ข่าว

เปิดตำนาน "แฟรี่แลนด์" จากยุครุ่งเรืองห้างภูธร สู่วันที่ต้องขาย 550 ล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนความรุ่งเรือง ห้างแฟรี่แลนด์ จากเบอร์ต้นของห้างภูธรเมืองปากน้ำ สู่วันประกาศขาย 550 ล้าน ตั้งแต่ที่ดิน ตัวตึก ยันเก้าอี้ห้องประชุม

“ไม่มีอะไรไม่เปลี่ยนแปลง” 

ข่าวการประกาศขายห้างอายุกว่า 36 ปีในตัวเมืองนครสวรรค์ถถูกแชร์ไปทั่วโลกออนไลน์ 

 

"แฟรี่แลนด์" ห้างสรรพสินค้าเลื่องชื่อเมืองปากน้ำเริ่มต้นกิจการด้วยการจำหน่ายเครื่องสำอาง และสินค้า เสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับผู้หญิง รวมถึงการเป็นดีลเลอร์ขายเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของจังหวัดนครสวรรค์ภายใต้ชื่อ "เสริมแสง" ก่อนกิจการจะเติบโตขยายตัวจนเกิดเป็น "ห้างฯแฟรี่แลนด์" ในปี 2530 ต่อมาได้มีการลงทุนเพิ่มเติมใส่วน พื้นที่เช่าหรือมอลล์ ในปี 2534 จนกลายเป็น "แฟรี่แลนด์พลาซ่า" บนพื้นที่ขายรวม 30,000 ตร.ม. จนเป็นห้างอันดับต้นๆ ในต่างจังหวัด หรือห้างภูธร

 

ตำนานของห้างแฟรี่แลนด์ถูกเปิดตัวมาด้วยความสง่างาม กระทั่งวันที่ 1 กันยายน 2566 ได้ประกาศปิดกิจการในส่วนของห้างสรรพสินค้า หรือ “Department Store” เปิดให้บริการเพียงพื้นที่โซนพลาซ่า รวมถึงชั้น 1 และชั้น 2 ที่มีสินค้ามือสอง และสินค้าลดล้างสต๊อกวางจำหน่ายแบบลดแลกแจกแถม

 

ล่าสุด 23 พฤษภาคม 2567 ห้างแฟรี่แลนด์ประกาศขายห้างพร้อมตึกแถวติดถนนอย่างเป็นทางการ ด้วยราคา 550 ล้านบาท

 

ห้างแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์

ความรุ่งเรืองของ แฟรี่พลาซ่า ถูกแขวนด้วยฉายาว่าเป็น ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในจังหวัดนครสวรรค์ ก่อตั้งและปลุกปั้นโดย "สันติ คุณาวงศ์" ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัท แฟรี่แลนด์สรรพสินค้า จำกัด โมเดลการเติบโตของห้างนี้ไม่ต่างจากห้างภูธรในจังหวัดอื่นมากนัก

 

พื้นที่เปิดเหลือให้บริการเพียงชั้น 1 และ 2 จากทั้งหมด 5 ชั้น ที่ให้ผู้ค้าเลือกจับจองทำเลในราคาย่อมเยา ดึงดูดร้านสินค้ามือสองให้มาลงทุน รวมถึงสินค้าจากห้างที่ยังขายไม่หมด ก็ถูกนำมาลดล้างสต๊อกด้วยโปรโมชันลดแลกแจกแถมในชั้นนี้

 

การขายสินค้าที่ยังเหลือค้างสต๊อกของห้างแฟรี่แลนด์ ถูกนำมาโพสต์ขายบนเฟซบุ๊กเพจ "แฟรี่แลนด์ Fairy Land" สารพัดอย่างแม้กระทั่งชั้นวางสินค้าภายในห้าง เก้าอี้ห้องประชุม โต๊ะอาหาร ตู้เก็บเอกสาร ตู้แช่ไอศกรีม ก็มีให้เลือกซื้อเช่นกัน 

 

ห้างแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์

ห้างแฟรี่แลนด์ ขาดทุนต่อเนื่อง

 

"แฟรี่แลนด์" ถูกทุบความเป็นเบอร์ต้นลงด้วย "ทุนใหญ่" รวมถึงการขาดทุนอย่างต่อเนื่องก่อนที่ทุนใหญ่จะเข้ามาสยายปีกในเมืองปากน้ำโพแห่งนี้พักใหญ่แล้วข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัทขาดทุนสะสมกว่า 53 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด 4 ปีย้อนหลัง ดังนี้

 

ปี 2565: รายได้ 27 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 15 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้ 28 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 12 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้ 35 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 15 ล้านบาท
ปี 2562: รายได้ 93 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 3.8 ล้านบาท

 

เป็นไปได้ว่า ห้างแฟรี่แลนด์เองก็ได้รับผลกระทบจากช่วงวิกฤติแพร่ระบาดใหญ่ไม่ต่างกับภาคธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากตัวเลขรายได้ก่อนหน้าปี 2562 พบว่า อยู่ในช่วง “หลักร้อยล้านบาท” มาโดยตลอด หากแต่รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายก็พบว่า น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย เพราะแม้จะมีรายได้ราว 200 ล้านบาท ระหว่างปี 2556 ถึง 2558 แต่พบว่า มีกำไรเพียงหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทเท่านั้น จึงเป็นที่มาของการแบกต้นทุนไปต่อไม่ไหว ตัดสินใจปิดส่วนห้างสรรพสินค้าในปี 2566 และประกาศขายห้างอย่างเป็นทางการในวันนี้ (กรุงเทพธุรกิจ)

 

ข้อมูลจาก : brandage

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ