ข่าว

เปิดเบื้องหลัง 'ฮีโร่' และ 'วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่' ทีมนักดำน้ำช่วย 13 หมูป่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดนาทีเบื้องหลังการตัดสินใจช่วยชีวิตนักฟุตบอล 13 หมูป่า ซึ่งเป็นเยาวชนใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่เข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อย่างไม่ทันตั้งตัวเมื่อ 5 ปีก่อน หนึ่งในจำนวนวีระบุรุษผู้ยิ่งใหญ่คือ 'ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์'

 

'ดอกเตอร์เอ' วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เปิดนาทีเบื้องหลังการตัดสินใจช่วยเหลือนักฟุตบอล 13 หมูป่า ซึ่งเป็นเยาวชนใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่เข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อย่างไม่ทันตั้งตัว เมื่อ 5 ปีก่อน ประวัติศาสตร์ที่บันทึกเวลานั้นไว้มีทั้ง 'ฮีโร่' และ 'วีระบุรุษผู้ยิ่งใหญ่' 

 

'ดอกเตอร์เอ' วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในขณะนั้นเปิดเผย "คมชัดลึก" ว่า คนแรกที่จุดประกายความคิดในการกู้วิกฤตครั้งประวัติศาสตร์แห่งขุนน้ำนางนอนสำเร็จคือ 'เวิร์น อันเวิร์ธ' เขาเป็นชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในเมืองเซนต์ อัลบานส์ แต่เวลานั้นปักหลักอยู่ในประเทศไทย และเป็นต่างชาติคนแรกที่เข้าไปยังพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมข้อเสนอแนะนำ ทีมดำน้ำมืออาชีพ มากู้สถานการณ์

 

 

"อันเวิร์ธ" เป็นนักดำน้ำที่มีประสบการณ์ และบังเอิญว่าอาศัยอยู่ใกล้ๆ ถ้ำแห่งนี้ จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจเชิญทีมนักดำน้ำจากสหราชอาณาจักรเดินทางมาไทยในทันที

 

"อันเวิร์ธ" มีโอกาสบอกกับ ดร.วีระศักดิ์ท่ามกลางสถานการณ์โกลาหลว่า การจะเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ ให้รอดจะต้องมี "ทีมนักดำน้ำ" ที่มีประสบการณ์และมีแต่นักดำน้ำต่างชาติเท่านั้นที่มีความถนัด เพราะพวกเขามองเรื่องการมุดถ้ำดำน้ำในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติ และเขาก็รู้จักเพื่อนนักดำน้ำชาวอังกฤษหลายคนที่สามารถช่วยได้ 

 

 

ทำให้ ดร.วีระศักดิ์ ตาเป็นประกายอย่างมีความหวัง และเห็นด้วยว่าต้องใช้ประสบการณ์ของทีมนักดำน้ำมืออาชีพ ทันใดนั้นก็ขอให้ "อันเวิร์ธ" ไปนำเสนอแนวทางกับ "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งเป็น รมว.มหาดไทย และกำลังนั่งหารืออยู่ในห้องประชุมกับบิ๊กๆ ที่เหลืออย่างเคร่งเครียด รวมทั้ง ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ เชียงราย ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และคีย์แมนคนสำคัญในการทำหน้าที่บัญชาการสถานการณ์

 

 

"อันเวิร์ธ" บอกกับ ดร.วีระศักดิ์ว่า จะขอคุยกับ "บิ๊กป๊อก" เป็นการส่วนตัวได้ไหม และขอให้คนที่เหลือห้องจากห้องประชุมไปก่อน เพราะหากเขาโพร่งข้อเสนอใช้ทีมนักดำน้ำต่างชาติ คนในห้องอาจแตกตื่นหรือมองว่าข้อเสนอนี้เป็นไปไม่ได้ 

 

 

ระหว่างที่ "อันสเวิร์ธ" เดินเข้าไปหา "บิ๊กป๊อก" พร้อมกับ ดร.วีระศักดิ์ ทาง "บิ๊กป๊อก" พูดขึ้นมาก่อนว่า "คุณสามารถพูดต่อหน้าทุกคนได้เลย" และถาม "อันเวิร์ธ" ว่า "มีด้วยเหรอนักดำน้ำที่มุดถ้ำได้" ซึ่ง "อันสเวิร์ธ" ก็รีบตอบว่า มี และหนึ่งในทีมนักดำน้ำที่จะชวนมา เคยมาเยือนถ้ำแห่งนี้แล้วด้วย 

 

 


รัฐมนตรีมหาดไทยหันมาถาม ดร.วีระศักดิ์ "เอายังไงคุณจบเมืองนอก"  เขาเล่าคำตอบ "ผมก็บอกเอามาเลย" และขอให้ "อันสเวิร์ธ" โทรไปหานักดำน้ำที่อังกฤษทันที ซึ่ง ดร.วีระศักดิ์ ได้ขอคุยสายด้วย 

 

 


"ผมถามว่าคุณได้ติดตามสถานการณ์ที่ถ้ำตอนนี้ไหม เขา (เพื่อนในทีมนักดำน้ำของอันเวิร์ธ) บอกว่าติดตามอยู่ และไม่ขัดข้องถ้าจะให้มาช่วย ผมก็ตอบไปว่า รีบมาเร็วที่สุด เขาย้อนถามว่า จัดการตั๋วให้ทีมเขาได้เร็วแค่ไหน ผมบอกว่าคุณไปสนามบินตอนนี้เลย จากนั้นภายใน 24 ชั่วโมงพวกเขาก็มาถึง"

 

 


ดร.วีระศักดิ์ เล่าว่า ทีมแรกมาก่อน 3 คน โดยทีมนี้คือทีมนักดำน้ำที่ออกจากถ้ำมาบอกว่า เจอเด็กแล้วได้กลิ่นแล้ว และจากนั้นเขาก็ขอคนเพิ่มอีก 3 ถัดมาก็ขอเพิ่มอีกรวมนักดำน้ำชาวอังกฤษ 7 คน จากทีมนักดำน้ำต่างชาติในภารกิจนี้ทั้งหมด 14 คน โดยกระบวนการช่วงเวลานี้ที่บอกว่าเจอเด็กแล้ว ยังไม่เป็นข่าว เพราะเกรงว่าจะเกิดความหวังของญาติหรือคนที่เฝ้าลุ้นสถานการณ์

 

 


ณ เวลานั้นเป็นช่ววลางวิกฤตที่ทุกฝ่ายต่างคิดหาสารพัดวิธีว่าจะช่วยเหลือน้องๆ ทั้ง 13 หมูป่าได้อย่างไร เพราะฝนได้ถล่มลงมาอย่างหนักและไม่มีวี่แววว่าจะหยุดตก แต่พวกเขาซึ่งเป็นอาสาสมัครพลเรือนจากสหราชอาณาจักรและเพื่อนจากชาติอื่นก็ทำสำเร็จและได้รับการเชิดชูเป็น "วีระบุรุษผู้ยิ่งใหญ่" ซึ่งเป็นวีรกรรมที่ได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเทรีซา เมย์ ได้กล่าวยกย่องทีมงาน (อังกฤษ) กลุ่มนี้ว่าเป็น "วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่"

 

 


เป็นความยิ่งใหญ่อันน่าปลาบปลื้มและเหลือเชื่อว่าภารกิจนี้จะลุล่วงไปได้ โดยผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จคนสำคัญที่ทุกคนต่างชื่นชมในความสามารถก็คือ "ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์" หรือที่ผู้คนเรียกกันติดปากว่า "ผู้ว่าฯหมูป่า" ซึ่งตัวเขาได้เข้าไปร่วมคลี่คลายเหตุการณ์ตลอด 17 วัน หลังจากได้รับแจ้งว่ามีเด็กนักฟุตบอล 12 คน และโค้ชอีก 1 เข้าไปเที่ยวและติดอยู่ในถ้ำตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 23 มิ.ย. 2561 ซึ่งกว่าปฏิบัติการช่วยเหลือจะจบลงต้องใช้เวลารวมทั้งสิ้น 221 ชั่วโมง 41 นาที หรือ 17 วันเต็ม และแลกมาด้วย 1 ชีวิตของ "จ่าสมาน" อดีตหน่วยซีลหนึ่งวีระบุรุษของเหตุการณ์นี้ด้วย

 


13 นักดำต่างชาติน้ำฮีโร่แห่งขุนน้ำนางนอน

 

1) จอห์น โวแลนเธน  วัย 47 ปี 1 ในทีมกู้ภัยในถ้ำจากอังกฤษคนนี้เป็นผู้พบทั้ง 13 หมูป่าเป็นคนแรก (เมื่อ 2 ก.ค. 2561) โดย โวแลนเธน มีอาชีพวิศกรด้านอินเตอร์เน็ตอยู่ที่เมืองบริสตอล เขาถูก "เวิร์น อันสเวิร์ธ" ผู้เชี่ยวชาญการสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ แนะนำให้ทางการไทยเรียกตัวมากู้ภารกิจขุนน้ำนางนอน โดยเดินทางมาพร้อมกับ โรเบิร์ต ฮาร์เปอร์ ทั้ง โวลันเธน และ ริก สแตนตัน คือผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ในนักกู้ภัยในถ้ำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

 

 

2) ริชาร์ด สแตนตัน วัย 56 ปี มีประสบการณ์ดำน้ำในถ้ำและกู้ภัยมามากกว่า 35 ปี  สำหรับ สแตนตัน เป็นนักดับเพลิงจากเมืองโคเวนทรี ที่เคยเข้าร่วมภารกิจกู้ภัยชาวอังกฤษ 13 คนที่ติดถ้ำในเม็กซิโก เมื่อปี 2004 

 

 

3) โรเบิร์ต ชาร์ลส์ ฮาร์เปอร์ นักดำน้ำที่มากประสบการณ์การสำรวจถ้ำ วัย 70 ปี ภารกิจครั้งนี้เขาเป็นผู้ควบคุมดูแลปฏิบัติการของนักดำน้ำชาวอังกฤษอื่นๆ ในการระบุตำแหน่งของทั้ง 13 ชีวิตในถ้ำหลวง เพราะเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโพรงลึกจากเมืองซัมเมอร์เซต ซึ่งเดินทางมายังประเทศไทยพร้อมกับ โวลันเธน และสแตนตัน หลังจากภารกิจเสร็จสิ้นฮาร์เปอร์ได้เดินทางกลับทันที่ในวันที่ 5 ก.ค. 2561 โดยมี ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ตามไปส่งถึงสนามบิน

 

 

 4) คริสโตเฟอร์ หรือคริส จีเวลล์ นักประดาน้ำชาวอังกฤษจากสมาคมกู้ภัยถ้ำของอังกฤษ หรือ BCRC มาสมทบภารกิจนี้ในขั้นตอนนำตัวหมูป่าออกจากถ้ำ เขาเคยนำทีมคณะสำรวจเข้าไปสำรวจระบบถ้ำฮัวอัตล่าในเม็กซิโก ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความลึกที่สุดในซีกโลกตะวันตก โดยใช้เวลาการสำรวจนานถึง 7 สัปดาห์ และเขาได้เข้าไปยังจุดที่ลึกที่สุด เขาเป็นสมาชิกของ "กลุ่มดำน้ำในถ้ำ" (Cave Diving Group) ซึ่งเป็นสมาคมนักดำน้ำใต้ดินสมัครเล่นที่เก่าแก่ที่สุดในสหราชอาณาจักร

 

 


5) เจสัน มัลลินสัน นักประดาน้ำชาวอังกฤษจาก Cave Diving Group หรือกลุ่มดำน้ำถ้ำของอังกฤษ ซึ่งเมื่อปี 2010 เขาคือเจ้าของสถิติโลกด้วยการดำน้ำลึก 5.5 ไมล์เข้าไปยังถ้ำในสเปน พร้อมกับ ริก สแตนตัน และจอห์น โวแลนเธน โดยใช้ระยะเวลาในการอยู่ในถ้ำมากถึง 50 ชั่วโมง 

 

 

6) ไมเคิล เคลย์ตัน นักประดาน้ำจากอังกฤษ เป็นเจ้าหน้าที่ด้านอุปกรณ์ของสมาคมกู้ภัยถ้ำของอังกฤษ หรือ BCRC เขาเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ดำน้ำเป็นพิเศษ โดยยังทำงานบริษัทเพื่อทดสอบอุปกรณ์เกี่ยวกับการดำน้ำ

 

 

7) ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส เป็นแพทย์ชาวออสเตรเลีย มีประสบการณ์ในการดำน้ำมากว่า 30 ปี เคยดำน้ำสำรวจถ้ำในจีน, เกาะคริสต์มาส, นิวซีแลนด์ รวมทั้งในออสเตรเลีย เป็นหมอที่ทำหน้าที่ตรวจสุขภาพทีมหมูป่า และเป็นคนไฟเขียวให้นำน้องๆ ทั้งหมดออกมาได้ รวมถึงเป็นผู้เสนอลำดับการทยอยออกก่อนหลังด้วย 

 

 

8) แกร์รี่ มิชเชล ผู้ช่วยรองประธานสภากู้ภัยถ้ำอังกฤษ หรือ BCRC ทำหน้าที่หัวหน้าทีม เขาได้กล่าวหลังจบภารกิจว่ าถึงตอนนี้พวกเราคือที่หนึ่งของโลก 

 

 

9) คอนเนอร์ โร เป็นนักดำน้ำชาวอังกฤษจาก BCRCเช่นเดียวกัน เขาชื่นชอบการสำรวจถ้ำ และมักเดินทางไปสำรวจถ้ำในอังกฤษและทางตอนใต้ของฝรั่งเศสเป็นประจำ ในปี 2013 ได้เข้าร่วมสำรวจระบบถ้ำซิสเตมาอวตลา ซึ่งเป็นถ้ำที่ลึกที่สุดในซีกโลกตะวันตก และเขายังมีประสบการณ์สำรวจถ้ำที่มีความยาวมากที่สุดในสโลวีเนีย

 

 

10) จอช แบรตช์ลีย์ ช่างภาพชาวอังกฤษ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของคณะสำรวจนานาชาติที่เข้าไปสำรวจถ้ำขนาดใหญ่ "เอ๋อหวังตง" หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของจีนมานานนับเดือน 

 

 

11) มาร์ติน เอลลิส นักสำรวจชาวอังกฤษที่เคยเข้าไปภายในถ้ำหลวงมาก่อนแล้ว เขาเป็นคนเขียนหนังสือชื่อ ‘เดอะ เคฟ ออฟ ไทยแลนด์’ ภาค 2 มีเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์การสำรวจถ้ำทางตอนเหนือของประเทศไทยในจังหวัดต่างๆ ที่ขึ้นชื่อว่ามีถ้ำที่ลึกที่สุดและยาวที่สุดในประเทศไทย เช่น จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ สุโขทัย และอุตรดิตถ์

 

 

12) มิกโก พาสสิ นักดำน้ำอาสาสมัครชาวฟินแลนด์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทำธุรกิจทัวร์ดำน้ำ Koh Tao Divers Malta เป็นหนึ่งในทีมค้นพบเรือสินค้าของญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่ใกล้ชายฝั่งกัมพูชา

 

 

13) จิม วาร์นีย์ นักดำน้ำชาวเบลเยียม วัย 35 ปี มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญการดำน้ำในที่แคบ เขายังเป็นสมาชิกชมรมดำน้ำ Irish Cave Rescue Organization อีกด้วย

 

 

14) ทิม แอคตัน นักดำน้ำวัย 39 ปี ถูกเชิญเข้าเป็นหนึ่งในทีมปฏิบัติการช่วยหมูป่าจากหน่วยซีลของไทย โดยตัวเขาย้ายมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเมื่อ 12 ปีก่อน และมาเปิดกิจการที่พักกับภรรยาชาวไทย ซึ่งเมื่อปี 2547 แอคตันได้เข้าไปช่วยเหยื่อจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิพัดถล่มภาคใต้ของไทย และได้รับการชื่นชมจากเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรในขณะนั้น 


วีระบุรุษผู้สละชีพ

"จ่าแซม" หรือ "จ่าสมาน" น.ต.สมาน กุนัน เจ้าหน้าที่หน่วยซีลนอกราชการที่ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ น.ต.เป็นกรณีพิเศษภายหลังเสียชีวิต เขาเป็นหนึ่งในทีมปฏิบัติการช่วยเหลือหมูป่าในครั้งนั้นที่ควรจารึกและจดจำ เนื่องจากเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 6 ก.ค. ระหว่างลำเลียงถังบรรจุอากาศเข้าไปภายในถ้ำ และได้หมดสติเนื่องจากขาดอากาศ แม้เพื่อนๆ จะพยายามช่วยชีวิต แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตของเขาไว้ได้ "จ่าแซม" จึงเป็น "วีรบุรุษถ้ำหลวง" ที่สละชีพตัวเองในวัยเพียง 38 ปี

 

หมายเหตุ- อายุแต่ละคนในช่วงเวลานั้น

อ้างอิง: 
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1331993
https://www.bbc.com/thai/international-44837022
https://www.bbc.com/thai/features-46709703
https://www.springnews.co.th/news/304633

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ