เสียดาย แม้ระบบเตือนภัยได้ทำการเตือนแล้ว ซึ่งตนเองอยากบอกพี่น้องประชาชนว่า เราจะขอรับดูเรื่องการเยียวยาและดูแลประชาชน ดังนั้นขอให้ทุกท่านรักษาชีวิตตัวเองก่อน และ ออกมาจากพื้นทีีประสบภัยโดยเร็วที่สุด ส่วนเรื่องอื่นรัฐบาลจะช่วยได้ในรูปแบบไหนบ้าง จากนี้จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะช่วยดูแลอย่างดีที่สุด 


7. เนื่องจากประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงฤดูฝน ขอให้ส่วนราชการที่
ทำหน้าที่คาดการณ์สภาพอากาศ รวมทั้ง GISTDA ติดตามปริมาณฝน และระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนในชุมชนและหมู่บ้าน ทราบถึงแนวทาง การปฏิบัติตนอย่างปลอดภัย และช่องทางในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการอพยพ


8. ให้พิจารณาการใช้เงินจากกองทุน และการตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย (หากมีผู้ประสงค์จะร่วมบริจาค) โดยมอบหมายสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป


9. ขอมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาวต่อไป

 

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร

 

ช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) ตนและคณะรัฐมนตรีบางส่วน ได้วางแผนว่าจะไปลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อไปดูสถานการณ์จริง และสั่งการได้อย่างเร่งด่วนกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้ทุกภาคส่วนดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างปกติ ไม่ต้องมาต้อนรับ เพราะไม่อยากให้กระทบถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่รอความช่วยเหลือ ตั้งใจที่จะไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้อยากเป็นเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

 

“สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานต่อท่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นรายวัน หรือเร็วกว่านั้นหากมีสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อที่จะได้ประเมินสถานการณ์ได้ทันเวลา และเตรียมรับมือกับปัญหา ตลอดจนหามาตรการเยียวยาประชาชนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งดิฉันจะเข้ามาติดตามงานด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด” นายกรัฐมตรี กล่าวจบในที่สุด

 

ด้านนายสุทธิพงษ์ รายงานสถานการณ์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แจ้ง สถานการณ์น้ำท่วมแม่สายหนักหน่วงที่สุดในรอบ 80 ปีนับตั้งแต่เดือน ส.ค.67 จนถึงปัจจุบัน แม่สายมีน้ำท่วมมา 7 ครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8

 

สาเหตุที่น้ำท่วมหนัก ในรอบ 80 ปี ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ฝนตกหนักมาเป็นระยะ ถึง 7 ครั้ง ทำให้ลำน้ำแม่สาย และพื้นแผ่นดินฝั่งประเทศไทยและฝั่งเพื่อนบ้านชุ่มน้ำ อิ่มน้ำ บวกกับพายุลูกล่าสุด ทำให้กระแสน้ำมีจำนวนมหาศาล ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ในวงกว้างของตลาดแม่สาย เช้านี้น้ำลดลงไปในระดับที่อยู่ในภาวะที่เริ่มเข้าสู่สีเขียว และมวลน้ำจะทยอยไปท่วมในจุดที่เป็นสีเหลือง โดยวันที่ 12 -13 ก.ย. จะเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูดูแลพื้นที่ที่เสียหาย ส่วนที่อำเภอเมืองเชียงรายเป็นอีกลำดับ อีกสายหนึ่ง ซึ่งต้นน้ำมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งของการประชุม พล.อ.ทรงวิทย์ ได้ลุกขึ้นเดินไปรายงานสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายกับนายกฯ หลังจากลงพื้นที่ไปด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 11 ก.ย. โดยนายกฯได้ลุกขึ้นจากเก้าอี้และเดินมายืนพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว