ข่าว

ชาวบ้าน เผาผี 3 นักการเมืองหนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายป่าดงสักนับหมื่นไร่

07 ก.ย. 2567

ชาวสะเอียบ ประท้วงคัดค้านสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เผาผีสาปแช่ง 3 นักการเมือง สมศํกดิ์-ภูมิธรรม-ปลอดประสพ ต้องทำลายป่าสักทองสัก 40,000-60,000 ไร่

7 ก.ย. ชาวสะเอียบ 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ดอนแก้ว ดอนชัย แม่เต้น และดอนชัยสักทอง เกือบจำนวน 2,000 คน ชุมนุมประท้วงคัดค้านสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น มีการเดินถือป้ายไปตามถนนสายเชียงม่วน -สะเอียบ ระยะทาง 1 กม. ไปสิ้นสุดที่บริเวณหอแดงหอผีประจำหมู่บ้าน 


แกนนำร่วมขึ้นเวทีปราศรัย ระบุถึงเหตุผลปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่เกิดจากการละเลยไม่แก้ปัญหาอย่างจริงใจ ปล่อยยาวนานกว่า 30 ปี มีบทสรุปแก้ปัญหาการจัดการน้ำอยู่แล้ว แต่รัฐบาลไม่ดำเนินการ 

นายณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายก อบต.สะเอียบ กล่าวว่า โครงการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมระหว่างคนในลุ่มน้ำ ชาวสะเอียบและกรมชลประทานพัฒนาโครงการแก้ปัญหาน้ำในลุ่มน้ำยมเรียกว่า โครงการสะเอียบโมเดล พร้อมทั้ง ครม.มีมติชะลอสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไปแล้ว แต่นักการเมือง 3 คนยังมาปลุกผีโครงการแก่งเสือเต้น ซึ่งมีนัยหลายประการโดยเฉพาะการใช้งบประมาณของรัฐบาลที่ต้องการกู้เงินเพิ่ม และพวกต้องการผลประโยชน์ 

 

กิจกรรมพิธีฌาปนกิจศพ 3 นักการเมือง

 

แม้นายชุม สะเอียบคง อดีตกำนันต้านเขื่อน จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่สะเอียบมีตัวตายตัวแทน เรามีคนรุ่นต่างๆ ที่จะขึ้นมาแทน เพื่อยืนหยัดต่อสู้ หลังจากเวทีปราศรัยจบลง กลุ่มตะกอนยม เยาวชนรุ่นใหม่ได้อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนในการปกป้องพื้นที่ป่าสักทอง

จากนั้นนายณัฐปคัลภ์ นำกลุ่มผู้ชุมนุมอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนของชาวสะเอียบว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ทั้ง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก ที่ผ่านมา มีนักการเมืองหัวโบราณฉวยโอกาสปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งที่ผลการศึกษาของ FAO ชี้ให้เห็นว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำยมได้เพียง 8 เปอร์เซ็นเท่านั้น เขื่อนแก่งเสือเต้น กั้นลำน้ำยมได้ 11 ลำน้ำสาขา ขณะที่อีก 66 ลำน้ำสาขาที่อยู่ใต้จุดสร้างเขื่อน เขื่อนก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ 

 

โดยเขื่อนแก่งเสือเต้นต้องทำลายป่าสักทอง 40,000-60,000 ไร่ อันจะก่อให้เกิดน้ำแล้ง น้ำท่วมตามมาในอนาคต อีกทั้งกระทบกับชาวบ้านชุมชนสะเอียบทั้ง 4 หมู่บ้านนับพันครัวเรือน เขื่อนแก่งเสือเต้นยังตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแผ่นดินไหว หากเขื่อนแตกจะสร้างความหายนะตายกันทั้งเมืองแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ฯลฯ เปรียบเสมือนเอาระเบิดเวลามาวางไว้ให้ลูกหลานต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย 

 

"นักการเมืองหัวโบราณอย่าง ปลอดประสพ สมศักดิ์ ภูมิธรรม ยังคงปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นเหมือน 35 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งมีมากมายหลายแนวทาง เราจึงขอประณามนักการเมืองหัวโบราณเหล่านี้ และขอให้ยุติบทบาทในการปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นได้แล้ว หากคิดได้เพียงแค่นี้ก็ไม่ควรมาบริหารประเทศให้ล้าหลังอีกต่อไป"

 

กิจกรรมคัดค้านสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

 

นายณัฐปคัลภ์ ระบุว่า การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต ต้องเคารพธรรมชาติ ไม่ทำลายธรรมชาติ อันจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่หนักหน่วงกว่าเดิม หมดยุคสมัยของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว ให้คนรุ่นใหม่ ใช้ความคิดใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการแก้ไขปัญหาเถิด อย่าจมปลักอยู่กับความคิดโบราณ โลกไปถึงขั้นรื้อเขื่อนแล้ว แต่นักการเมืองโบราณยังคงหากินอยู่กับการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆอยู่ พอทีเถอะ คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน บ้านดอนชัย บ้านแม่เต้น บ้านดอนแก้ว บ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอยืนหยัดในการต่อสู้คัดค้านเขื่อนจนถึงที่สุด ยกเลิกเขื่อนแก่งเสือเต้น 

 

โดยมีมติ ครม. รองรับ หยุดเขื่อนยมบน หยุดเขื่อนยมล่าง ใช้แนวทางสะเอียบโมเดลในการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ด้วยจิตคารวะ คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ 7ก.ย. 2567 ณ วัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ 

 

จากนั้นชาวตะเกียบได้ร่วมกันปฏิญาณตนว่า จะร่วมรักษาผืนป่าดงสักงามกว่า 2 หมื่นไร่ และปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยตลอดไป 

 

เมื่อคำปฏิญาณจบลงกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกอบพิธีฌาปนกิจศพนักการเมืองทั้ง 3 คน ได้แก่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายภูมิธรรม เวชยชัย กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำปัสสาวะของแม่หม้ายเข้ารถที่บริเวณรูปภาพของนักการเมืองทั้ง 3 พร้อมทั้งดอกไม้จันทน์ พริกแห้ง และเกลือใส่ลงไปในโลงศพของนักการเมืองเหล่านั้น จากนั้นได้จุดไฟเผาท่ามกลางเสียงสาปแช่งให้มีอันเป็นไปถ้ายังไม่มีเหตุผลในการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ถ้ายังไม่หยุดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ขอให้มีอันเป็นไปภายใน 3 วัน 7 วัน หลังจากการเผาศพ 3 นักการเมือง สาบานได้พากันแยกย้ายยุติการชุมนุมเมื่อเวลา 11.00 น. 

 

อย่างไรก็ตามโครงการสร้างเขื่อนที่มีอยู่ พบว่าไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ตามวัตถุประสงค์ เมื่อมีน้ำมามากก็ต้องปล่อยน้ำออกเช่น เขื่อนแม่มอกปล่อยน้ำเข้าท่วมชุมชน สังคมเริ่มพิสูจน์และตรวจสอบมากขึ้นในโครงการสร้างเขื่อน เมื่อน้ำเต็มก็ปล่อยลงท่วมพื้นที่ข้างล่าง ถ้าไม่ปล่อยก็เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเขื่อนแตก เรื่องนี้คนสะเอียบมาช่วยอธิบาย พยายามที่จะบอกว่า ยังรัก ยังหวงแหน พื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยและพื้นที่ป่าสักทองผืนใหญ่ของประเทศ นี่เป็นสิ่งที่ชุมชนท้องถิ่นได้แสดงออกต่อนักการเมืองในวันนี้ 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 11 ก.ย. กลุ่มคัดค้านสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นและชาวสะเอียบรวม ทั้งสมัชชาคนจน จะเดินทางเข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นและเร่งผลักดันโครงการจัดการน้ำชุมชนที่เรียกว่าละเอียดโมเดล