ข่าว

'ปาร์ตี้​โฟม'​ ตัวเปียก​ ระวังไฟดูด​ ไฟช็อต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สงกรานต์เล่นในอุโมงค์น้ำ​ ปาร์ตี้โฟม ระวังไฟดูด ไฟช็อต ก่อนเล่นสำรวจจุดเสี่ยง​ ต้องมีการตรวจสอบการทำงานของระบบและเครื่องมือให้มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน ตัวเปียกห้ามสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด

สถิติประเทศไทย ปี 2561-2562 จากกองป้องกันการบาดเจ็บ​ "กรมควบคุมโรค" (คร.)​ พบจำนวนผู้ป่วยจากการสัมผัสกระแสไฟฟ้าช่วงวัน "สงกรานต์" และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 47 ราย สาเหตุที่พบมีทั้งน้ำกระเด็นไปถูกปลั๊กไฟ สายไฟ ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วและไฟฟ้าช็อต ร่างกายเปียกทำให้กระแสไฟสามารถไหลผ่านร่างกายได้ง่าย สายไฟหรืออุปกรณ์ชำรุด และไม่มีระบบกันน้ำซึ่งมีโอกาสเกิดไฟรั่วได้

 

ปาร์ตี้โฟม​ กิจกรรมยอดนิยมช่วงเทศกาลสงกรานต์

 

 

"นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์" อธิบดี​ คร.จึงได้ออกมาเตือนประชาชนระมัดระวังอันตรายจากไฟดูด ไฟช็อต​ และแนะนำการป้องกันไฟดูด ไฟช็อตช่วง​ "สงกรานต์" คือ 1.หากตัวเปียกห้ามสัมผัสวัสดุนำไฟฟ้าทุกชนิด เช่น การเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า กดกริ่งไฟฟ้า เสียบปลั๊กไฟ ชาร์จโทรศัพท์มือถือ เครื่องเสียง เสาเหล็ก ราวสะพานลอย ป้ายโฆษณา 

2.​ ระวังการเล่นน้ำใกล้เสาไฟฟ้า ในอุโมงค์น้ำ ปาร์ตี้โฟม อาจเกิดไฟรั่ว ไฟช็อตได้  3.​ ไม่สาดน้ำไปถูกอุปกรณ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ สายไฟชำรุด 

 

 

4.​ ขบวนแห่ระวังเกี่ยวสายไฟที่พาดผ่านตามเส้นทาง ก่อนเล่นน้ำควรสำรวจบริเวณจุดเสี่ยงโดยรอบ สำรวจจุดติดตั้งเครื่องตัดไฟ เมื่อเกิดเหตุจะสามารถหาจุดตัดไฟได้รวดเร็ว ตรวจดูว่าบริเวณที่เล่นน้ำมีปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสี่ยงหรือไม่ ถ้ามีควรเก็บให้เรียบร้อยก่อน หากพบสายไฟ ปลั๊กไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที รวมถึงการเล่นในอุโมงค์น้ำหรือปาร์ตี้โฟน ควรตรวจสอบการติดตั้งอุปกรณ์ฉีดน้ำ ราวสายน้ำ การฉีดสร้างโฟมให้มีความปลอดภัย

 

 

กรณีถูกไฟดูด ไฟช็อตควรปฐมพยาบาลให้ถูกวิธี ดังนี้ 1.​ อย่าใช้มือเปล่าแตะตัวผู้ที่โดนไฟดูด ไฟซ็อต  2.​ ตัดกระแสไฟฟ้าในที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดด้วยการถอดปลั๊ก ปลดสวิตช์หรือคัตเอาต์  3.​ ใช้วัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง เชือกแห้ง พลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยาง ไม้แห้ง เขี่ยสายไฟออก ผลักหรือดึงตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว เป็นต้น

 

 

เล่นน้ำสงกรานต์​ ทำให้ตัวเปียก​ เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ไฟดูด​ ไฟช็อต

 

 

4.​ หากเกิดไฟดูด ไฟช็อตบริเวณที่มีน้ำขัง ให้ตัดกระแสไฟและเขี่ยสายไฟออกก่อนเข้าไปช่วย  5.​ หากผู้ป่วยหมดสติหรือหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ทันทีพร้อมทั้งให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทั้งนี้ หากพบผู้ได้รับบาดเจ็บจากไฟดูด ไฟช็อตควรตั้งสติให้ดี และโทรขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ