ถือเป็นเกียรติยศสมควรได้รับการยกย่อง สำหรับชาวต่างประเทศที่ได้กระทำความดีอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติไทย โดยล่าสุด ราชกิจจาฯ ได้เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกฯ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นเบญจมดิเรกคุณาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศ คือ นายหลิว หย่ง เฉียง แอลเลิน (Mr. Lew Yoong Keong Allen ) สัญชาติสิงคโปร์ อดีตซีอีโอใหญ่จากค่ายสื่อสาร "เอไอเอส" ในฐานะที่ได้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยและชาวต่างประเทศอีก 4 ราย
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นเบญจมดิเรกคุณาภรณ์ ให้แก่ นายหลิว หย่ง เฉียง แอลเลิน (Mr. Lew Yoong Keong Allen ) สัญชาติสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ในฐานะที่ได้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย
โดยผลักดันให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริจาค ทรัพย์สินให้แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย จำนวน 15,000,000 บาท (สิบห้าล้านบาทถ้วน)
และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสมทบทุนสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช จำนวน 3,000,000 บาท (สามล้านบาทถ้วน) รวมจำนวนทั้งสิ้น 18,000,000 บาท (สิบแปดล้านบาทถ้วน)
อนึ่ง นายหลิว หย่ง เฉียง แอลเลิน (Mr. Lew Yoong Keong Allen ) สัญชาติสิงคโปร์ เคยดำรงตำแหน่งซีอีโอบริษัทด้านการสื่อสารยักษ์ใหญ่ และปัจจุบันเป็นหนึ่งในกรรมการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส
พร้อมกันนี้ ราชกิจจาฯ ยังได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศอีก 4 ราย
โดยมีเนื้อหาดังนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชททานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นเบญจมดิเรกคุณาภรณ์ให้แก่ชาวต่างประเทศ ในฐานะที่ได้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์ แก่ประเทศไทย
โดยเป็นผู้ริเริ่มให้มีการมอบทุนสนับสนุนค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าใช้จ่าย แก่นักศึกษาแพทย์สตรีในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็น การลดการขาดแคลนแพทย์ในชนบท โดยเริ่มมอบทุนการศึกษาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน
นับเป็นผู้มีคุณูปการต่อกระทรวงสาธารณสุขและประชาชนชาวไทย จำนวน 3 ราย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ดังนี้
1. นายจอร์จ นิโคลัส คิวเรอบี (Mr. George Nicolus Curuby ) บริจาคเงิน จำนวน 2,528,113.66 บาท เป็นทุนการศึกษา จำนวน 8 ทุน
2. นายเชลดัน เอ็ม สโตน (Mr. Sheldon M Stone) บริจาคเงิน จำนวน 10,320,761 บาท เป็นทุนการศึกษา จำนวน 21 ทุน
3. นางซินเทีย สโตน (Mrs. Cynthia Stone) บริจาคเงิน จำนวน 10,320,761.21 บาท เป็นทุนการศึกษา จำนวน 22 ทุน
ส่วนอีกราย คือ นายคริสท็อฟ ราโมเซอร์ (Mr. Christoph Ramoser ) ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยและการส่งเสริมนักวิจัยรุ่นเยาว์ กรมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงการศึกษา วิทยาศาสตร์และการวิจัย สาธารณรัฐออสเตรีย
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่ง มงกุฎไทย ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย ให้แก่ นายคริสท็อฟ ราโมเซอร์ (Mr. Christoph Ramoser ) ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยและการส่งเสริมนักวิจัยรุ่นเยาว์ กรมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงการศึกษา วิทยาศาสตร์และการวิจัย สาธารณรัฐออสเตรีย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564
ในฐานะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน และส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐออสเตรีย รวมทั้งเป็นผู้ผลักดันการจัดทุนการศึกษาและงบประมาณด้านการวิจัยภายใต้เครือข่ายความ ร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยในทวีปยุโรปกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEA -UNINET ) ให้แก่นักศึกษาและนักวิจัยชาวไทยอย่างต่อเนื่อง
คลิกอ่านฉบับเต็ม....
ข่าวที่เกี่ยวข้อง