เปิดรายชื่อ งู 14 ชนิด ติด พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ห้ามตี ห้ามล่า ห้ามขาย ฝ่าฝืนคุก 4 ปี
งูเข้าบ้าน ตีไม่ได้ทุกตัว! เปิดรายชื่อ งู 14 ชนิด ติด พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า ห้ามตี ห้ามล่า ห้ามขาย ฝ่าฝืนคุก 4 ปี เจอในบ้านเรียกเจ้าหน้าที่จับปล่อยเท่านั้น
งูเข้าบ้าน ปัญหาที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน และช่วงที่น้ำท่วม พื้นที่บริเวณบ้านมีความชื้น เหล่างูอสรพิษมักเข้ามาหลบซ่อนตัวอยู่ภายในบ้าน เมื่อคนเข้าไปพบอาจถูกทำร้าย ได้รับอันตราย แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าหากเจอ งูเข้าบ้าน บางชนิด ห้ามตี ห้ามล่า ห้ามฆ่า ห้ามกิน เพราะเป็นสัตว์ติด พ.ร.บ.
สัตว์ป่าคุ้มครอง ประเภท งู ตาม กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 จำนวน 14 ชนิด ดังนี้
- งูจงอาง (Ophiophagus hannah) มีพิษร้ายแรง
- งูสิงธรรมดา หรือ งูสิงตาโต (Ptyas korros) ไม่มีพิษ
- งูสิงหางลาย (Ptyas mucosa) ไม่มีพิษ
- งูสิงหางดำ (Ptyas carinata) ไม่มีพิษ
- งูเหลือม (Malayopython reticulatus) ไม่มีพิษ
- งูหลาม (Python bivittatus) ไม่มีพิษ
- งูหลามปากเป็ด (Python brongersmai) ไม่มีพิษ
- งูแสงอาทิตย์ (Xenopeltis unicolor) ไม่มีพิษ
- งูทางมะพร้าว (Coelognathus radiatus) ไม่มีพิษ
- งูทางมะพร้าวแดง (Oreocryptophis porphyraceus) ไม่มีพิษ
- งูทางมะพร้าวดำ (Coelognathus flavolineatus) ไม่มีพิษ
- งูทางมะพร้าวเขียว (Gonyosoma coeruleum) ไม่มีพิษ
- งูเขียวกาบหมาก (Gonyosoma oxycephalum) ไม่มีพิษ
- งูกาบหมากหางนิล (Elaphe taeniura) ไม่มีพิษ
โดยงูทั้ง 14 ชนิดนี้ ห้ามล่า ห้ามทำอันตราย ห้ามเลี้ยงดูหรือครอบครอง หรือ กระทำการค้าซึ่งสัตว์ป่าฯ และซากของสัตว์ป่าฯ ดังกล่าว หากฝ่าฝืนจะมีความผิด จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทำไมต้องคุ้มครองสัตว์ป่า
ในอดีตประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ผืนป่าอันกว้างใหญ่ไพศาลยังไม่ถูกรกราน จึงชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ต่อมาเมื่อมีการค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติ สัตว์ป่าจึงเป็นสินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยม ดังหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการส่งนอแรด งาช้าง และของป่าไปขายยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ชีวิตสัตว์ป่าเริ่มถูกรุกรานทำให้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนถึงกับต้องออกกฎหมายมาควบคุม โดยกฎหมายฉบับแรกเกิดขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อบังคับใช้ในการล่าช้างป่า
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราษฎรยังมีการคล้องช้างป่า เพื่อนำช้างมาใช้งานเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาที่ตามมา จึงได้ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า รศ. 119 (พ.ศ. 2443) ขึ้น เพื่อให้ช้างป่าไม่ถูกทอดทิ้งให้อดอยากหรือได้รับการทรมาน
จนถึงยุคมืดของสัตว์ป่า เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาวุธยุทโธปกรณ์อันทันสมัยที่ใช้ในสงคราม ได้ถูกแปรเปลี่ยนมาเป็นอาวุธของผู้ชื่นชอบการล่าสัตว์ป่า ขณะที่การพัฒนาประเทศและการเพิ่มจำนวนประชากร ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้จำนวนของสัตว์ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว จนถึงขั้นที่สัตว์ป่าบางชนิด เช่น สมัน ต้องสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างน่าเสียดาย
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ พระยศของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในขณะนั้น และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ลงนามในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ขึ้น เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2503 เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทในการปกป้องทรัพยากรสัตว์ป่าของประเทศฉบับแรกของไทย ซึ่งภายหลังได้มีการปรับปรุงเป็นพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 และอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ทันต่อสมัยและเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / กรมประชาสัมพันธ์