ข่าว

ตัวเลขผู้ติดเชื้อ-หายกลับบ้านได้-ยังอยู่รพ.บอกอะไรกับเรา 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การแถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 แต่ละวัน ตัวเลขมีความหมายอย่ามองผ่าน รับข่าวสารควรโฟกัสอะไรบ้าง รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนวิกฤตินี้อาจยืดเยื้อ ความเข้าใจเท่านั้นที่จะช่วยให้รอด 

 

 

                            ท่ามกลางความหวาดกลัวและกังวลกับโรคโควิด-19 ข่าวสารและข้อมูลที่แชร์กันทางสื่อสังคมออนไลน์ ในความเห็นของ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มองว่า ยังคงเต็มไปด้วยข่าวที่รู้แล้ว ไม่อาจนำไปใช้ในการจัดการความเสี่ยงของตัวเองได้ และขอให้ประชาชนโฟกัสกับข้อมูลและตัวเลข ที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติตัวและบริหารความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง  

 

 

                            อย่างตัวเลขผู้ติดเชื้อและหายป่วย ที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงในแต่ละวัน  ล่าสุดวันนี้ ไทยมีผู้ป่วยสะสม 50 คน เสียชีวิต 1 คน ยังรักษาในรพ. 16 คน หายป่วยกลับบ้านแล้ว 33  นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่รักษาหายและกลับบ้านได้  

 

                         ที่สำคัญใน 33 คนนี้ มีคนใช้ยาต้านไวรัสจริงๆน้อยมาก แสดงให้เห็นว่าโรคโควิด-19 หายได้เองโดยไม่ต้องได้รับยาต้านไวรัส   เช่นเดียวกับต่างประเทศ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80-90% หายได้เอง ไม่ได้รับยาต้านไวรัสชาย-หญิงไม่มีใครเสี่ยงสูงกว่ากัน 

 

                            นพ.ธนรักษ์ ยืนยันว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19  ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส เว้นผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ต้องรับไว้ในรพ. แม้ความรุนแรงของโรคไม่มาก  สาเหตุที่ว่า ทำไมต้องรับรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 50 คน เพราะเรายังรู้จักโรคนี้น้อย  ประกอบกับความสำคัญในนาทีนี้คือต้องป้องกันผู้ป่วยไปแพร่เชื้อที่อื่น การให้อยู่ในห้องแยกของรพ. คือการปิดความเสี่ยงที่คนคนนั้นจะไปแพร่เชื้อต่อในสังคมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 

 

                            กระนั้น ผู้ป่วยที่รับไว้ดูแลในรพ.เวลานี้ ส่วนใหญ่ อาการไม่รุนแรง หากเป็นโรคอื่นที่มีความเสี่ยงแพร่โรคต่ำ อาจไม่ต้องรับไว้ในรพ.ด้วยซ้ำไป 

 

                            รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนด้วยว่า ความกลัวโรคโควิด-19 ที่สะท้อนออกมาในหลายรูปแบบ ทั้งการตีตราและรังเกียจ มีความรุนแรงมากขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขอยกถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีหลี่ เซียงหลงของสิงคโปร์ ที่ว่า ความกลัวและตื่นตระหนกอันตรายต่อสังคมยิ่งกว่าไวรัส  ซึ่งเป็นเรื่องจริงอย่างมาก ประชาชนควรทำความเข้าใจธรรมชาติของโรค สภาพการแพร่และการป้องกัน ดีกว่าไปใช้เวลาตั้งแง่หรือข้อรังเกียจ ตีตราคนป่วยหรือผู้สัมผัสโรค  

 

                            ส่วนการรับข่าวสารต่างๆ นพ.ธนรักษ์ แนะนำว่า ควรเป็นไปเพื่อช่วยในสองเรื่อง คือ 1.ประเมินความเสี่ยงของตัวเอง 2. จัดการและลดความเสี่ยงได้อย่างไร ทั้งในระดับ  ส่วนตัว ครอบครัว ชุมชนและสังคม เพราะ  นี่คือปัญหาระยะยาว ประเทศไทยยังต้องอยู่กับโรคนี้ไปอีกระยะ และยิ่งเป็นการต่อสู้ยาวนาน ก็ยิ่งต้องอาศัยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ตลอดจนความร่วมมือของทุกภาคส่วน จึงจะผ่านวิกฤติรอบนี้ไปได้ 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ