ข่าว

มะพร้าวหอมแดงกับเสถียรภาพรัฐบาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในยุคข้าวยากหมากแพง ทำให้ได้รับรู้ว่า ในแต่ละประเทศนั้น มีอาหารหรือพืชผักบางอย่าง ที่มีตำนานว่าสามารถแปลงร่างเป็นเผือกร้อนทางการเมืองสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลได้ ชนิดที่ว่าหากรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ อาจล่ม หรือเตรียมสอบตกในการเลือกตั้งสมัยหน้าได้เลย

      ช่วงสัปดาห์นี้ มีข่าวน่าสนใจจากสองประเทศในเอเชียใต้ คือมะพร้าวขาดตลาดในศรีลังการาคาพุ่ง กับหอมแดงในอินเดีย มีปัญหาขาดตลาดเช่นกันและทำให้ราคาถีบตัวขึ้นเป็นหลายเท่า 

       มะพร้าวในศรีลังกานั้น ได้ชื่อว่า ต้นไม้แห่งชีวิต เพราะประโยชน์หลายสถาน ผลของมะพร้าว ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารคาวหวานมากมาย ต้นมะพร้าวยังเป็นที่คุ้มภัยยามเกิดพิบัติธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิง และเป็นยา
 
       ยามใดที่มะพร้าวขาดแคลนราคาแพง จนชาวบ้านซื้อหากันลำบากนั้น เคยลุกลามเป็นปัญหาการเมืองใหญ่โต ทำให้รัฐบาลหลายชุดหลุดจากตำแหน่งมาแล้ว 

       บทเรียนนี้เองทำให้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพัฒนามะพร้าวของศรีลังกา ตัดสินใจงัดกฎหมายเก่าปี 2514 กลับมาใช้อีกครั้ง ด้วยการประกาศห้ามโค่นต้นมะพร้าวอย่างเด็ดขาด หากจำเป็นต้องโค่นเพราะมีเหตุผลบางอย่าง เช่น เป็นโรคพืช ก็จะต้องขออนุญาตเป็นกรณีไป นอกจากนี้ รัฐบาลยังกำหนดราคาขายปลีกมะพร้าว คิดเป็นเงินไทยตกลูกละ 8 บาท แต่เวลาขายในตลาดมืด ราคาจะพุ่งเกือบ 2 เท่า ตลอดจนต้องสั่งนำเข้ามะพร้าวจากอินเดียและมาเลเซียเป็นครั้งแรก เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนอีกด้วย 
 
     มะพร้าวเคยเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของศรีลังกา รองจากใบชาและยางพารา แต่อุตสาหกรรมมะพร้าวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะชาวสวนขายที่ดินให้แก่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังเจอโรคพืชต่างๆ ทำลายหลายพันต้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

       ส่วนที่อินเดีย หัวหอมกำลังเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้รัฐบาลนิวเดลี ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมันโมฮัน ซิงห์ แห่งพรรคคองเกรส นั่งไม่ติด เมื่อราคาที่เคยซื้อหากันกิโลกรัมละ 35 รูปี พุ่งเป็น 85 รูปี (ประมาณ 56 บาท) ในสัปดาห์เดียว เกือบจะเท่ากับราคาผลไม้แพงๆ อย่างมะม่วงแล้ว

       มีหลายปัจจัยด้วยกัน ที่ทำให้ชาวอินเดียเห็นราคาหอมตอนนี้แล้วแทบร้องไห้ อย่างแรกคือสภาพดินฟ้าอากาศ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ในรัฐแถบตะวันตกซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ทำให้ผลผลิตลดลงฮวบฮาบ และพ่อค้ากักตุนสินค้าโดยไม่กลัวคำขู่ของทางการว่าจะลงโทษสถานหนัก

       หัวหอมเป็นข่าวนำของรายการข่าวทีวีตลอดสัปดาห์ และเป็นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายวันติดต่อกัน ด้วยพาดหัวอย่างมีสีสัน เช่น "รัฐบาลพรรคคองเกรสตกซุปหัวหอม หอมแดง : ร่ำไห้ยาวถึงมีนาคม"

       รัฐบาลได้รับมือกับปัญหานี้เสมือนเป็นเรื่องเร่งด่วนระดับชาติ โดยออกคำสั่งห้ามส่งออกไปจนถึงกลางเดือนมกราคม เพื่อพยายามฉุดราคาให้ต่ำลงมา และลดภาษีนำเข้าเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลน

       นายกรัฐมนตรีมันโมฮัน ซิงห์ ส่งหนังสือด่วนตำหนิรัฐมนตรีเกษตรฯ และรัฐมนตรีกิจการผู้บริโภค และกำชับให้ทำทุกอย่างเพื่อควบคุมราคาหัวหอมให้ได้  

       นอกจากนี้ อินเดียยังหันหน้าไปพึ่งคู่ปรับตลอดกาลเพื่อนบ้านปากีสถานด้วย
  
 ส้มหล่นใส่สมาคมผู้ส่งออกผักและผลไม้ของปากีสถานที่ได้ออเดอร์ส่งออกหอมแดง 2,000-3,000 ตันไปยังอินเดียเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลน

       เหตุใด หอมแดงขึ้นราคาจึงทำให้ชาวอินเดียโกรธ และอาจทำให้รัฐบาลหลุดจากเก้าอี้ได้ ผู้ส่งออกคนหนึ่งก็สงสัยว่า ทำไม ผู้บริโภคไม่เคยเปรียบเทียบราคาหอมแดงกับพืชผักอย่างอื่นบ้าง ไม่มีผักชนิดไหนในตลาดค้าปลีก ที่ขายถูกกว่ากิโลกรัมละ 40 รูปีเลย
  
    หากดูจากมูลค่าทางเศรษฐกิจของผักใต้ดินหัวเล็กๆ ชนิดนี้แล้ว ไม่น่าจะสร้างปัญหาให้รัฐบาลได้ เพราะคิดเป็นแค่ 0.18% ของดัชนีราคาค้าส่ง ซึ่งเป็นตัวเลขหลักชี้วัดอัตราเงินเฟ้อของอินเดียเท่านั้น นอกจากนี้ นายสุพีร์ โกคาร์น รองผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย เชื่อว่าอีกไม่นาน สถานการณ์จะดีขึ้น เมื่อหัวหอมนำเข้า เริ่มเข้าสู่ตลาด และผลผลิตหัวหอมฤดูใหม่กำลังจะออกมา
 
      กระนั้น หัวหอมไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจล้วนๆ แต่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง
  
    ราคาหัวหอมที่พุ่งทะยานเมื่อปี 2531 เคยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคชาตินิยมฮินดู ภารติยะชนตะ ขณะนั้น เสียเก้าอี้ในการเลือกตั้งระดับรัฐมาแล้ว

       นักวิชาการแห่งกลุ่มวิเคราะห์เอเชียใต้ สถาบันนักคิดในกรุงนิวเดลี กล่าวว่า ความวิตกของรัฐบาลเรื่องหัวหอมขาดตลาด ไม่ได้ไร้เหตุผล หากรัฐบาลเจอการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ ต้องมีเสียที่นั่งกันบ้างแน่ 

       ปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียเผชิญปัญหารุมเร้าหลายอย่างโดยเฉพาะข้อครหาคอรัปชั่น ปัญหาหอมแดงขาดตลาดราคาพุ่ง กลายเป็นไม้เด็ดให้พรรคภารติยะชนตะ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ใช้โจมตีว่า เป็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาล และปล่อยให้พ่อค้ากักตุน ทั้งที่น่าจะทราบดีว่า ผักชนิดนี้มีความสำคัญขนาดไหน 

       แล้วหอมแดงสำคัญขนาดไหน ก็ขนาดว่าเป็นผักที่ครัวอินเดียหลายร้อยล้านแห่งจะขาดเสียมิได้เลย เพราะใช้ในการปรุงอาหารเกือบทุกอย่าง
 
     หากมองในแง่สังคมแล้ว ยังมีมุมน่าสนใจด้วยว่า หัวหอมเป็นผักที่ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ อาหารจานน้อยด้อยราคาของคนจนหรือกรรมกร จะเหมือนขาดอะไรไปหนึ่งหากผู้กินยังไม่ได้เคี้ยวหอมสักหนึ่งคำ ส่วนอาหารคนรวย ก็จะต้องมีหัวหอมเป็นส่วนประกอบในน้ำแกง น้ำหมัก อาหารทอดหรือตกแต่งเพิ่มรสชาติทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นถือว่าไม่สมบูรณ์

       ยังมีความเชื่อในทางการแพทย์พื้นบ้านว่า หัวหอมช่วยลดความเป็นกรดได้ และชาวอินเดียจำนวนมากเชื่อว่า หอมช่วยลดความร้อนในร่างกายในหน้าร้อน และป้องกันเชื้อราในหน้าฝน

       ในสมัยโบราณ หญิงม่ายฮินดูเคยต้องเก็บหอมแดงไปให้ห่างๆ หลังสามีตาย เพราะเชื่อว่ากลิ่นของหอมแดง มีคุณสมบัติกระตุ้นความต้องการทางเพศได้

       ปัจจุบัน ร้านอาหารหลายแห่งเลี่ยงใช้หอมแดงและปรับไปใช้ผักอื่นที่ราคาถูกกว่าแทน เช่น ร้าน เดอะ โค้ด ในกรุงนิวเดลี ที่หันไปใช้หัวไชเท้าในอาหารบางอย่างแทนหัวหอม และจะรอจนกว่าให้ราคาปรับตัวลงอีกอย่างน้อย 40% จากระดับปัจจุบัน ถึงจะกลับไปปรุงอาหารแบบเดิมได้ ไม่งั้นก็อยู่ไม่ไหว  

       เชฟและนักเขียนเรื่องอาหาร พยายามคิดค้นเคล็ดลับให้แก่คุณแม่บ้านว่า จะดัดแปลงแก้ไขอาหารจานต่างๆ อย่างไรดีในยุคหอมแดงแพงหูฉี่

       เชฟคนหนึ่งแนะนำว่า สำหรับผู้ที่ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ให้ลืมอาหารอินเดียไปชั่วคราว ถือเสียว่าช่วงนี้เป็นโอกาสลิ้มลองรสชาติอาหารยุโรป หรืออาหารชาติเอเชียอื่นๆ ไปก่อน หากทำอาหารกินเองที่บ้าน ก็ให้ใช้มะเขือเทศแทน 

       แต่สำหรับคนรักหอมแดงแล้ว ส่ายหัวแล้วบ่นว่า ยากจะหาอะไรมาทดแทนได้

บายไลน์ อุไรวรรณ นอร์มา
ที่มาข้อมูล : บีบีซี, วอลล์สตรีท เจอร์นัล

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ