นายกฯประชุมนำคนไทยออกจากอิสราเอล - ดิ้นพาไปพักพิงประเทศที่สามรอส่งกลับ
นายกรัฐมนตรีประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินใน "อิสราเอล" ที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเมินการอพยพคนไทย ขึ้นเครื่องบินวันละ 200 คน เข้าข่ายไม่ทันการณ์ เบื้องต้นหาทางออก นำพาแรงงานไทยไปประเทศที่ 3 พักรอ เดินทางกลับประเทศไทย เตรียมเจรจาเอกอัครราชทูตอิสราเอล หาทางช่วยไทย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินต่อสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล หรือ Rapid Response Center : RRC ที่กระทรวงการต่างประเทศ มีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม สาระสำคัญ คือความพยายามในการช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล อย่างไรก็ตามการอพยพขณะนี้ ยังมีความล่าช้า และมีปัญหาในการทำการบิน เพราะถือเป็นเที่ยวบินพิเศษ ต้องผ่านน่านฟ้าถึง 10 ประเทศ ต้องใช้เวลากว่า 1 เดือน ในการขอผ่านน่านฟ้าประเทศต่าง ๆ
กระบวนการในส่วนนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เร่งดำเนินให้แล้วเสร็จภายใน 48 ชั่วโมง จึงได้สั่งการให้ทุกเที่ยวบินของไทย เตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ (12 ต.ค.) ซึ่งรวมไปถึงสายการบินพาณิชย์ ทั้งนกแอร์ จำนวน 2 ลำ, แอร์เอเชีย 2 ลำด้วย ส่วนการบินไทยในวันพรุ่งนี้ (13 ต.ค.) จะได้คำตอบว่า จะสามารถส่งเครื่องบินมาช่วยภารกิจได้หรือไม่ เพราะสายการบินไทย ไม่มีเที่ยวบินไปกรุงเทลอาวีฟ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการหาแนวทาง อาจให้เครื่องบินไปรอประเทศใกล้เคียงที่มีเส้นทางการบินก่อน และรออพยพคนไทยกลับมาหลังจากมีการเคลื่อนย้ายออกมาจากพื้นที่อีกครั้ง
.
เร่งรัดหาทางอพยคนไทยให้เร็วขึ้น
.
สำหรับคนไทยใน อิสราเอลทราบว่า เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ สามารถนำคนไทยในพื้นที่มายังพื้นที่ปลอดภัย เพื่อเตรียมการอพยพกลับประเทศได้ ประมาณวันละ 200 คน หรือถือเป็นวันละเที่ยวบิน ซึ่งต้องใช้เวลานานนับเดือนกว่าจะอพยพหมด จึงจะมีการหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้การอพยพรวดเร็วขึ้น เช่น การขนแรงงานไทยไปประเทศที่ 3 เพื่อพักรอก่อนเดินทางกลับประเทศไทย แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องเอกสารหนังสือการเดินทางของแรงงาน ที่บางคนหนังสือเดินทางหาย หรืออยู่กับนายจ้าง ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านแดนได้
ดังนั้น จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่จากไทย และสถานทูตใกล้เคียงไปช่วยงานเอกสารต่าง ๆ เพิ่มเติม ยืนยันว่า ปัญหางานเอกสารต่าง ๆ ทั้งแรงงานไม่มีหนังสือเดินทางติดตัว หรืองานเอกสารต่าง ๆ จะต้องเป็นเรื่องรอง ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของแรงงานเป็นสูงสุด และจะต้องนำคนไทยกลับมาให้ได้ ส่วนการอพยพคนไทยออกมาทางบก พบปัญหาที่จะต้องผ่านพื้นที่ฉนวนกาซาก่อน ซึ่งอันตราย ทางเรือก็อาจติดปัญหาที่จะต้องผ่านพื้นที่อันตรายเช่นเดียวกัน ทำให้การขนส่งทางเครื่องบินเป็นทางออกเดียว
.
นายกฯ สลดไทยไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งแต่คนไทยสังเวยชีวิต
.
"การเจรจาเพื่อขอให้มีการปล่อยตัวประกันที่เป็นคนไทยนั้น มีการเจรจาอย่างตลอดเวลาทุก ๆ ช่องทางที่สามารถทำได้ โดยไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด และยังมีความหวัง เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศคู่ขัดแย้ง แต่ก็เป็นเรื่องที่เสียใจที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศคู่ขัดแย้ง แต่กลับมียอดผู้สูญเสียสูงสุด และเชื่อว่า หลาย ๆ ประเทศจะให้ความเห็นใจประเทศไทย และอนุญาตให้ผ่านน่านฟ้า เพื่อช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล"
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายร่างคนไทยผู้เสียชีวิตในอิสราเอล โดยยอมรับเข้ากังวลของใจญาติ เพื่อนำมาประกอบพิธีทางศาสนา และรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ ได้พยายามกดดันทางการอิสราเอลตลอด แต่ยังจะต้องรอทางการอิสราเอลชันสูตร เพื่อให้สามารถออกหลักฐานรับค่าชดเชยกรณีการเสียชีวิตได้ กระทรวงการต่างประเทศ จะพยายามติดตามให้ดีที่สุด
.
จี้อิสราเอล ช่วยเจรจาปล่อยตัวประกัน- ลำเลียงผู้เสียชีวิต
.
" รัฐบาลจะหารือกับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ในวันพรุ่งนี้ (13 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล จะขอความเห็นใจในการให้ความช่วยเหลือ เพราะประเทศไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุด จะขอให้ทางการอิสราเอล ช่วยเจรจาปล่อยตัวประกัน การลำเลียงผู้เสียชีวิต และการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่อันตรายสู่สนามบินเพื่อเตรียมอพยพกลับ รวมถึงการขอเปิดน่านฟ้า เพื่อให้เครื่องบินสามารถไปรับคนไทยกลับมาได้ นอกจากนั้นจะขอให้ดูแลแรงงานไทยในพื้นที่ และยังถูกนายจ้างบังคับให้ทำงาน ทั้งที่ยังอยู่ในภาวะสงคราม ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย " นายเศรษฐา กล่าว
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินต่อสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ณ กระทรวงการต่างประเทศ
.
ขอขอบคุณภาพจาก thaigovt
.