วันที่ 9 ธ.ค. 2566 ที่ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะรัฐมนตรีลงพื้นพบปะพี่น้องประชาชนชาวกาญจบุรี และให้สัมภาษณ์ภายหลังคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติปรับขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ ตั้งแต่ 2-16 บาททั่วประเทศ
โดยนายกฯ ยอมรับว่า ไม่สบายใจอย่างมาก เนื่องจาก ค่าแรงขั้นต่ำของไทยขึ้นมาน้อยมาก แต่ค่าครองชีพสูง รัฐบาพยายาลทำหลายวิธีเพื่อลดค่าใช้จ่าย และลดรายจ่าย ทั้งค่าไฟ และค่าน้ำมัน รวมถึงการพักหนี้เกษตรกร การแก้หนี้นอกระบบ-ในระบบ เพื่อบรรเทาความทุกข์ของประชาชน แต่การเพิ่มรายได้ ก็เป็นเรื่องสำคัญ และประชาชนหลายสิบล้านคน ก็ยังต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก
แต่บางจังหวัดกลับมีการปรับเพิ่มเพียง 2-7 บาท ซึ่งน้อยเกินไป สวนทางกับความพยายามของรัฐบาล ที่พยายามยกระดับอุตสาหกรรมไทยที่มีเทคโนโลยีสูง เพื่อประโยชน์ผู้ประกอบการ ทำให้ประชาชนมีรายได้สูง และตนก็ได้พยายามเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเชิญชวนนักลงทุน ซึ่งรัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่
ยกค่าแรงสิงคโปร์ 1,000บาท
นายกรัฐมนตรี ยังวิงวอน และอ้อนวอนไปยังนายจ้างว่า แรงงานไทยเป็นผู้ถูกผลกระทบมากที่สุด ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่รัฐบาลพยายามดำเนินการทุกอย่างแล้ว จึงขอให้สนับสนุนการขึ้นรายได้ให้นายจ้าง ไม่ใช่กดค่าจ้างแรงงาน ทั้งที่นายจ้างเอง ก็ได้ประโยชน์จากมาตรการลดค่าไฟของรัฐบาล จึงถึงเวลามาทบทวนไม่ให้ชีวิตแรงงานไทยต่ำติดดิน และคืนให้กับกำลังสำคัญในภาคการผลิต เพราะค่าแรงประเทศข้างเคียงประเทศไทย อย่างเกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์ ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันกว่า 1,000 บาท
ดังนั้น นายจ้างจึงจะยอมให้แรงงานไทยเป็นพลเมืองชั้น 2 หรือ ชั้น 3 ของโลกหรือ จึงย้ำว่า มติของคณะกรรมการค่าจ้างนั้น จะต้องมีกรทบทวนใหม่ และจะต้องมีการพูดคุยกัน
ค่าแรงขึ้น2บาทซื้อไข่ยังไม่ได้
นายกรัฐมนตรี ยังตั้งข้อสงสัยต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 2 บาท/วัน พร้อมระบุว่า เดือนที่แล้วตนเองได้มีโอกาสไปพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซีย ถึงเรื่องนิคมอุตสาหกรรม และการยกระดับการท่องเที่ยว การเปิดด่านการค้าการลงทุน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงทุน จึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงมีการปรับขึ้นเพียง 2-3 บาท ไข่เพียง 1 ลูกก็ยังไม่สามารถซื้อได้ จึงไม่สบายใจเป็นอย่างมาก และจะต้องมีการพูดคุยกับคณะกรรมการ 3 ฝ่าย หรือไตรภาคีอีกครั้ง ภายหลังช่วงหยุดยาวนี้ เพราะนโยบายค่าแรง ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้
ค่าแรงควรจะถึง 400 บาท
ส่วนควรจะปรับขึ้นไปที่เท่าไรจึงจะเหมาะสมนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะต้องขึ้นไปสูงกว่านี้ โดยจะรอฟังเหตุ และผลของคณะกรรมการค่าจ้าง และคณะกรรมการ 3 ฝ่ายด้วย แต่เห็นว่า จังหวัดใหญ่ ๆ ค่าแรงควรจะถึง 400 บาท จังหวัดเล็ก ๆ อาจจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่จะมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งให้เหตุผลเรื่องเศรษฐกิจของประเทศที่ซบเซาว่า รัฐบาลก็พยายามช่วยเหลืออยู่ ทั้งการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ การลดค่าไฟ ที่ทุกคนได้ประโยชน์ จาก 4.50 บาทลงมาเป็น 3.99 - 4.20 บาท ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักอยู่แล้ว
ส่วนกังวลถึงการขึ้นค่าแรงจะทำให้ผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ย้ายฐานการผลิตหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่มี และเห็นเป็นเพียงวาทะกรรม เพราะจะไม่มีใครย้ายเพราะค่าเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จาก 300 บาท เป็น 400 บาท เพราะรัฐบาล มีมาตรการสนับสนุนทางด้านภาษี มีระบบสาธารณสุข และการศึกษาที่ดี รวมถึงยังมีระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการคมนาคมที่ดีพร้อมสำหรับการลงทุน รวมถึงยังมีการลง MOU ร่วมกันในหลายประเทศ ซึ่งหากไม่มีการช่วยกัน ก็จะดำเนินการต่อลำบาก
นายกรัฐมนตรี ยังฝากถึงแรงงานติดตามการดำเนินการของรัฐบาลว่า มีความจริงใจต่อเรื่องดังกล่าวมากเพียงใด เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดอยู่แล้ว โดยไม่ได้นำภาระไปให้ผู้ประกอบการ หรือนายจ้างเพียงอย่างเดียว เพราะมีการลดรายจ่ายช่วย และดึงดูดเม็ดเงินหลายวิธีการ จึงขอให้เห็นใจผู้ใช้แรงงาน และยืนยันว่า ไม่ใช่การหาเสียง เพราะการเลือกตั้งได้จบลงไปแล้ว
เข้าครม.ค้านแน่
ส่วนหากกระทรวงแรงงานจะเสนอการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 12 ธันวาคมนี้เลยหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยังไม่ทราบ แต่หากมีการเสนอเข้ามาให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ตนก็จะเป็น 1 เสียงที่ไม่เห็นชอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง