ข่าว

ผลศึกษาพบยายวาฬออร์กาเพิ่มอัตราอยู่รอดของหลาน

ผลศึกษาพบยายวาฬออร์กาเพิ่มอัตราอยู่รอดของหลาน

11 ธ.ค. 2562

ยายวาฬออร์กา เพิ่มอัตราการอยู่รอดของหลานวาฬ ประสบการณ์ชีวิตทรงคุณค่ายังประโยชน์แก่รุ่นหลัง 


ในบรรดาพี่เลี้ยงของลูก ที่ทำให้พ่อแม่ออกไปทำงานนอกบ้านอย่างหมดห่วงได้  ไม่มีใครจะยอดเยี่ยมไปกว่าปู่ย่าตายายอีกแล้ว ผลศึกษาล่าสุดพบว่าไม่ใช่เฉพาะคนเท่านั้น  วาฬออร์การุ่นยาย มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของวาฬน้อยเช่นกัน 

 


ผลศึกษาตีพิมพ์ใน Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า วาฬเพชฌฆาต หรือวาฬออร์กา เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่พึ่งพาวาฬรุ่นยายเฝ้าดูลูกหลาน 

 


สิ่งมีชีวิตเพศเมียหลังวัยเจริญพันธุ์ ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกหลายสิบปี เป็นวงจรชีวิตที่รู้กันว่ามีแค่ในมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นอีก 4 ชนิด ได้แก่ วาฬออร์กา วาฬไพล็อตครีบสั้น วาฬนาร์วาล และวาฬเบลูกา โดยในมนุษย์  เชื่อกันว่าเป็นวิวัฒนาการที่เอื้อต่อการดูแลคนรุ่นหลัง  ทฤษฎีที่เรียกกันว่า แกรนมาเทอร์ เอฟเฟคท์ ( Grandmother Effect )  แต่ไม่เคยรู้กันมาก่อนว่าเป็นปราฏการณ์ในวาฬออร์กาด้วย   

 

(มีคลิป) ใจสลาย!แม่วาฬเพชฌฆาตอาลัยลูกตายพยุงซากดำผุดดำว่าย
แม่วาฬเพชฌฆาตปล่อยซากลูกหลังพาแหวกว่าย 17 วัน 

 


แดเนียล แฟรงส์ หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์ค  กล่าวว่า  นี่เป็นตัวอย่างแรกของแกรนด์มาเทอร์ เอฟเฟคท์ ในวาฬออร์กาหลังวัยเจริญพันธุ์ 

 


นักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลประชากรวาฬเพชฌฆาต 2 ฝูง นอกชายฝั่งรัฐวอชิงตัน ของสหรัฐและจังหวัดบริทิชโคลัมเบียของแคนาดา พบว่า ลูกวาฬที่สูญเสียแม่ของแม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการตายสูงกว่าตัวที่ยังดำรงชีวิตอยู่กับยาย  4.5 เท่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การมียายอยู่ด้วย ลดอัตราการตายของวาฬน้อยลงได้  นอกจากนี้ ผลกระทบจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นในยามขาดแคลนอาหาร 

 

ไม่อยากเชื่อสายตานักท่องเที่ยวดูวาฬออร์กาทึ้งร่างวาฬหลังค่อม
หาดูยาก วาฬเพชฌฆาตหม่ำฉลาม


ผลศึกษาพบว่าการสูญเสียยายวาฬออร์กา คือการขาดผู้รอบรู้ว่า แซลมอนชีนุกที่วาฬออร์กาในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือชอบกินอยู่ตรงไหน  และมักเป็นผู้นำพาฝูงไปหาอาหาร อาศัยภูมิปัญญาทางนิเวศน์ที่มีมากกว่า  

 


การวิจัยชิ้นนี้ช่วยไขปริศนาบทบาทของวาฬหลังพ้นวัยเจริญพันธุ์ หรือตอบคำถามว่าเหตุใด สัตว์บางชนิดยังมีชีวิตอยู่อีกนานหลังจากหมดความสามารถในการแพร่พันธุ์แล้ว  นอกจากนี้ นักวิจัยยังสงสัยว่า ผู้อาวุโสในฝูงยังสวมบทบาทพี่เลี้ยงคล้ายกับคน เพราะเวลาแม่ดำน้ำลงไปจับปลา  ยายก็อยู่กับหลานแทน

 


ก้าวต่อไป นักวิจัยจะใช้โดรนสังเกตพฤติกรรมวาฬออร์กา และทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้มากขึ้น