‘นักข่าวฐานเศรษฐกิจ’ คว้ารางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ จากบทความ ‘ระบบตั๋วร่วม’
‘นักข่าวฐานเศรษฐกิจ’ อนัญญา จั่นมาลี คว้ารางวัลชมเชย ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ จากสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จากงานเขียนเรื่อง ‘ระบบตั๋วร่วม’
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 และมีการประกาศผลงาน “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ให้กับสื่อมวลชนสายเศรษฐกิจที่ส่งผลงานเข้าประกวด
โดยหนึ่งในผู้ได้รางวัลคือ น.ส.อนัญญา จั่นมาลี ผู้สื่อข่าวฐานเศรษฐกิจ สายคมนาคม ได้รับรางวัล ชมเชย “ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ กับงานเขียนบทความเรื่อง “ระบบตั๋วร่วม นโยบายขายฝันสู่ความเหลื่อมล้ำการใช้บริการรถไฟฟ้าสารพัดสี”
น.ส.อนัญญา กล่าวภายหลังการรับรางวัลว่า สำหรับบทความ "ระบบตั๋วร่วม" นโยบายขายฝันสู่ความเหลื่อมล้ำการใช้บริการรถไฟฟ้าสารพัดสี” ถือเป็นรางวัลครั้งที่ 2 ในชีวิต หลังจากได้เข้าร่วมการประกวดลับคมความคิดของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
“ต้องขอขอบคุณธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจและฐานเศรษฐกิจ ที่ทำให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จอีกขั้น หลังจากนี้จะตั้งใจนำเสนอข่าวเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมให้มากขึ้น” น.ส.อนัญญา กล่าว
สำหรับเนื้อหาบทความเรื่อง “ระบบตั๋วร่วม นโยบายขายฝันสู่ความเหลื่อมล้ำการใช้บริการรถไฟฟ้าสารพัดสี” ที่ได้รับรางวัลครั้งนี้มีเนื้อหาระบุว่า
ปัจจุบันประชาชนต่างเฝ้ารอ “ระบบตั๋วร่วม” ซึ่งเป็นเพียงความหวังเดียวที่ประชาชนสามารถใช้บัตรโดยสารใบเดียว เพื่อเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุมทุกเส้นทางได้สะดวกสบาย เช่น รถไฟฟ้าทุกสาย, รถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนเรือโดยสารสาธารณะ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ช่วยให้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางในแต่ละวัน
ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดผลักดัน “โครงการระบบตั๋วร่วม” หรือ Common Ticketing System ซึ่งเป็นระบบที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ศึกษาโดยนำระบบดังกล่าวมาใช้สำหรับการเดินทางของประชาชนให้สามารถเชื่อมต่อทั้งโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะผ่านการใช้บัตรโดยสาร “บัตรแมงมุม”
ในปี 2561 ที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการนำร่องแจกบัตรแมงมุม จำนวน 200,000 ใบ ให้แก่ประชาชนทดลองใช้จ่ายเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งรถไฟฟ้าระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แต่ปัจจุบันพบว่าระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลกลับมีเอกชนผู้ให้บริการหลายราย อีกทั้งการใช้ระบบตั๋วร่วมข้ามสายนั้นจำเป็นต้องพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) เพื่อคำนวณรายได้ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าแต่ละสาย ส่งผลให้บัตรแมงมุมที่ภาครัฐตั้งใจผลักดันกลับล้มไม่เป็นท่า เพราะบัตรดังกล่าวสามารถใช้ข้ามระบบได้เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเท่านั้น
ล่าสุดในยุค “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สานต่อ “โครงการระบบตั๋วร่วม” อีกครั้ง เพื่อสอดรับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยปรับเปลี่ยนจากการใช้บัตรแมงมุม เป็นบัตร EMV (Europay Mastercard and Visa) เป็นบัตรเดบิตและบัตรเครดิตทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์ Contactless สามารถใช้แตะจ่ายค่าบริการแทนเงินสดได้ ปัจจุบันได้มีการนำร่องใช้บัตร EMV เชื่อมต่อการเดินทางรถไฟฟ้าข้าม 3 สาย ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีม่วงเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีเตาปูน และรถไฟฟ้าสายสีแดงเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีบางซ่อน
นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคม เตรียมหารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน เพื่อจัดตั้งกองทุนระบบตั๋วร่วม วงเงินประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท คาดว่าจะใช้งบประมาณจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน โดยภาครัฐจำเป็นต้องจัดหางบประมาณเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
มีแนวคิดใช้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ทำให้มีผลต่อราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นกว่าปกติอยู่ที่ 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น จะทำให้ต้นทุนค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง โดยตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปี ผู้โดยสารจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทาง
“ส่วนการเจรจากับภาคเอกชนในการร่วมนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ทางกระทรวงไม่ได้มีการบังคับภาคเอกชนให้ร่วมดำเนินการ เนื่องจากภาคเอกชนมีสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าอยู่แล้ว ซึ่งภาครัฐไม่สามารถขอให้ภาคเอกชนลดราคาค่าโดยสารได้ ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้พ.ร.บ.ตั๋วร่วม เข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้”
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า ระบบตั๋วร่วม จำเป็นต้องมีการใช้กฎหมายออกมารองรับในการให้บริการ ปัจจุบัน สนข.อยู่ระหว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. ถึงการหาที่มาของแหล่งเงินในกองทุนระบบตั๋วร่วมว่าจะนำมาจากแหล่งทุนใดบ้าง
“เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ…. ต่อคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (คตร.) และกระทรวงคมนาคม รวมทั้งเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ คาดว่าจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ส่วนจะเริ่มประกาศและมีผลบังคับใช้ได้เมื่อไรยังตอบไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณาในสภาฯ”
หากเจาะลึกถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิด ระบบตั๋วร่วม โดยเร็วจากการใช้บัตร EMV เป็นบัตรเดบิตและบัตรเครดิต เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางข้ามระบบรถไฟฟ้า จะพบว่ายังมีความเหลื่อมล้ำอย่างน่าแปลกใจ จากการใช้บริการรถไฟฟ้าแต่ละสาย รวมถึงการใช้บัตรข้ามสาย เนื่องจากในปัจจุบันผู้ที่ใช้รถไฟฟ้าส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มวัยทำงานที่เร่งรีบ มีการกำหนดระยะเวลาในการเดินทางที่ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อจากการใช้บัตรเดบิตและบัตรเครดิตในการทำธุรกรรมผ่านธนาคารหรือใช้จ่ายสินค้าเป็นประจำอยู่แล้ว
ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้สูงอายุกลับเป็นไปได้ยากที่สามารถเข้าถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ เพราะบุคคลกลุ่มนี้มองว่าการใช้บริการรถไฟฟ้ามีอัตราค่าโดยสารที่สูงและการเดินทางที่ซับซ้อนยุ่งยากเมื่อเชื่อมต่อข้ามเส้นทางหรือเปลี่ยนระบบ เมื่อเทียบกับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะที่มีราคาถูกกว่าและเดินทางสะดวกมากกว่า อีกทั้งการใช้บัตรเดบิตและบัตรเครดิตจำเป็นต้องมีการเปิดบัญชีและเสียค่าธรรมเนียมในการดูแลบัตรฯทุกๆปี ซึ่งจะกระทบต่อค่าใช้ในชีวิตประจำวันของบุคคลกลุ่มนี้ได้
ไม่เพียงเท่านั้น “ระบบตั๋วร่วม” ในปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาซ้ำซากที่ภาครัฐไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้บริการร่วมกันได้ ส่วนสาเหตุที่การใช้ ระบบตั๋วร่วม มีความล่าช้า เนื่องจากโครงการฯนี้เป็นการให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมตามความสมัครใจ ซึ่งทำให้ค่อนข้างยาก เพราะมีเรื่องของพ.ร.บ. ซึ่งเป็นกฎหมายภาคบังคับที่เข้ามาร่วมด้วย
หลังจากนี้คงต้องจับตาดูภาครัฐว่า จะสามารถแก้ปัญหาการใช้ระบบตั๋วร่วมผ่านบัตรโดยสารใบเดียว โดยที่ไม่ต้องจำกัดเฉพาะผู้ที่ถือบัตรเดบิตและบัตรเครดิตได้หรือไม่ หากในอนาคตภาครัฐยังคงเดินหน้าใช้ ระบบตั๋วร่วม ผ่านบัตร EMV จะทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงการใช้บริการรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะครอบคลุมทุกสายทุกเส้นทางได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่ไม่สิ้นสุด