ข่าว

อาจารย์เจษฎ์ เฉลยให้ ปลาหมอคางดำ แค่อ้วน ไม่ใช่ปลานิลกลายพันธุ์

อาจารย์เจษฎ์ เฉลยให้ ปลาหมอคางดำ แค่อ้วน ไม่ใช่ปลานิลกลายพันธุ์

31 ก.ค. 2567

อาจารย์เจษฎ์ ไขคำตอบ "ปลาหมอคางดำ" กลายพันธุ์เป็น "ปลานิลคางดำ" เผย แค่อ้วน ไม่ใช่ปลานิลที่กลายพันธุ์

31 ก.ค. 2567 "อาจารย์เจษฎ์" หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กกรณีมีการนำเสนอข่าวว่า "ปลาหมอคางดำ" กลายพันธุ์เป็น "ปลานิลคางดำ" ว่า มันคือ "ปลาหมอคางดำที่อ้วน" ไม่ใช่ปลานิลที่กลายพันธุ์

อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า มันไม่ใช่ปลากลายพันธุ์หรือปลาลูกผสมอะไรหรอก เพราะดูตามรูปในคลิปข่าวแล้ว ก็ปลาหมอคางดำนั่นแหละ แค่มันกินจนอ้วนใหญ่ จนคนไม่คุ้นตากัน เพราะคิดว่ามันจะต้องผอมเรียวยาวเท่านั้น

จากข้อมูลของที่แอฟริกา ปลาหมอคางดำนั้น ถ้าเติบโตดี อาหารดี จะยาวเฉลี่ย 8 นิ้ว และสถิติตัวยาวสุด ถึงขนาด 11 นิ้วเลย (และเป็นปลาอาหารชนิดหนึ่ง ของคนในท้องถิ่น) การจำแนกความแตกต่างระหว่าง "ปลาหมอคางดำ" ออกจาก "ปลาหมอเทศ" และ "ปลานิล" ให้ดูที่ลักษณะจำเพาะของมัน อย่าดูแต่ความอ้วนผอม

โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระ ด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำ เคยโพสต์ข้อมูลไว้ว่า ปลาหมอคางดำ หรือ blackchin tilapia (หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron) จะมีลักษณะเด่นคือ ใต้คาง มักมีแต้มดำ หางเว้าเล็กน้อย และไม่มีลายใดๆ ในขณะที่ ปลาหมอเทศ หรือ  Mozambique tilapia (ชื่อวิทยาศาสตร์ Oreochromis mossambicus) จะมีแก้ม ในตัวผู้มักมีแต้มขาว หางมน มีขอบแดงเสมอ

 

ส่วนปลานิล หรือ Nile tilapia (ชื่อวิทยาศาสตร์ O. niloticus) จะมีแก้มและตัวสีคล้ายๆ กัน หางมน และมีลายเส้นคล้ำขวางเสมอซึ่งถ้าพิจารณาดูจากปลาต้องสงสัยในคลิปข่าวแล้ว ก็จะเห็นว่า ไม่ได้มีลักษณะ "ลายเส้นคล้ำขวาง (ตามลำตัว และหาง)" แบบปลานิล ที่จะให้คิดว่าเป็นปลานิลกลายพันธุ์มาคล้ายปลาหมอคางดำ หรือเกิดลูกผสมกัน

แต่มีรูปร่างหน้าตาสีสันไปทางเดียวกับปลาหมอคางดำตามปกติ เพียงแต่ตัวอ้วนกว่าเท่านั้น ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ปลานิลและปลาหมอเทศนั้น (สกุล Oreochromis) เป็นปลาคนละสกุล กับปลาหมอคางดำ (สกุล Sarotherodon) เลย การที่อยู่ๆ ในเวลาไม่กี่ปีนี้ มันจะกลายพันธุ์มาคล้ายกันได้นั้น ก็เป็นไปไม่ได้เลย 

ส่วนการเกิดลูกผสมข้ามสกุล ระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำนั้น เคยโพสต์อธิบายอย่างละเอียดแล้ว ว่ามีการทดลองทำได้จริงในระดับงานวิจัย แต่ทำลูกผสม F1 สำเร็จได้ในปริมาณที่น้อยมากๆ และไม่มีรายงานว่าเกิดขึ้นในธรรมชาติ