ข่าว

รู้จัก 'โมชาฟ-คิบบุตซ์' ชุมชนเกษตร 'แรงงานไทย' ใน อิสราเอล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จัก 'โมชาฟ-คิบบุตซ์' ชุมชนเกษตร พื้นที่สีเขียว ท่ามกลางทะเลทราย 'อิสราเอล' ที่ 'แรงงานไทย' ไปขายฝัน ยึดครองกว่า 95%

“อิสราเอล” เป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่มี “แรงงานไทย” หอบฝันข้ามแดนไปทำงาน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร และด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่ของอิสราเอล เป็นดินแดนที่ค่อนข้างแห้งแล้ง จึงต้องอยู่รวมกันเป็นชุมชน ในรูปแบบนิคมเกษตร ที่เรียกว่า “โมชาฟ-คิบบุตซ์” ซึ่งมีระบบการบริหารชุมชนต่างกัน

ชุมชนเกษตร โมชาฟ-คิบบุตซ์ ในอิสราเอล

ความแตกต่างระหว่าง “โมชาฟ-คิบบุตส์”

 

 

“โมชาฟ” มีลักษณะเป็นหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร และปกครองตนเองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีสมาชิกแต่ละแห่งประมาณ 60-100 ครอบครัว สามารถมีฟาร์มของตนเอง หรือทำร่วมกัน มีบ้านของตนเอง วัสดุอุปกรณ์เพื่อประกอบอาชีพที่มีราคาแพง จะเป็นทรัพย์สินร่วมกันของโมชาฟ โดยโมชาฟรับภาระด้านการจัดหาตลาด และจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ให้แก่สมาชิก เพื่อจะได้ราคาที่ถูกต้อง และใช้ประโยชน์ร่วมกัน

 

 

“คิบบุตส์” เป็นฟาร์มเกษตร ที่บริหารชุมชนด้วยระบบคอมมูน สมาชิกคิบบุตส์เป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน และได้รับการแบ่งปันผลกำไรตามผลงานที่ทำได้

ชุมชนเกษตร โมชาฟ-คิบบุตซ์

ปัจจุบัน มีคนไทยไปใช้แรงงานเป็นเกษตรกรใน “โมชาฟ-คิบบุตซ์” หรือนิคมเกษตรกรรมของอิสราเอล ที่มีทั่วประเทศประมาณ 600-700 แห่ง ตามภูมิภาคต่างๆ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ประมาณกันว่า ทั่วทั้งอิสราเอล มีแรงงานไทยทำงานเป็นเกษตรกร อยู่เกือบ 26,000 คน

 

 

กระทรวงแรงงาน เปิดเผย รายได้ของแรงงานไทยในอิสราเอล เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 55,000 บาทต่อเดือน เป็นระบบการจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ โดยแรงงานจะสามารถเดินทางไปทำงานได้เพียง 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 ปี 3 เดือน

แรงงานไทยในอิสราเอล

 

ทำไมแรงงานไทยไปอิสราเอล

 

นักวิชาการ ระบุว่า ส่วนใหญ่ชาวอิสราเอล หรือ ชาวยิว ไม่อยากเผชิญกับการทำงานหนัก ท่ามกลางอากาศร้อนและแห้งแล้งในฤดูร้อน และอากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว เลยต้องใช้นโยบายอิมพอร์ตแรงงานไทย ไปเป็นเกษตรกรประจำฟาร์ม โดยหน้าที่ส่วนใหญ่ของแรงงานไทย ในฟาร์มเกษตรแบบ “โมชาฟ” หรือ “คิบบุตซ์” มีตั้งแต่เตรียมสถานที่ สร้างโรงเรือน คลุมพลาสติก เตรียมแปลงปลูก ปรับสภาพ ลงมือปลูก ไปจนกระทั่งถึงดูแลรักษา รดน้ำ ให้ปุ๋ย เก็บเกี่ยว ล้างทำความสะอาด บรรจุใส่บรรจุภัณฑ์ และใส่กล่องเตรียมส่งไปจำหน่าย

 

 

จากข้อมูลพบว่า สัดส่วนของแรงงานต่างชาติในอิสราเอล ได้รับอนุญาตให้ทำงาน 4 สาขา ได้แก่ ภาคเกษตร ซึ่งแรงงานไทยถือครองตำแหน่งงานในสาขานี้มากที่สุด ถึงกว่าร้อยละ 95, ภาคบริการและร้านอาหาร คนไทยครองตำแหน่งเป็น Chef และ Cook มากที่สุดถึงร้อยละ 95 ในร้านอาหารไทย จีน และญี่ปุ่น, ภาคก่อสร้าง แรงงานชาติโรมาเนีย จีน และตุรกี ถือครองตำแหน่งมากที่สุด และภาคดูแลคนชราและผู้พิการ แรงงานฟิลิปปินส์ ถือครองตำแหน่ง ร้อยละ 95

 

 

ปัจจุบัน “คิบบุตซ์” มีอยู่ประมาณ 270 แห่งในอิสราเอล หากรวม “โมชาฟ” คาดว่า อาจอยู่ที่ 600-700 แห่ง ซึ่งแรงงานไทยจะเข้าไปทำงานในพื้นที่เหล่านี้ บางแห่งมีร้านอาหารไทย หรือร้านขายของชำ ที่ขายสินค้าจากไทยด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่า ใน “โมชาฟ-คิบบุตซ์” จะเต็มไปด้วย “แรงงานไทย”

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูล : อิสราเอล :: ดินแดนที่น่าสนใจ, กระทรวงแรงงาน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ