ข่าว

ป้องกันตนจาก 'แคดเมียม' ต้องทำอย่างไร?

05 เม.ย. 2567

กรมการแพทย์ แนะประชาชนในสมุทรสาคร วิธีดูแลป้องกันอันตรายจาก 'แคดเมียม' เข้าสู่ร่างกายได้ทางจมูกและปาก เป็นพิษต่อไตอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรังได้ และยังเป็นสารที่ก่อมะเร็ง

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ได้ขายกากแร่สังกะสีและกากแร่ 'แคดเมียม' ที่ฝังกลบในจังหวัดตาก ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากกากแร่ดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็งนั้น กรมการแพทย์มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ มอบให้สาธารณสุขในพื้นที่ดูแลสุขภาพประชาชน พร้อมให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง สำหรับพิษภัยของ 'แคดเมียม' ต่อร่างกาย แคดเมียมเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทางหลัก คือ 

1. ทางจมูก จากการหายใจเอาควันหรือฝุ่นของแคดเมียมเข้าไป เช่นผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้แคดเมียม และที่สำคัญจากการสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ผู้ที่กำลังสูบบุหรี่

 2.ทางปาก จากการบริโภค อาหารที่มีการปนเปื้อนแคดเมียม เช่น ข้าวที่ปลูกบนดินที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมอยู่ สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน เนื้อหรือนมจากวัวที่กินหญ้าที่เกิดจากดินที่มีการปนเปื้อน

  นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์        

นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เปิดเผยว่า พิษต่ออวัยวะที่สำคัญ คือ พิษต่อไต โดยจะมีการอักเสบที่ไต ทำให้ไตสูญเสียการทำงาน เนื่องจากมีการสะสมของ 'แคดเมียม' อยู่ และอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรังได้ในที่สุด ซึ่งการเกิดความผิดปกติของไตนี้จะเป็นแบบถาวร แม้ไม่ได้รับแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายแล้วไตก็ไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้ พิษต่อกระดูก คือ แคดเมียมจะเข้าไปสะสมอยู่ในกระดูก เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนและอาจมีอาการปวดกระดูกอย่างมากโดยเฉพาะที่กระดูกสะโพก ซึ่งเป็นอาการของโรคอิไต – อิไต โดยคนกลุ่มนี้จะมีอาการกระดูกเปราะ แตกหักง่าย พิษของ 'แคดเมียม'นอกจากจะทำให้เป็นอันตรายต่อไตและกระดูกแล้ว ยังเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ เช่น มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้แคดเมียมยังมีส่วนที่ทำให้อาการของโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เพิ่มขึ้นอีกด้วย

นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

นายแพทย์กิติพงษ์ พนมยงค์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ ด้านเวชกรรม สาขาเวชกรรมทั่วไป หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วการได้รับ 'แคดเมียม' ในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ลุ่มแม่น้ำตาว ไม่ค่อยพบอาการเฉียบพลัน เนื่องจากในแต่ละวันเราได้รับแคดเมียมในปริมาณไม่มาก แต่แคดเมียมจะถูกสะสมอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานาน 20 - 30 ปี อาการจึงเป็นลักษณะแบบเรื้อรัง 

สำหรับการป้องกัน ได้แก่

1.หลีกเลี่ยงอาหารที่ปลูกและผลิตในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมในปริมาณสูง 

2. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีคนกำลังสูบบุหรี่ 

3.หมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เช่น การตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของไต