ข่าว

 โบลิเวียที่ไร้อนาคตหลังสิ้นตำนาน เอโบ โมราเลส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์


 
           

            อีกครั้งหนึ่งที่ขบวนการซ้าย-ประชานิยม สูญเสียที่มั่นสำคัญอีกแห่งหนึ่งในละตินอเมริกา จากที่เคยปักหลักมั่นมานานร่วม 20 ปี นับตั้งแต่ประชาชนช่วยกันถอนรากถอนโคนกากเดนเผด็จการขวาจัดและท็อปบู้ททมิฬผ่านการลุกฮือประท้วงและขับไล่เผด็จการ ตามด้วยการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย

 

              ความปราชัยล่าสุดของขบวนการซ้าย-ประชานิยม มีขึ้นเมื่อ เอโบ  โมราเลส วัย 60 ปี ขวัญใจคนจนตัวจริงแห่งโบลิเวีย ประเทศยากจนที่สุดในอเมริกาใต้ ต้องจำใจถอดหัวโขนประธานาธิบดีที่สวมมานานเกือบ 14 ปี จากนั้นเผ่นหนีไปลี้ภัยการเมืองที่เม็กซิโก อ้างว่าเพื่อให้บ้านเมืองอยู่ในความสงบสุข หลังจากประชาชนเกือบทั่วประเทศได้รวมพลังประท้วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ไม่โปร่งใส เต็มไปด้วยความไม่ชอบมาพากล เพื่อเปิดช่องให้โมราเลสได้บริหารประเทศต่อเป็นสมัยที่ 4 กระทั่งองค์การแห่งรัฐในอเมริกา(โอเอเอส)ต้องออกมาประนามการเลือกตั้งครั้งนี้

 

 

 โบลิเวียที่ไร้อนาคตหลังสิ้นตำนาน เอโบ โมราเลส

 

 

              แม้ว่าโมราเลส ผู้สร้างตำนานเป็นชนพื้นเมืองคนแรกที่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ จะได้รับยกย่องว่าเป็นผู้นำขวัญใจคนจนตัวจริงที่ทำทุกอย่างเพื่อยกระดับการกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยเฉพาะชนพื้นเมือง โดยไม่มีข้อครหาว่าทุจริตคอรัปชันแม้แต่น้อย  แต่ทำผิดรัฐธรรมนูญที่ห้ามบุคคลใดอยู่ในตำแหน่งเกิน 3 สมัย โดยโมราเลสดึงดันจะทำประชาพิจารณ์ให้ยกเลิกมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญ แต่ผลกลับกลายเป็นว่า เสียงส่วนใหญ่ยืนยันต้องการให้จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปเพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจ โมราเลสก็ยังดึงดันโดยอาศัยอำนาจให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ปรากฎว่าศาลสูงสุดตัดสินเข้าข้างโมราเลสซึ่งรีบเดินหน้าจัดเลือกตั้งท่ามกลางข้อครหามากมาย

 

 

              ในเมื่อผิดก็คือผิด ไม่สามารถนำความดีและผลงานที่สั่งสมมานานเกือบ 14 ปีมาลบล้างความผิดได้ แม้ว่าความดีนั้น จะหมายถึงการที่สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมรวมถึงการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วยให้คนยากจนหลายล้านคนโดยเฉพาะคนพื้นเมืองสามารถก้าวพ้นจากความยากจนได้ อีกทั้งยังได้รับสิทธิทางสังคมมากขึ้น

 

 

              ประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายอดีตเจ้าอาณานิคมตะวันตกจึงลุกขึ้นมาประท้วง ยิ่งภายหลังได้รับการสนับสนุนจากผู้บัญชาการทหารและผู้บัญชาการตำรวจ โมราเลสจึงต้องยอมยกธงขาวแต่โดยดี  จากนั้นก็ขึ้นเครื่องบินของกองทัพอากาศเม็กซิโกที่บินมารับถึงที่  เพื่อไปลี้ภัยที่แดนจังโกเม็กซิโก ปิดฉากตำนานผู้นำประเทศคนแรกที่เป็นชนพื้นเมืองแถมยังเคยเป็นเกษตรกรยากจนที่เคยปลูกต้นโคคาที่นำไปผลิตเป็นโคเคน

 

 

            ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโบลิเวียระบุว่า เมื่อประธานาธิบดีลาออก ให้รองประธานาธิบดีขึ้นมาทำหน้าที่แทน แต่ในกรณีนี้ รองประธานาธิบดีอัลวาโร การ์เซีย ลิเนรา ได้ลาออกตามโมราเลส และนั่งเครื่องบินลำเดียวกันไปลี้ภัยที่เม็กซิโก  คนถัดมาที่จะขึ้นมาทำหน้าที่แทนก็คือประธานวุฒิสภา ตามด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ประธานของทั้งสองสภาได้ลาออกตามโมราเลส คงเหลือเพียงวุฒิสมาชิก ยาไนน์ อาเนซ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2  แต่ในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าตำแหน่งนี้สามารถขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศได้หรือไม่

 

 

 โบลิเวียที่ไร้อนาคตหลังสิ้นตำนาน เอโบ โมราเลส

 

 

            อย่างไรก็ดี นางอาร์เนซ วัย 52 ปี จากพรรคสหภาพประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและมีนโยบายหลักคือต่อต้านโมราเลสทุกรูปแบบ ได้ฉวยโอกาสตั้งตนเองเป็นรักษาการประธานาธิบดีทันที เข้าทำนอง”ตาอยู่คว้าพุงปลามันไปกิน” หรือสำนวนจีนที่ว่า” ตั๊กแตนจับจักจั่น นกกระจิบตามหลัง”  โดยเธอรีบแถลงว่า  “ในฐานะประธานวุฒิสภา ดิฉันจะเข้าทำหน้าที่ประธานาธิบดีทันทีตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ”

 

 

        ทั้งๆที่หลายคนคัดค้านว่าการกระทำของเธอขัดกับรัฐธรรมนูญที่ระบุชัดว่า การลาออกของโมราเลสจะมีผลในทางปฏิบัติก็ต่อเมื่อที่ประชุมของสภาผู้แทนฯและวุฒิสภาได้ลงมติอนุมัติการลาออกแล้วเท่านั้น ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนฯได้ ที่สำคัญก็คือรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจรองประธานวุฒิฯคนที่ 2 ที่จะขึ้นมาทำหน้าที่นี้ อีกทั้งไม่มีสส.คนใดเสนอชื่อเธอ เนื่องจากสภาผู้แทนฯที่สส.ส่วนใหญ่มาจากพรรคซ้ายของโมราเลสได้บอยคอตการประชุม

 

 โบลิเวียที่ไร้อนาคตหลังสิ้นตำนาน เอโบ โมราเลส

ผู้สนับสนุน โมราเลส ออกมาแสดงพลัง 

 

 

            อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญได้รีบวินิจฉัยชี้ขาดรับรองนางอาร์เนซ อดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและผู้จัดรายการโทรทัศน์โททัลวิชั่นว่า เป็นรักษาการประธานาธิบดี โดยให้เหตุผลว่ าในกรณีที่ตำแหน่งประธานาธิบดีว่างลง เธอก็ไม่จำเป็นต้องได้การรับรองจากรัฐสภาในการขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศชั่วคราว

 

 

        ภายใต้บทบัญญํติของรัฐธรรมนูญ  นางอาร์เนซมีเวลา 90 วันที่จะจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีขึนมาใหม่ ซึ่งเธอประกาศว่าพร้อมจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 22 มกราคม อันเป็นวันสุดท้ายที่โมราเลสจะบริหารประเทศครบสมัยที่ 3 หากไม่ถูกบีบให้ต้องลาออกก่อน

 

 

            คำถามก็คือแม้ว่านางอาร์เนซจะเป็นตาอยู่หยิบชิ้นปลามัน แต่เธอจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ความสงบได้หรือไม่ เพราะจนถึงขณะนี้การประท้วงและการปะทะยังมีอยู่ ผู้ประท้วงหลายคนโดยเฉพาะผู้ที่สนับสนุนโมราเลสประกาศกร้าวไม่ยอมรับเธอว่าเป็นผู้นำรักษาการ เกษตรกรผู้ปลูกต้นโคคาที่เป็นฐานเสียงสำคัญของโมราเลสมาตลอด  ประกาศจะประท้วงต่อไปจนกว่าโมราเลสจะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง

 

 โบลิเวียที่ไร้อนาคตหลังสิ้นตำนาน เอโบ โมราเลส

 

 

            นักวิจารณ์การเมืองฝีปากกล้าหลายคนถึงกับตั้งคำถามในเชิงเสียดสีการเมืองในประเทศนี้ว่าใครพร้อมจะเสียสละเข้ามาเป็น”อดีต”ประธานาธิบดีคนล่าสุด เพราะนับตั้งแต่ประธานาธิบดีกอนซาเลส ชานเซซ เดอ โลซาดา ถูกพลังประชาชนบีบให้ลาออกเมื่อปี 2546 อันเนื่องจากความล้มเหลวในนโยบายเศรษฐกิจและพลังงาน อีก 2 ปีต่อมาเหตุการณ์ทำนองนี้ก็เกิดขึ้นกับประธานาธิบดีคาร์ลอส เมซา แล้วก็เกิดขึ้นอีกกับเอโบ โมราเลส ทั้งๆที่เป็นขวัญใจคนจนมานานกว่า 13 ปี สร้างผลงานที่น่าประทับใจในเรื่องเศรษฐกิจ

 

           เหตุนี้จึงมีโอกาสเป็นไปได้ว่าผู้นำคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในต้นปีหน้า ไม่ว่าจะบริหารประเทศได้ดีหรือล้มเหลว โอกาสที่จะก้าวลงจากตำแหน่งอย่างสง่างามคงเป็นไปได้ยากเมื่อเทียบกับโอกาสที่จะถูกบีบให้ต้องถอดหัวโขนอย่างสิ้นความสง่างาม เหมือนกับอดีตผู้นำคนก่อนหน้าหลายคน แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยคือการประท้วง จุดยืนของกองทัพและตำรวจ และสุดท้ายก็คือสถาบันที่ปกครองประเทศ

 

 

เหตุใดจึงเผ่นไปเม็กซิโก 

 

                 การสมัครใจไปลี้ภัยการเมืองที่เม็กซิโกของโมราเลสได้ตอกย้ำว่าแดนจังโกเป็นสวรรค์ของการลี้ภัยการเมืองจริงๆของบรรดานักการเมืองหลายหมื่นคนผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นซ้ายหรือขวา เป็นสังคมนิยมหรือเสรีนิยม ตั้งแต่สหภาพโซเวียต,สเปน อาร์เจนตินา ชิลีและบราซิล ตลอดช่วงร้อยปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงสงครามกลางเมืองที่สเปนในสมัยนายพลฟรังโก ปรากฎว่ามีนักการเมือเสเปนกว่า 20,000 คนหนีภัยมาอยู่ที่นี่

 

                 โดยนักการเมืองรายแรกที่ขอลี้ภัยในประเทศนี้ก็คือซีซาร์ ออกุสโต แซนดิโน นักปฏิวัติแห่งนิการากัว ผู้ซึ่งนำการประท้วงทหารอเมริกันที่ยึดครองนิการากัวเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปีแซนดิโน ก็ต้องเดินทางออกจากเม็กซิโกพร้อมกับกล่าวหารัฐบาลเม็กซิโกว่าตระบัดสัตย์ที่ให้ไว้ที่ว่าจะช่วยเขาต่อกรกับทหารอเมริกัน

           

                 อีก 7 ปีต่อมา เลออน ทรอตสกี้ นักการเมืองที่ดังที่สุดแห่งยุค เจ้าของลัทธิทรอตสกี สำนักคิดชื่อดังของมาร์กซิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ผู้ซึ่งประนามลัทธิสตาลินว่าเป็นลัทธิแก้จนถูกเนรเทศต้องระเห็จหนีไปตุรกีแล้วย้ายไปนอรเวไปฝรั่งเศสสุดท้ายก็หนีมาพักพิงที่ประเทศนี้ กระทั่งถูกลอบสังหารตามคำสั่งของสตาลิน  ตามด้วยลุยส์ บุญญูเอล ผู้สร้างภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังระดับโลกแนวเสียดสีแนวคิดด้านศีลธรรมของชนชั้นกลาง รวมถึงลีออง เฟลิเป กวีชื่อดังผู้เป็นเพื่อนสนิทกับเช กูวาราและฟิเดล คาสโตร อีกคนหนึ่งก็คือฮอร์เตนเซีย บุสซี ภริยาหม้ายของอดีตประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเยนเดแห่งชิลี นอกจากนี้ยังมีริโกเบอร์ตา เมนชู นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชนพื้นเมืองกัวเตมาลาและเจ้าของโนเบลสันติภาพ

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ