
ตั้งงบ 1 พันล้านลอก "หนองหาน" ใช้เวลา 4 ปี-แก้แล้ง-น้ำท่วมถาวร
อุดรธานี - กรมน้ำตั้ง 1,000 ล้านบาทลอกหนองหาน ใช้ 4 ปีจัดการผักตบชวาและสวะ จากนั้นแบ่งพื้นที่เป็นสามส่วน ทั้งอนุรักษ์-ฟื้นฟูและพัฒนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมเจริญศรีแกรนด์ รอยัล เทศบาลนครอุดรธานี นายนิคม พงษ์ภมร ผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 3 เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ในการจัดทำร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งจัดโดย ม.ขอนแก่น และกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนักวิชาการ องค์กรผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำจากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมประชุม
นายนิคม กล่าวว่า เฉพาะในลุ่มน้ำโขงมีลุ่มย่อย 29 ลุ่มน้ำ ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นคือเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้ง ที่เป็นปัญหาซ้ำซากทุกปี จะต้องมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม ดังนั้น การเตรียมขุดลอกหนองหาน แหล่งชุ่มน้ำที่สำคัญของ จ.อุดรธานี ที่ครอบคลุมพื้นที่ อ.หนองหาน กุมภวาปี กู่แก้ว ประจักษ์ศิลปาคม ไชยวาน ศรีธาตุ และวังสามหมอบางส่วน จำนวนกว่า 2.8 หมื่นไร่ โดยขุดลอกเอาผักตบชวา สวะ ดิน ขึ้นมาเพื่อเพิ่มความจุน้ำภายในตัวของหนองหานจึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ
"ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการกำหนดรูปแบบการจัดการ โดยจะใช้เวลา 4 ปีดำเนินการ ใช้งบราว 1,000 ล้านบาท ซึ่ง ครม.อนุมัติงบเบื้องต้นปีงบประมาณ 2552 แล้ว 200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะอนุมัติปีต่อๆ ไป คาดจะลงมือได้เดือนพฤษภาคมหรือกลางปีนี้”
รศ.ดร.ประสิทธิ์ ประคองศรี ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยในฐานะได้รับมอบหมายให้ทำการวิจัยสิ่งแวดล้อม และผลกระทบของโครงการในพื้นที่ให้เสร็จภายใน 2 เดือน ดังนั้น จึงแบ่งส่วนพื้นที่ของหนองหานเป็น 3 ส่วน คือโซนอนุรักษ์ ส่วนนี้จะต้องเก็บรักษาเอาไว้ ไม่มีการขุดลอก เพื่อไว้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด และเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่วนพื้นที่ฟื้นฟู จะต้องฟื้นฟูสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวให้ดีขึ้น และโซนพัฒนาซึ่งเป็นส่วนต้องมีการขุดลอก ก็จะต้องมีรูปแบบในการขุดลอกอย่างเป็นระบบ