ข่าว

รมว.เกษตรฯ มอบ 'กรมชลประทาน' ตุนกักเก็บน้ำ ห่วงภัยแล้งกระทบ ลุ่มเจ้าพระยา

รมว.เกษตรฯ มองปัจจัยเชิงบวก ฝนตกต่อเนื่อง ในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่เพิ่มขึ้น มอบ กรมชลประทาน  เร่งเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เทน้ำหนักไปที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่มีปริมาณการใช้น้ำสูง รับเป็นห่วงภัยแล้งที่จะมาถึง

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน  ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยา เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝนที่ตกหนักในระยะนี้ และปรากฎการณ์เอลนีโญ    ทั้งนี้   ร้อยเอก ธรรมนัส   พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์   ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บินตรวจสภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา   และมาสิ้นสุดที่เขื่อนเจ้าพระยา  ต.บางหลวง อ.สรรพยา  จ.ชัยนาท   จากนั้นได้ร่วมกับนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน  ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน    ต่อการบริหารจัดการน้ำ  ควบคู่ไปกับการรับมือปรากฎการณ์เอลนีโญ 

 

 

 

 

 


ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า จากภาวะฝนตกต่อเนื่อง ในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับขณะนี้เข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนของพื้นที่ตอนบนแล้ว  ได้สั่งการให้กรมชลประทาน  เร่งเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ที่มีปริมาณการใช้น้ำสูง  ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา จัดหาแหล่งน้ำสำรองและกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับปรากฎการณ์เอลนีโญ และการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง   เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด  ขอให้มั้่นใจว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญ ต่อการรับมือกับสถานการณ์
 

 

 

 

 

 

 


 

รายงานข่าวจากกรมชลประทาน แจ้งว่า  สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ล่าสุด(25 ก.ย. )ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,166 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง  กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ระดับ 16.80 เมตร(รทก.) สูงกว่าระดับปกติประมาณ 0.30 เมตร เพื่อยกระดับน้ำเข้าสู่คลองต่างๆที่อยู่ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้ได้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ริมคลอง และสามารถรองรับฝนที่อาจตกลงมาในพื้นที่ได้อีกด้วย

 

 

 

พร้อมกันนี้ ยังได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทาน ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก และ คลองชัยนาท-อยุธยา และผันน้ำบางส่วนไปลงคลองพระองค์ไชยยานุชิต เพื่อสูบผันน้ำไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ส่วนทางด้านฝั่งตะวันตก จะผันเข้าทางแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย และคลองมะขามเฒ่า-อู่ทองไปกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ รวมไปถึงคลองส่งน้ำในพื้นที่ชลประทาน เพื่อสำรองไว้ใช้อุปโภคบริโภค ในช่วงฤดูแล้ง การเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ตลอดจนไม้ยืนต้น และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก 

 

 

 

รมว.เกษตรฯ   มอบ \'กรมชลประทาน\'  ตุนกักเก็บน้ำ ห่วงภัยแล้งกระทบ ลุ่มเจ้าพระยา

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  พร้อมด้วย  ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์  ของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตรวจสภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา   และมาสิ้นสุดที่เขื่อนเจ้าพระยา  จ.ชัยนาท  เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 

.

 

 

 

 

สำหรับปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ที่คงเหลือจากการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานเพื่อสำรองไว้ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในช่วงฤดูแล้ง   ได้วางแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และเพื่อความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยจะควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 1,000 ลบ.ม./วินาที  ปัจจุบัน(25 ก.ย ) มีการระบายน้ำสูงสุดอยู่ที่  802  ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มลดลง โดยปริมาณน้ำที่ระบายท้ายเขื่อนนี้ บางส่วนจะถูกนำไปเก็บกักไว้ในแหล่งน้ำและพื้นที่แก้มลิง ในเขต ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี รวมทั้ง สนับสนุการผลิตประปาของ การประปานครหลวง และการรักษาคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา

 

 

 

 

 

ข่าวยอดนิยม