
เรือดำน้ำจีนทำสถิติใหม่ของตัวเอง ดำลึก 10,909 เมตร มุ่งร่างแผนที่ขุมทรัพย์(ชมคลิป)
เรือดำน้ำของจีนดำดิ่งทำสถิติใหม่ของตัวเอง 10,909 เมตร ณ ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา มุ่งทำแผนที่ทรัพยากรใต้ทะเลลึก
เรือดำน้ำ เฟิ่นโต้วเจ่อ ( ผู้ไม่ย่อท้อ) ของจีน พร้อมลูกเรือ 3 คน ลงจอดบริเวณร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา ทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก จุดลึกที่สุดของโลก เมื่อเช้าวันอังคารที่ 10 พ.ย. หลังใช้เวลา 4 ชม. ดำดิ่งลงไปใต้น้ำที่ความลึก 10,909 เมตร จากนั้น ใช้เวลานานกว่า 6 ชม. เพื่อเก็บตัวอย่างจากใต้ทะเลลึก และบันทึกลักษณะภูมิทัศน์โดยรอบ
ภารกิจของเรือดำน้ำเฟิ่นโต้วเจ่อครั้งนี้ ทำลายสถิติของตัวเอง ลึกกว่าที่เคยดำลงไปคราวก่อน 18 เมตร แต่ยังไม่ทำลายสถิติโลกที่ วิคเตอร์ เวสโคโว มหาเศรษฐีนักสำรวจชาวอเมริกัน เคยทำไว้ด้วยการใช้เรือดำน้ำลงไปที่ความลึก 10,927 เมตร ณ ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา เมื่อเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว
กระนั้นเป้าหมายสำคัญในการส่งเรือดำน้ำสุดล้ำ ลงไปยังจุดลึกที่สุดของโลก ไม่ใช่เพื่อการสอบสวนทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก Ye Cong หัวหน้านักออกแบบเรือดำน้ำเฟิ่นโต้วเจ่อ กล่าวว่า พื้นมหาสมุทรอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อุปกรณ์ดำน้ำไฮเทคจะช่วยให้จีนร่างแผนที่สมบัติใต้ทะเลลึกได้
ขณะที่บัญชีผู้ใช้ WeChat ของพีเพิล เดลีย์ สื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จี เผยแพร่บททัศนะชิ้นหนึ่ง ว่าการสำรวจใต้ทะเลลึก มีความสำคัญยิ่งในการเพิ่มพูนความเข้าใจภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ เช่น เมื่อไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นเพิ่งค้นพบแร่หายากในมหาสมุทรแปซิฟิก ปริมาณที่สามารถนำมาใช้ได้มากกว่าบนโลกเป็นพันเท่า “พื้นมหาสมุทรคือโลกใหม่ หากเราไม่สำรวจโลกนี้ คนอื่นก็จะสำรวจมัน"
ปัจจุบัน จีนควบคุมการผลิตแร่ธาตุหายาก ส่วนประกอบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ไฮเทค เช่น สมาร์ทโฟน ระบบขีปนาวุธและเรดาร์ เป็นส่วนใหญ่ และพยายามรักษาความเป็นหนึ่งในด้านนี้ไว้ ไชน่า เดลีย์ รายงานว่านักธุรกิจจีนแห่แหนลงทุนในบริษัทแร่หายากในกรีนแลนด์ ในภูมิภาคอาร์กติก และเมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐบาลจีนเพิ่มโควต้าขุดแร่หายากมากเป็นประวัติการณ์ที่ 1.4 แสนตัน หรือประมาณ 140 ล้านกก.
แต่ขณะเดียวกัน จีนส่อเผชิญการแข่งขันจากหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เมื่อปี 2561 ประกาศค้นพบแหล่งแร่ธาตุหายากหลายล้านตันในโคลนใต้ทะเลลึกใกล้เกาะมินามิโตริ ในมหาสมุทรแปซิฟิก และปีเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า อินเดียเตรียมทุ่มกว่าพันล้านดอลลาร์ สำรวจพื้นมหาสมุทรกว้างใหญ่ เพื่อค้นหาแร่ธาตุหายากหรืออื่นๆที่อาจนำมาใช้เช่นกัน