ข่าว

กางเกงยีนส์ "ลีวายส์” จากศตวรรษที่ 19 ขุดเจอในเหมืองร้าง ราคาทะลุ 3.3 ล้าน  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ซื้อบ้านได้หนึ่งหลัง กางเกงตัวเดียว แต่เพราะเป็นยีนส์ "ลีวายส์" ในตำนาน อายุ 140 ปี เจอในเหมืองร้าง เคาะประมูล 3.3 ล้าน 

 


กางเกงยีนส์ ลีวายส์ จากคริสต์ทศวรรษ 1880  ที่พบในเหมืองร้างแห่งหนึ่งแถบตะวันตกสหรัฐอเมริกา ถูกนำออกประมูลภายในงาน  Durango Vintage Festivus ชานเมืองอัซเทค เมืองเล็ก ๆ ในรัฐนิวเม็กซิโก  เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ปรากฎว่า  ไคล์ เฮาต์เนอร์ วัย 23 ปี  กับ ซิป สตีเวนสัน ผู้คร่ำหวอดในตลาดเดนิมวินเทจ  ควักกระเป๋าซื้อไปด้วยราคาสูง 76,000 บวกค่าธรรมเนียมผู้ซื้อ 15%  รวมเป็น  87,400 ดอลลาร์สหรัฐ  (ราว 3.32 ล้านบาท )  นับเป็นราคากางเกงยีนส์สูงที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีการซื้อขายมาเลยทีเดียว  โดยสตีเวนสัน ชาวเมืองซานตา โรซา และเจ้าของ Denim Doctors. บริษัทเสื้อผ้าแนววินเทจ ที่เปิดมานานเกือบ 30 ปี ออกเงินซื้อ 10%  ส่วน เฮาต์เนอร์  หุ้นส่วนที่ทำธุรกิจแนวเดียวกัน จ่าย 90% 

 

สตีเวนสัน  บอก CNN ว่า ตัวนี้หายากสุด ๆ  โดยเฉพาะขนาดและสภาพอันน่าทึ่ง   เขาได้ยินเรื่องยีนส์ลีวายตัวนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว  ตั้งแต่แรก ๆ ที่  ไมเคิล แฮร์ริส ผู้เรียกตนเองว่า นักโบราณคดีเดนิม ขุดพบ  แฮร์ริสออกสำรวจเหมืองร้างมาแล้วอย่างน้อย 50 แห่ง และยังไม่เคยพบกางเกงยีนส์ตัวไหนคุณภาพเท่าตัวนี้  มีเพียงสองตัวที่คล้ายกันแต่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ และยุ่ยจนสวมใส่ไม่ได้  แต่ตัวนี้ทนทานอย่างน่าทึ่ง ยังสวมใส่ได้แน่นอน  อาจมีบางจุดที่ซ่อมเสริมได้   

 

ยีนส์ "ลีวายส์” จากศตวรรษที่ 19 ขุดเจอในเหมืองร้าง เคาะประมูล 3.3 ล้าน  

ภาพ @denimdoctors

 

น้อยครั้งมากที่จะมียีนส์รุ่นหายากระดับนี้ และนักสะสมเสาะแสวงหา ออกมาประมูล ความพิเศษของลีวายส์กว่า 3.3 ล้าน นอกจากสภาพยังสวมใส่ได้แม้เวลาล่วงเลยมาร่วม 140 ปี บนเนื้อผ้ายังมีร่องรอยไขจากเทียน ที่ชาวเหมืองใช้ส่องสว่างในอุโมงค์แคบ ๆ  กับรูปแบบรายละเอียดของยีนส์ในยุคนั้น เช่น กระเป๋าหลังข้างเดียว  แถบผ้าตามแนวรัดเข็มขัด  กระดุมติดสายเอี๊ยม

 

 

ยีนส์ ลีวายส์ ราคา 3.3 ล้าน ภาพ @denimdoctors

 

นอกจากนี้  ที่กระเป๋าด้านใน  ยังพิมพ์ข้อความที่ฉายด้านมืดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกา ว่า  “The only kind made by white labor” หรือ ผลิตโดยแรงงานผิวขาว   วอลล์สตรีทเจอร์นัล ได้รับคำอธิบายจากโฆษกลีวายส์ ว่า บริษัทเคยใช้สโลแกนนี้ หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ  ออกกฎหมาย Chinese Exclusion Act  ในปี ค.ศ. 1882   ห้ามแรงงานชาวจีนเข้าสหรัฐอเมริกานาน 10 ปี  ในยุคเหยียดเชื้อชาติระบาดหนักและรุนแรง  ทั้งที่แรงงานชาวจีนมีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจ  บริษัทมีแนวคิดว่า การพิมพ์คำขวัญ ทำโดยแรงงานผิวขาว จะช่วยเพิ่มยอดขาย สอดคล้องกับทัศนคติผู้บริโภคในยุคนั้น  นโยบายดังกล่าวดำเนินต่อเนื่องจนเข้าสู่คริสต์ทศวรรษที่ 1890  ก่อนยกเลิก  และรัฐสภาสหรัฐเพิกถอนกฎหมายเหยียดเชื้อชาติฉบับนี้ ในปี 1943 ลีวายส์ ยืนยันว่า ในวันนี้ บริษัทยึดมั่นหลักความเสมอภาคอย่างแท้จริง และต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติทุกรูปแบบ 

.”
 

 

สำหรับยีนส์ลีวายส์ที่ประมูลมา  เจ้าของใหม่กำลังคิดว่า อาจนำไปเสนอขายผู้ซื้อที่สนใจจริง ๆ  แต่ในใจอยากให้ถูกซื้อเพื่อนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์มากกว่า  ระหว่างนี้ ลีวายส์จากศตวรรษที่ 19 จะถูกเก็บไว้ในกล่องนิรภัยในแอลเอ เปิดให้เข้าชมได้ตามนัดหมาย 


 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/   

---------------------------------------------------------------------
 

โอกาสดีๆ ยังมีต่อ!!

ขยายระยะเวลาในการส่งผลงานเป็น 31 ต.ค 65 นี้ 
เนื่องจาก มีผู้ร่วมส่งผลงาน request เข้ามาอย่างต่อเนื่อง 
สำหรับ The Influencer Challenge Contest 2022  

สนใจร่วมส่งผลงานประกวด สามารถ Scan QR Code เพื่อดูรายละเอียด หรือ ไปที่ 
https://nregister.nationgroup.com/NTCONTEST/register.php 

 

กางเกงยีนส์ "ลีวายส์” จากศตวรรษที่ 19 ขุดเจอในเหมืองร้าง ราคาทะลุ 3.3 ล้าน  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ