ข่าว

เหตุใดหญิงชราในกรุงโซลต้องออกมาเก็บกระดาษลังไปขาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เบื้องหลังภาพผู้สูงอายุในเมืองหลวงโซล ออกมาเก็บกระดาษลังขาย รายได้หนึ่งวันเท่ากับค่าจ้าง 1 ชม. 

 

โคเรีย เฮรัลด์   สื่อเกาหลีใต้ นำเสนอรายงานเพื่อตอบคำถามว่า เหตุใดในกรุงโซล เมืองหลวงประเทศติดอันดับก้าวหน้าที่สุดในโลก จึงพบเห็นหญิงชราออกมาเก็บกระดาษลังขาย โดยยกตัวอย่างเรื่องราวของ คุณยายอี ด๊อก จา วัย 74 ปี ที่ลากรถเข็นในย่านดองชอน ทางตะวันตกของโซล เก็บกระดาษลังท่ามกลางอุณหภูมิติดลบ 7 องศาเมื่อช่วงกลางเดือน ขณะนั้น เวลา 12.30 น. รถของเธอยังว่างเปล่า ซึ่งคุณยายอี กล่าวว่า เธอไปร้านรับซื้อขยะมา 3 รอบแล้วในวันนั้น 

รถเข็นจะหนักประมาณ 40 กก. คุณยายจะเก็บกระดาษครั้งละไม่มาก แล้วไปร้านรับซื้อวันละหลายหนแทนเก็บจนเต็มคันรถ ไปแต่ละครั้ง จะขายกระดาษได้ 1 พัน  2 พัน หรือ 3 พันวอน รวมแล้ววันหนึ่งหาเงินได้วันละหมื่นวอน (ประมาณ 280 บาท) ขณะค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลีใต้ ตกชม.ละ 8,720 วอน หญิงชราเริ่มงานตั้งแต่ตีห้าครึ่ง และเก็บกระดาษเรื่อยไปจนถึง 6 โมงเย็น 

ก่อนมาเดินเก็บขยะกระดาษขาย ย้อนไปราว 25 ปีก่อน คุณยายอีกับสามี เคยเปิดโรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่ธุรกิจล้มเหลว หนี้สินรุงรัง สามีเสียชีวิตเมื่อ 10 ปีก่อน เหลือตัวคนเดียว “ฉันมีลูก 4 คน แต่ไม่เคยได้เงินเลี้ยงดูจากพวกเขา ฉันไม่อยากเป็นภาระลูก จะทำแบบนี้จนร่างกายไม่ไหวนั่นแหล่ะ”คุณยายอีกล่าวพร้อมกับยิ้มน้อยๆ 

 

โซ จุน-ชอล ผู้เขียนหนังสือเรื่อง วิถีแห่งความจน (Path of Poor)  ที่เคยสัมภาษณ์หญิงชราเก็บกระดาษลังขาย 60 คน กล่าวว่า ไม่ทราบแน่ชัดว่าในกรุงโซล มีผู้สูงอายุจำนวนเท่าไหร่ที่เก็บกระดาษลังขายเลี้ยงชีพ  เพราะไม่ใช่ตำแหน่งงานเป็นเรื่องเป็นราว และไม่ได้อยู่ในบัญชีเงินเดือนของใคร หญิงชราจำนวนมากที่เขาสัมภาษณ์ คือคนที่ประสบพิษวิกฤติการเงินเอเชียช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ธุรกิจมากมายล้มระเนระนาดในช่วงนั้นและไม่เคยฟื้นตัวกลับมาอีกเลย แม้ว่ารายละเอียดแวดล้อมของแต่ละคนแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ที่ต้องออกถนนมาหารายได้แบบนี้ เพราะลำพังเงินบำนาญพื้นฐาน  ไม่พอยังชีพ

เกาหลีใต้จ่ายเบี้ยเลี้ยงชีพให้คนชราอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่อยู่ในกลุ่มยากจนที่สุด 70% ของผู้มีรายได้ต่ำ ปกติจะอยู่ที่เดือนละ 2 แสน – 3 แสนวอน (ราว 5,400-8,100 บาท) น้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในเมืองหลวง

โซ กล่าวว่า ไม่ใช่แค่กระดาษลัง พวกเธอเก็บทุกสิ่งอย่างที่นำไปรีไซเคิลได้ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก กล่อง หนังสือพิมพ์ หนังสือ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ไม้  ราคาแต่ละวันไม่เท่ากัน  ขยะกระดาษขายได้กก.ละ 40 วอน  ( 1 บาท) กระดาษลังเต็ม 1 รถเข็น อาจได้น้ำหนักประมาณ 200 กก. ก็จะหมายถึงรายได้ประมาณ 8,000 วอน (215 บาท)

เหตุใดหญิงชราในกรุงโซลต้องออกมาเก็บกระดาษลังไปขาย

Yonhap/Korea Herald 

 

ศ.คิม บอม-จุง จากภาควิชาสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยชอง-อัง ผู้เชี่ยวชาญสวัสดิการพลเมืองสูงอายุ กล่าวว่า เกาหลีใต้เป็นยักษ์เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 10 ของโลก แต่ความยากจนในกลุ่มผู้สูงอายุ สูงที่สุดในกลุ่มโออีซีดี ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว  รายงานฉบับล่าสุดของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเกาหลี ให้ตัวเลขปี 2561 ว่าอัตราความยากจนในกลุ่มผู้สูงอายุเกาหลี อยู่ที่ 43.4 % สูงกว่า 3 เท่าจากตัวเลขเฉลี่ยของโออีซีดีที่ 14.8% ซ้ำร้าย เกาหลีใต้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว สถิติปีที่แล้ว พบว่า ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มีจำนวน 8.12 ล้านคน หรือ 15.7% ของประชากรทั้งหมด และราวครึ่งหนึ่ง ไม่ได้เตรียมพร้อมกับการเข้าสู่วัยชรา

ผู้สูงอายุที่มีรายได้ประจำจากสินทรัพย์ทางการเงินหรืออสังหาริมทรัพย์ มีไม่ถึง 10%  ส่วนผู้ที่ได้มีรายได้จากกองทุนบำนาญ หรือผู้ที่เคยทำงานในบริษัท มีไม่ถึง 40%  หมายความว่า ที่เหลือ ก็น่าจะต้องอาศัยเบี้ยคนชราที่รัฐแจกให้เดือนละ 3 แสนวอน (ราว 8 พันบาท) หรือเงินเลี้ยงดูจากลูกที่นับวันก็จะลดลง  ทั้งหมดนี้ผลักดันผู้สูงอายุ รวมถึงคนไม่มีทักษะหรือประสบการณ์ในการทำงาน ต้องกลับไปทำงาน แต่ในประเทศที่แม้แต่งานสำหรับคนหนุ่มสาวยังต้องแย่งกัน ทางเลือกผู้สูงอายุเหลือไม่มาก พวกเขาอาจจะต้องทำงานบ้าน หรือต้องออกมาเก็บกระดาษลัง แม้รู้ว่าเป็นงานต่ำต้อย

ศ.คิม กล่าวว่า ความยากจนในกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นปัญหาที่ไม่มีทางออกได้ง่ายๆ ปัจจุบัน ประชากรกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากที่สุดอยู่แล้ว การเพิ่มบำนาญพื้นฐานและค่าจ้างในงานภาครัฐให้กับผู้สูงอายุ เป็นวิธีดีที่สุดเท่าที่ทำได้ในเวลานี้ ปัจจุบัน ภาครัฐจ้างพลเมืองสูงอายุทำงานจิปาถะ ให้ค่าจ้างประมาณเดือนละ 3 แสนวอน ส่วนใหญ่เป็นงานชั่วคราวหรือพาร์ทไทม์ แต่ก็มีผู้สนใจกว่า 8 แสนคน ยื่นใบสมัครงานที่มีอยู่ราว 6 แสนตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว 

ที่มา    Korea Herald

มุมหนึ่งในเกาหลีใต้คุณยายวัย82เก็บกระดาษขายยังชีพวันละ 60บาท

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ