ในอดีตพื้นที่ป่าเขาซับแกงไก่ บ้านลำน้ำเขียว ตำบลเขาน้อย อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี ถูกบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเอาพื้นที่ไปทำการเกษตร เอาไม้ไปสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยและทำฟืนเผาถ่าน สมัยนั้นหมู่บ้านอยู่ห่างไกลความเจริญไม่มีไฟฟ้า ตัดต้นไม้ทุกวันไม่นานป่าก็หมดสัตว์ป่าก็ไม่มีที่อยู่อาศัย พืชผักอาหารป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็หมด พอเข้าสู่ฤดูฝน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หน้าแล้งอากาศร้อนมาก มีลมพายุพัดบ้านเรือนราษฎรพังเสียหาย ช่วงฝนตกก็หนักมากเกิดน้ำหลากลงมาจากภูเขากัดเซาะที่ทำกินไปจนถึงถนนหนทางชำรุด เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต และทรัพย์สินเสียหายมากมายในหลายปีติดต่อกันมา ทุกครัวเรือนอยู่กันยากลำบาก” นายจำลอง จิตติรัศมี หนึ่งในราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเขาซับแกงไก่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาน้อย อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี กล่าว
เนื่องจากพื้นที่ป่าชุมชนเขาซับแกงไก่ตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของจังหวัดลพบุรีและสระบุรี ห่างไกลจากหมู่บ้าน ทำให้การดูแลรักษาป่าเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้มีบุคคลภายนอกพื้นที่แอบลักลอบเข้าไปตัดไม้และล่าสัตว์ในเวลากลางคืน
สภาพปัญหาดังกล่าวราษฎรบ้านลำน้ำเขียว และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาน้อย อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี จึงได้ร่วมประชุมหารือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาโดยขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา
ขอให้ทรงรับพื้นที่ป่าชุมชนเขาซับแกงไก่ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับป่าชุมชนเขาซับแกงไก่ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 เพื่อเป็นต้นแบบในการดูแลรักษาป่าโดยชุมชนและเป็นเครือข่ายในการดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าไม้ต่อไป
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริบูรณาการระหว่างหน่วยงานราชการและชุมชนในการฟื้นฟูป่าโดยใช้หลักการทรงงานด้านป่าไม้ การปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ ส่งเสริมการใช้หญ้าแฝก มีการลาดตระเวนป้องกันไฟป่าและทำแนวกันไฟ อบรมให้ความรู้ด้านป่าไม้แก่ราษฎรและเยาวชน
จัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมอาชีพด้านป่าไม้ การแปรรูปสมุนไพรเขาซับแกงไก่ โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการในโครงการต่างๆ ตั้งแต่ปี 2555 - 2561 แก่กรมป่าไม้
ปัจจุบันผลสัมฤทธิ์ด้านการพัฒนาป่าไม้พบว่าสภาพป่าธรรมชาติและป่าที่ได้รับการฟื้นฟูกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง พบได้จากความหลากหลายของชนิดพรรณไม้หลายชนิด พื้นที่เกิดความชุ่มชื้น มีแหล่งน้ำซับและน้ำใต้ดินกลับมาไหลตลอดทั้งปี ด้านการป้องกันรักษาป่ามีการจัดเจ้าหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชนเขาซับแกงไก่ลาดตะเวนร่วมกัน จัดทำแนวกันไฟอย่างต่อเนื่องจึงลดปัญหาไฟป่า ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ชุมชนมีความมั่นคงด้านอาหารโดยการใช้ประโยชน์จากป่า มีการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเขาซับแกงไก่เพื่อทำกิจกรรมเสริมรายได้ เช่น เพาะชำกล้าไม้จำหน่าย แปรรูปสมุนไพร เป็นต้น
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วยนางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการ ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานจากผู้แทนกรมป่าไม้ เยี่ยมราษฎรสมาชิกวิสาหกิจชุมชนตำบลเขาน้อย
และร่วมปลูกต้นไม้ในพื้นที่โครงการฯ พร้อมลงพื้นที่สำรวจแหล่งน้ำซับวัดป่าชุมชนเขาซับแกงไก่ พบว่าจากความสมบูรณ์ของผืนป่าทำให้ราษฎรในพื้นที่สามารถทำการเพาะปลูกพืชได้อย่างหลากหลายและประสบผลสำเร็จอย่างเป็นที่น่าพอใจ
เช่น กรณีของนายเหรียญทอง ภูหมื่น ปราชญ์พื้นบ้านที่ผู้คนในชุมชนและหน่วยงานของรัฐต่างให้การยอมรับในความคิดบูรณาการแบบชาวบ้าน ด้วยการนำต้นผักหวานป่ามาปลูกในไร่ของตนเองสำเร็จ
“ผักหวานป่าเป็นพืชที่อยู่บนเขาในป่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะต้องตื่นนอนแต่เช้า รีบออกไปหาเก็บยอดมากินและจำหน่าย ซึ่งเป็นแบบนี้มาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย จึงคิดว่าน่าจะลองนำมาปลูกเอาไว้ในไร่จะดีกว่า พอถึงฤดูกาลหน้าผักหวานแตกยอดก็ไม่ต้องเสียเวลาออกไปหาเหมือนกับคนอื่นๆ โดยในปี 2540 ก็เลยชวนนางจำเนียร ภรรยาไปหาขุดต้นผักหวานป่าบนเขามาปลูกทดลองดู ปรากฏว่าครั้งแรกขุดมาเกือบ 30 ต้น รอดเพียงไม่กี่ต้น เลยคิดทบทวนหาวิธีการใหม่ ลองผิดลองถูกอยู่หลายปีในที่สุดประสบความสำเร็จปลูกและขยายพันธุ์ได้ เพราะในพื้นที่ปลูกมีความสมบูรณ์มีความชื้นทั้งอากาศและหน้าดินเหมือนกับในป่าธรรมชาติจึงประสบความสำเร็จ” นายเหรียญทอง ภูหมื่น กล่าว
ปัจจุบัน นายเหรียญทอง ภูหมื่น เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องผักหวานป่ามีไร่ผักหวานที่สมบูรณ์แบบ เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน โดยสำนักงานปฏิรูปที่ดิน จังหวัดลพบุรี พร้อมเปิดให้ผู้คนทั่วไปเข้าชมและศึกษาเรียนรู้ได้ ปัจจุบันมีต้นผักหวานป่าหลายขนาดไม่ต่ำกว่า 2,000 ต้น ในเนื้อที่ปลูก 3 ไร่ โดยปลูกแซมกับต้นมะขามเทศ แต่ละปีสร้างรายได้ให้แก่นายเหรียญทอง ภูหมื่น เป็นอย่างดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง