'ราคายาง' ทะลุ 100 บาท/กก. กยท. เร่งเดินหน้าตามนโยบายรัฐ
'กยท.' หรือ การการยางแห่งประเทศไทย เดินหน้าต่อเนื่องสนองนโยบายรัฐบาล เพิ่ม 'ราคายาง' ทะลุ 100 บาทต่อกิโลกรัม
สถานการณ์ 'ราคายาง' ในปี 2567 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยางแผ่นรมควันชั้น 3 จากราคากิโลกรัมละ 57 บาทเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม 2567 ล่าสุดช่วงกลางเดือนมีนาคม 2567 ราคาพุ่งขึ้นทะลุ 90 บาทต่อกิโลกรัมไปแล้ว หรือถ้าหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ราคายางในปีนี้ มีราคาสูงกว่าเฉลี่ยประมาณ 30 บาทต่อกิโลกนัม และที่สำคัญมีความเป็นไปได้ที่ราคาจะไต่ระดับขึ้นสู่ทะลุเลข 3 หลัก หรือกิโลกรัมละกว่า 100 บาท ตามที่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดหวังไว้ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องแทรกแซงราคาตลาดยางพารา
ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเอาจริงของรัฐบาลในการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนอย่างเข้มงวดจริงจัง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการร่วมทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ ทหาร และตำรวจ ทำให้ไม่มียางนอกระบบหรือยางเถื่อนเข้ามาในประเทศ ผู้ใช้ยางจะต้องซื้อยางในระบบเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนที่จำกัด
ในขณะที่ความต้องการมีเพิ่มขึ้น ทำให้ 'ราคายาง' พุ่งสูงขึ้นตามกลไกการตลาด หากนำมาวิเคราะห์เป็นตัวเงินแล้ว ราคายางที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้นรวมกันมากกว่าวันละ 210 ล้านบาท และถ้าตลอดทั้งปียางมีราคาอยู่ในระดับ 72 บาทขึ้นไป รายได้ของชาวสวนยางทั้งประเทศก็จะเพิ่มขึ้นรวมกันมากกว่าปีละ 76,650 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเฉพาะการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนนั้น ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้ราคายางเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณความต้องการใช้ยางทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมรถยนต์ ยอดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวมากกว่า 10% ทำให้ความต้องการใช้ยางในการผลิตยางล้อรถยนต์เพิ่มขึ้นตามมาด้วย ในขณะที่สต๊อกยางโลกเริ่มลดลง และปริมาณยางใหม่ที่ออกสู่ตลาดมีจำนวนจำกัด นอกจากนี้นโยบายเกี่ยวกับยางของรัฐบาลก็เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้ยางมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน
ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) คนใหม่ ได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย 7 ด้านภายใต้แนวคิด "อยู่ได้ พอใจ ยั่งยืน" ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น การสร้างปัจจัยการผลิตแบรนด์ การยาง เพื่อลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง
โดยจะผลักดันให้ กยท. ทำปุ๋ยและเคมีภัณฑ์เกี่ยวกับการทำสวนยางที่ได้มาตรฐานภายใต้แบรนด์ การยาง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและสร้างรายได้ให้กับองค์กร จำหน่ายในราคาถูก การติดอาวุธทางความรู้และเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้เกษตรกรชาวสวนยาง จะส่งเสริมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพและเหมาะสมสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น การบริหารจัดการโรคใบร่วงอย่างจริงจัง โดยบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ค้นคว้างานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาโรคใบร่วงอย่างเป็นระบบ การออก "โฉนดไม้ยาง" ทุกพื้นที่ทั่วไทย โดย กยท.จะเร่งทำการขึ้นทะเบียนต้นยาง เพื่อออกโฉนดไม้ยาง พร้อมทั้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางให้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการอย่างเป็นเอกภาพ
หรือการสร้างตลาดยางมาตรฐานเดียวกันทุกท้องถิ่นทั่วไทย เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมาย EU Deforestation-free Products Regulation (EUDR) ของสหภาพยุโรป(EU)ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2567 นโยบายในเรื่องนี้ของรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษ โดยสั่งการให้ กยท.กำหนดเป็นนโยบายที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดยางพาราในสภาพยุโรปได้มากขึ้น เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง และทำให้ราคายางเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ
นอกจกากนี้ กฎหมาย EUDR เป็นกฎหมายว่าด้วยสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ 7 ประเภท ยางพาราก็เป็น 1 ใน 7 ประเภทดังกล่าว ที่จะต้องปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมทั้งจะต้องมีการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศผู้ส่งออกยางพาราที่สามารถย้อนกลับได้เพียง 2 ประเทศคือ ประเทศไอวอรีโคสต์ และประเทศไทย สามารถตรวจย้อนกลับได้ประเทศละประมาณ1ล้านตันรวม 2 ล้านตันในขณะที่สหภาพยุโรปมีความต้องยางพาราถึง 4 ล้านตัน ดังนั้นไทยจะต้องใช้โอกาสนี้ในการขยายตลาดยางพารา
ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทยหรือประธานบอร์ดกยท.เผยต่อว่า กยท.ได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มปริมาณยางพาราที่สามารถตรวจย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดจาก 1 ล้านตันให้ได้ 2 ล้านตันก่อนสิ้นปี2567 และให้ได้ 3.5 ล้านตันภายในปี 2568 เพื่อรองรับความต้องการของสหภาพยุโรป และประเทศอื่น ๆ ที่ซื้อยางจากประเทศไทยเพื่อนำเป็นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆส่งไปขายในสหภาพยุโรป ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย EUDR เช่นกัน ทั้งนี้หากทำสำเร็จ จะสามารถจำหน่ายยางพาราของไทยได้ในราคาที่สูงกว่า 'ราคายาง' ทั่วไปไม่ต่ำกว่า 4-5 บาทต่อกิโลกรัม และยังสามารถขาย Carbon Credit ได้อีกด้วย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น "ศูนย์กลางยางพาราและผู้กำหนดราคายางโลก"
" กยท. จะดำเนินการยกระดับสร้างเครือข่ายตลาดประมูลท้องถิ่นของกยท.กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ด้วยการนำระบบการซื้อขายประมูลยางพารารูปแบบ Digital Platform Thai Rubber Trade (TRT) มาใช้ในการประมูลซื้อขาย พร้อมนำเทคโนโลยี Block Chain เข้ามาใช้รองรับการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพารา"
ส่วนการผลิตยางล้อแบรนด์"การยาง"และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆจากยางพารานั้น เป็นอีกนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ โดยขณะนี้ กยท.ได้เจรจากับผู้ผลิตยางรายใหญ่ของไทยและต่างประเทศ ที่จะผลิตล้อยาง สำหรับรถยนต์ประเภทต่างๆ ทั้งรถปิคอัพ รถเพื่อการพาณิชย์ รถส่วนบุคคล และรถเพื่อการเกษตร ภายใต้ยี่ห้อ “การยาง” นอกจากนี้ยังจะกำหนดเป็นนโยบายให้รถยนต์ของหน่วยงานราชการ ใช้ล้อยางดังกล่าวอีกด้วย
นอกจากยางล้อรถยนต์แล้ว กยท. ยังผลิตหมวกยางพารานิรภัย รองเท้าบู๊ทยางพารา และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราอื่นๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอ มอก. โดยจะมีการจัดตั้งโชว์รูมแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์จากยางพารา ของ กยท. ในเร็วๆนี้อีกด้วย ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดใช้วัตถุดิบยางจากเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งตั้งเป้าที่จะดูดซับปริมาณผลผลิตยางออกจากตลาดได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 400,000 ตัน
“รัฐบาลได้มุ่งเน้นที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับยางพาราด้วยการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ นอกจากการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆดังกล่าวแล้ว ยังได้เร่งขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยางพาราในการทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์ของหน่วยภาครัฐที่จะต้องทำถนน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางได้ในปริมาณที่มากแล้ว ถนนยังมีความทนทานมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น สามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี ลดการเกิดฝุ่นอีกด้วย หรือการนำยางไปทำพื้นสนามกีฬา ทำฝาย ทำบล็อกปูถนน เครื่องมือทางการแพทย์ เป็นต้น” ประธาน บอร์ด กยท.กล่าวย้ำ