ข่าว

ผู้ป่วย "โควิด19" อายุ 105 ปี ไม่เคย "ฉีดวัคซีน" รับการรักษา LAAB อาการดีขึ้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส "โควิด19" อายุ 105 ปี ประวัติไม่เคย "ฉีดวัคซีน" ได้รับการรักษา LAAB อาการดีขึ้นตามลำดับ ขณะนี้กลับไปรักษาตัวที่บ้านแล้ว

ปัจจุบันสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด19 ในประเทศไทย ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มียาอะไรมารักษาให้หายได้ แต่มีวัคซีนป้องกันโรค รูปแบบต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยได้จัดหาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) ให้ประชาชนกลุ่มที่มีความจำเป็นนับเป็นการยกระดับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด19 โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 

 

ล่าสุดวันนี้ (18 กันยายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือนกันยายน 2565 พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส "โควิด19" รายหนึ่ง อายุ 105 ปี และยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด 19 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 โดยในวันที่ 4 กันยายน 2565 แพทย์พิจารณาให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ LAAB แก่ผู้ป่วยร่วมกับยาปฏิชีวนะ เนื่องจากผู้ป่วย มีอาการไข้สูง มีเสมหะ ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ และต่อมามีปอดติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในวันแรก ซึ่งตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2565 อาการผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้วันที่ 14 กันยายน 2565 รวมระยะเวลาที่ใช้รักษาน้อยกว่า 2 สัปดาห์

นายแพทย์โอภาส เปิดเผยอีกว่า การให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ LAAB น่าจะมีผลดีในการรักษาผู้ป่วยสูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังเน้นย้ำแนะนำให้ผู้สูงอายุทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็วก่อนจะเกิดการติดเชื้อ

 

สำหรับในประเทศไทย มีนำเข้าภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB และฉีดครั้งแรกให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 และส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2565  ซึ่งผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องฟอกไต , ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ , ผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับการพิจารณาในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิดด้วย LAAB หรือสามารถติดต่อเข้ารับการฉีดได้ที่สถานพยาบาล

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำรวจจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ ในสถานพยาบาลทุกสังกัด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับภูมิคุ้มกันจาก LAAB อย่างทั่วถึง และกำลังพิจารณาเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และฉายแสง, ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง, ผู้ป่วยโรคข้อที่ต้องรักษาด้วยยากดภูมิ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำโรคอื่นๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ