ข่าว

อัปเดตโควิด-19 แล้ว อย่าลืมเช็กสติ กลัวมากไปหรือน้อยไปไม่ดี

อัปเดตโควิด-19 แล้ว อย่าลืมเช็กสติ กลัวมากไปหรือน้อยไปไม่ดี

21 มี.ค. 2563

ยากที่จะไม่วิตกกับสถานการณ์โควิด-19 ในเวลานี้ แต่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปไม่เกิดประโยชน์ 


 

                   สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย เดินทางมาถึงจุดที่หลายคนตื่นกลัวกันอย่างหนัก หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดดแทบทุกวัน ล่าสุดเพิ่มวันเดียว 89 ราย ยอดสะสม 411 รายแล้ว อีกทั้งมีแนวโน้มว่าเราจะต้องเจอกับเส้นกราฟจำนวนผู้ป่วยชันขึ้นเรื่อยๆ


 

                    กระนั้น หากปล่อยให้ความกลัวและตื่นตระหนกครอบงำ ไม่ได้เป็นผลดีกับทั้งตัวเราและสังคมอย่างแน่นอน ลองสำรวจตัวเองว่าเรากังวลมากเกินไปหรือน้อยเกินไปหรือไม่ 

 

                     นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข  แบ่งหมวดคนในสังคมไทยในเวลานี้ออกเป็น 3 กลุ่ม  ได้แก่ 

 

1.กังวลน้อยไป 


                     จากการพบเห็นคนเกือบครึ่งหนึ่งยังไม่สวมหน้ากากป้องกันตัว ซึ่งอันที่จริงแล้ว หน้ากากผ้า หาซื้อได้และใช้ได้หลายครั้ง หรือการที่ยังคงเข้าไปในสถานบริการ หรือไปดูมวย โดยไม่ได้ป้องกันตัว กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องช่วยกันดู เพราะเป็นพฤติกรรมที่จะก่อปัญหาการติดเชื้อมากขึ้นอีกในสังคม  

 

2. กังวลมากไป   รวบรวมจากกรณีศึกษา 4 เรื่อง  

 

1. กลัวตัวเองติดเชื้อ..ก็เลยไปตรวจทั้งที่ไม่มีอาการ  เพิ่มความหนาแน่นแก่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น 
2. กลัวคนอื่นนำเชื้อมาติด ...นำไปสู่ความรู้สึกรังเกียจ ทั้งที่เราป้องกันตนเองได้ 
3 .อาหารหมด ...ออกไปซื้อกักตุน ทั้งที่ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหาร 
4. หน้ากากหมด ....พยายามหาซื้อหน้ากากอนามัย ทั้งที่เพื่อการป้องกันตัวเอง  หน้ากากผ้าก็เพียงพอและใช้งานได้หลายครั้ง  

 

                     นพ.ยงยุทธ เตือนว่า การกลัวมากเกินไป และใช้เวลารับรู้ข่าวสารนานเกินไป ทำให้สุขภาพจิตเสีย นอนไม่หลับ  เมื่อสะสมหลายวันหรือเป็นสัปดาห์เข้า จะกลายเป็นความเครียด ต่อเนื่องถึงสุขภาพกาย เพราะเมื่อเครียด ภูมิคุ้มกันก็จะตก 

 

3. กังวลพอดี  ซึ่งก็คือเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุข พูดมาตั้งแต่ต้นว่า ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก  

                     ตระหนัก ในทางจิตวิทยา คือการตระหนักในตนเอง รู้ว่าควรป้องกันตนเองอย่างไร นั่นคือการป้องกันพื้นฐาน ล้างมือ สวมหนากาก ไม่ไปสถานที่แออัด 


                    หากเกิดความตระหนก นั่นก็คือความกลัวใน 4 เรื่องข้างต้น อาจทำให้การระวังตนเองมีความสำคัญน้อยลง  แต่ไปเน้นพฤติกรรมอื่นแทน สุดท้ายก็เกิดปัญหากับสังคมได้ 

 

                    คุณหมอทิ้งท้าย ให้ลองจัดหมวดตัวเองว่าอยู่กลุ่มไหน กังวลน้อยไป ก็ควรเปลี่ยน มากไปก็อาจทำร้ายตัวเองและกระทบสังคม... แต่ถ้าอยู่กลุ่มกังวลพอดี ก็จะกลายเป็นกำลังสำคัญ นอกจากช่วยเหลือตัวเองแล้ว ยังช่วยเหลือคนอีกสองกลุ่มได้ด้วย แต่ถ้าอยู่กลุ่มกังวลพอดี ก็จะกลายเป็นคนสำคัญ นอกจากช่วยเหลือตัวเองแล้ว ยังช่วยเหลือคนอีกสองกลุ่มได้ด้วย