
ถกเดือด นายจ้างยกเลิกรับฝึกงาน หลังนศ.ขอ "สัมภาษณ์งานออนไลน์" แทนไปออฟฟิศ
เจ้าของบริษัทในสิงคโปร์ นัดสัมภาษณ์นศ.ฝึกงานที่ออฟฟิศ แต่อีกฝ่ายขอสัมภาษณ์ออนไลน์ เลยตัดสินใจยกเลิกเลยแล้วกัน จุดประเด็นถกเดือด มีทั้งทีมนศ.และทีมนายจ้าง
Jeffrey Koh เจ้าของบริษัทออกแบบในสิงคโปร์ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อ 15 กันยายน บอกเล่าถึงประสบการณ์การให้โอกาสนักศึกษาหญิงคนหนึ่ง ฝึกงาน ก่อนตัดสินใจยกเลิกแบบปุบปับ หลังจากที่อีกฝ่ายร้องขอสัมภาษณ์งานออนไลน์ ( Virtual Interview สัมภาษณ์งานแบบเปิดกล้องและเห็นหน้า ) แทนที่จะเข้าไปสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว โดยภาพบันทึกการสนทนาสองฝ่ายจากหน้าจอ เผยให้เห็นว่าตอนแรก นักศึกษาชื่อ ซาราห์ ตกลงไปสัมภาษณ์ตามเวลาและสถานที่ที่อีกฝ่ายแจ้งนัดหมาย แต่ 19 นาทีต่อมา เธอเขียนไปถามว่า เป็นไปได้ไหมที่จะสัมภาษณ์แบบออนไลน์แทน Koh ตอบใน 5 นาทีว่าไม่เห็นด้วย ถ้าไม่มาก็ไม่เป็นไร นักศึกษายังไม่ตอบกลับมา นายจ้างส่งข้อความหลังผ่านไป 3 นาที ว่าคิดอีกที ยกเลิกนัดสัมภาษณ์เลยดีกว่า
เจ้าของบริษัทรายนี้ ระบุว่า ซาราห์ไปฝึกงานอีกแห่งหนึ่งได้วันเดียวแล้วไม่ไปอีก โดยอ้างว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นพิษ แต่เขาก็ให้โอกาสมาฝึกงานที่บริษัท ท้ายโพสต์ เจ้าของบริษัทรายนี้ระบุด้วยว่า “ซาราห์ คือเหตุผลที่ชัดมากว่าทำไมผมถึงอ้าแขนรับชาวต่างชาติที่กระหายและขยันทำงานที่นี่ ..(สบถด่า) กฎหมายและระเบียบทั้งหลายที่ปกป้องให้สิทธิชาวสิงคโปร์”
Koh ระบุด้วยว่าหากทัศนคติแบบเขา จะถูกเรียกว่า บูมเมอร์ ก็แล้วแต่เลย
บูมเมอร์คือคนรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และในระยะหลัง เป็นคำที่คนรุ่นใหม่มักใช้เรียกเหยียดคนหัวเก่ารุ่นคุณลุงคุณป้า
โพสต์ของเจ้าของบริษัทรายนี้ กลายเป็นไวรัล ชาวเน็ตจำนวนมากเข้าข้างนักศึกษา ไม่คิดว่า คำร้องขอของเธอผิดตรงไหน เพราะยังพอมีเวลาที่จะถกกันได้ และ Koh ด่วนยกเลิกสัมภาษณ์ แทนที่จะปฏิเสธคำร้องขออย่างสุภาพ กลับนำมาประจานบนสื่อโซเชียล นอกจากนี้ ยังมีผู้แสดงความเห็นว่า การสัมภาษณ์ออนไลน์ในยุคโรคระบาด เป็นเรื่องปกติ และไม่ได้สะท้อนว่าผู้สมัครไม่ได้กระหายอยากทำงาน Koh ต่างหากที่ควรปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนไป และมีชาวเน็ตอีกคนที่ระบุว่า บรรยากาศในที่ทำงานของ Koh เป็นพิษ ดูจากการโต้ตอบกับผู้สมัครงาน ดีแล้วที่นักศึกษารายนี้รอดตัวไป
แต่ฝ่ายที่เข้าใจนายจ้างมองว่า Koh ให้โอกาสผู้สมัครแล้ว ทั้งที่อีกฝ่ายมีประวัติน่าสงสัยกรณีที่ฝึกงานอีกแห่งได้แค่วันเดียว แต่กลับไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นมากพอที่จะเดินทางไปสัมภาษณ์ หลายคนที่เห็นด้วยยังมองว่า ชาวสิงคโปร์รุ่นใหม่ไม่ได้พยายามมากพอ มีเงื่อนไขเยอะแต่ไม่มีความรู้ความสามารถมาแลกกับนายจ้าง ทั้งมองชาวต่างชาติอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเพราะมีแรงขับในการทำงานมากกว่า
Koh วัย 49 ปี ให้สัมภาษณ์กับ AsiaOne ว่า เหตุผลที่เขาต้องการสัมภาษณ์ผู้สมัครแบบตัวต่อตัว เพื่อจะได้ประเมินภาษากายและอื่น ๆ ไปด้วย และให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า นักศึกษารายนี้อีเมล์หาเขาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ว่าเธอต้องหาที่ฝึกงาน เริ่ม 12 ก.ย. เขาตอบกลับใน 1 หรือสองสัปดาห์หลังจากนั้น แต่อีกฝ่ายไม่ตอบกลับ จึงคิดว่าเธอคงไม่สนใจแล้ว หรืออาจได้บริษัทอีกแห่ง แต่เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ได้รับอีเมล์อีกฉบับจากนักศึกษาคนเดียวกันถามว่า ยังรับนักศึกษาฝึกงานหรือไม่ เขาประหลาดใจแต่ก็ติดต่อไปในเย็นวันเดียวกัน เธอแจ้งว่าบริษัทที่ฝึกงานอยู่มีปัญหากฎหมายบางอย่างและพบว่าวัฒนธรรมการทำงานไม่เหมาะกับเธอ เขาประหลาดใจ เพราะเธอทำงานแค่วันเดียว ถึงอย่างนั้น เขาถามว่าหากสนใจให้ไปสัมภาษณ์ในวันศุกร์ นัดเวลาและสถานที่ แต่แล้วก็เป็นเรื่อง อย่างที่เห็นในแชต
Koh ยืนยันว่า เขาไม่เปลี่ยนความคิดแม้ถูกต่อว่าหนักหลังจากที่บอกเล่าเรื่องนี้ และว่า “นี่มันเรื่องของความเป็นมืออาชีพ จงกระตือรือร้นเมื่อคุณได้รับโอกาสและซาบซึ้งว่าโชคดีแค่ไหนที่มีอาจารย์และสถาบันคอยช่วยเหลือ”