ข่าว

ใครเป็นใครเบื้องหลัง"ยูเครนเกต" ปมถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...บุญรัตน์ อภิชาติไตรสรณ์

 

 

“ดิ้นพล่านเหมือนหมาถูกน้ำร้อนลวก” นี่คืออาการในขณะนี้ของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทั้งข่มขู่คุกคามด้วยถ้อยคำรุนแรงระหว่างอาละวาดฟาดหางไปทั่ว รวมไปถึงส่งกองทัพเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวไปยึดหัวหาดสื่อโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ให้สัมภาษณ์แก้ตัวแทนตัวเองและโต้ตอบฝ่ายตรงข้าม

 

อาการดิ้นพล่านของทรัมป์ที่สื่อยักษ์ใหญ่อเมริกันใช้คำว่า "น้ำลายฟูมปาก” มีขึ้นหลังจากนางแนนซี่ เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ไฟเขียวให้สภาผู้แทนฯ ที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาก เริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนทรัมป์อย่างเป็นทางการหรืออิมพีชเมนต์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน ด้วยข้อกล่าวหาว่า “ใช้อำนาจในทางมิชอบ” กดดันประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ให้ช่วยทำลายชื่อเสียงของอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้ซึ่งเป็นเต็งหนึ่งที่มีโอกาสได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคตราลาเดโมแครตเข้าชิงทำเนียบขาวแข่งกับทรัมป์ในปลายปีหน้า

 

 

นางเปโลซี ยังให้รายละเอียดเบื้องต้นที่ถือเป็นข้อมูลใหม่ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ขู่จะระงับความช่วยเหลือทางทหารเกือบ 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน เพื่อบีบให้ประธานาธิบดีเซเลนสกีจำใจยอมให้ความช่วยเหลือทางการเมืองแก่ตัวเอง ซึ่งเท่ากับใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ส่วนตน นอกเหนือจากอาจเข้าข่ายบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติและแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐ

 

 

 

ใครเป็นใครเบื้องหลัง"ยูเครนเกต" ปมถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์

 

 

 

นับเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ของประเทศนี้ที่ถูกสภาผู้แทนฯ ไต่สวนเพื่อถอดถอนจากตำแหน่งช่วงที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งเพื่อชิงทำเนียบขาวเป็นสมัยที่ 2 ก่อนหน้านี้มีประธานาธิบดี 2 คนถูกสภาผู้แทนฯ สอบสวนเช่นกัน แต่อยู่ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 แล้ว

 

 

 

ปฐมบทของกระบวนการอิมพีชเมนต์มีขึ้นเมื่อ “พรายกระซิบ” ซึ่งเป็น ”ชายนิรนามคนหนึ่ง” ได้เขียนบันทึกสั้นๆ ถึงสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (เอ็นดีไอ) “แสดงความวิตกกังวล” เกี่ยวกับบทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์กับนายเซเลนสกี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายช่วงที่ทรัมป์ใช้คำพูดในเชิงกดดันผู้นำยูเครน ให้รื้อฟื้นการตรวจสอบ “พฤติการณ์ต้องสงสัยคอร์รัปชั่น” ของนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา ว่าได้ใช้อิทธิพลบังคับรัฐบาลเคียฟให้ปลดอัยการสูงสุด หมายจะปกป้องนายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชาย ซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการบริหารบริษัทก๊าซ บูริสมา โฮลดิงส์ หนึ่งในผู้ประกอบการด้านพลังงานรายใหญ่ของยูเครน ที่ถูกครหาว่ามีการทุจริตภายในองค์กร ไม่เช่นนั้น รัฐบาลวอชิงตันก็อาจจะตัดงบประมาณช่วยเหลือทางทหาร ซึ่งรัฐบาลโอบามาเคยให้ไว้ปีละ 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยต้านอิทธิพลของรัสเซีย แต่ทรัมป์ได้ระงับงบก้อนนี้ตั้งแต่ต้นปี

 

 

ทรัมป์ยังพูดในเชิงแบล็กเมล์ว่ารู้ดีว่ายูเครนไม่ใช่รัสเซียที่แทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐเมื่อปี 2559 ก่อนจะตบท้ายด้วยการบอกให้รับรู้ว่าจะให้นายรูดี จูลิอานี อดีตนายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ก และขณะนี้เป็นทนายความส่วนตัวของทรัมป์ รวมทั้งนายวิลเลียม บาร์ รัฐมนตรียุติธรรม จะติดต่อกลับไปพูดคุยในรายละเอียดในภายหลัง

 

ใครเป็นใครเบื้องหลัง"ยูเครนเกต" ปมถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์

เซเลนสกี ผู้นำยูเครน 

 

แต่นายเซเลนสกี อดีตดาราตลกที่พลิกล็อกชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของยูเครนก่อนหน้านี้แค่เดือนเดียวจากการชูนโยบายปราบคอร์รัปชั่น ไม่เล่นด้วย หนำซ้ำยังตัดบทด้วยการวางหูโทรศัพท์โดยไม่ตอบอะไร

 

 

ทั้งหมดที่ทรัมป์พยายามแก้ตัวกลับยิ่งเหมือนกับวัวพันหลัก โดยเฉพาะการอ้างคำสั่งลับของตัวเองที่มีขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วแต่กลับไม่มีใครเคยรู้มาก่อนกระทั่งเพิ่งมีการเปิดเผยในช่วงที่เกิดข่าวฉาวนี้ ว่าทำเนียบขาวได้ออกมาตรการคัดกรองและจำกัดสิทธิของบุคคลในการเข้าถึงระบบจัดเก็บข้อมูลบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์ กับผู้นำต่างประเทศ “เพื่อป้องกันการรั่วไหลและจารกรรมข้อมูล” โดยเฉพาะข้อมูลที่ได้รับ “การป้องกันเป็นพิเศษ” รวมถึงบทสนทนาระหว่างทรัมป์กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดีอาระเบีย...

 

 

แต่ข้อแก้ตัวและคำข่มขู่ทั้งหมดของทรัมป์กลับไม่มีใครเชื่อถือ มองว่าเป็นความพยายามเบนประเด็นว่าตัวเองทำจริงและอาจจะพิสูจน์ได้ว่าผิดจริงมากกว่า ในเมื่อมีพฤติการณ์ทำนองนี้มาก่อนคราวแอบไฟเขียวให้รัสเซียเข้ามาแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งเมื่อปี 2559 แม้จะพ้นผิดจากการสอบสวนของนายโรเบิร์ต มุลเลอร์ อัยการพิเศษ แต่มุลเลอร์ได้สรุปผลสอบชัดเจนว่าการกระทำหลายอย่างเข้าข่ายสมคบคิด หรือพยายามสมคบคิดระหว่างทีมงานของทรัมป์ กับ มอสโก เพียงแต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะตั้งข้อหาอาญา

 

 

และเหมือนกับผีซ้ำด้ำพลอย ช่วงเดียวกันนี้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า ทรัมป์ได้โทรศัพท์ถึงนายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ขอให้ช่วยเหลือนายวิลเลียม บาร์ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐ ในการตรวจสอบหาที่มาการสอบสวนคดีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐ ปี 2559 ของโรเบิร์ต มุลเลอร์

 

 

ขณะที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ หนึ่งในสื่อยักษ์ใหญ่ที่เกาะติดข่าวนี้รายงานว่า นายบาร์เคยพูดคุยหรือพบปะกับผู้นำและเจ้าหน้าที่ข่าวกรองต่างชาติหลายครั้ง รวมถึงอังกฤษ ออสเตรเลีย และอิตาลี ขณะอยู่ต่างประเทศ เพื่อหาช่องทางบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือในการสอบสวนของมุลเลอร์

 

 

จะว่าไปแล้ว ตัวละครสำคัญที่สุดของข่าวฉาวนี้ที่ทำให้ทรัมป์เต้นเป็นเจ้าเข้ามีอย่างน้อยเกือบ 10 คน ไม่นับปลาซิวปลาสร้อยอีกไม่ใช่น้อย คนแรกก็คือ “พรายกระซิบ” ซึ่งเป็นชายนิรนามที่ยังไม่มีการเปิดตัวว่าเป็นใคร ถ้าเทียบกันแล้ว พรายกระซิบผู้นี้สำคัญเทียบเท่ากับ ”ดีพโธรท” ในคดีวอเตอร์เกตที่เป็นคนเปิดโปงว่าประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน รู้เห็นเป็นใจกับเหตุโจรกรรมที่ตึกวอเตอร์เกตของพรรคเดโมแครต จนท้ายสุดทำให้นิกสันต้องชิงลาออกก่อนจะถูกสภาผู้แทนฯ อิมพีชเมนต์

 

 

ด้วยความกังวลในเรื่องความปลอดภัย จนถึงขณะนี้พรายกระซิบลึกลับผู้นั้นจึงยังไม่กล้าเผยตัว สื่อท้องถิ่นหลายแห่งรายงานว่าเป็นเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) ที่เคยทำงานอยู่ในทำเนียบขาว แต่ยังไม่แน่ชัดว่าตอนนี้คนผู้นี้ยังทำงานให้แก่ซีไอเออยู่หรือไม่ ขณะที่รายงานบางกระแสแย้มว่าพรายกระซิบผู้นี้ไม่ใช่พยานที่ได้ยินการโทรศัพท์โดยตรง เพียงแต่ได้รับการบอกเล่ามาอีกต่อหนึ่งจากเพื่อนในทำเนียบขาวเท่านั้น

 

 

ด้วยความที่ทรัมป์ได้ใช้อำนาจในมือข่มขู่คุกคามจะเล่นงาน “พรายกระซิบ” ผู้นี้ในสารพัดข้อหา ทั้งละเมิดสิทธิส่วนบุคคลไปจนถึงข้อหาทรยศต่อประเทศชาติและบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ หมายจะบีบให้เผยโฉมว่าเป็นใคร กระทั่งแกนนำของทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตต้องเตือนว่าขณะนี้ชายนิรนามผู้นั้นอยู่ภายใต้ “การคุ้มครองของกฎหมาย” เพื่อความปลอดภัยแล้ว และจะไปให้การเป็นการลับต่อรัฐสภา ทางด้าน แอนดรูว์ บาคัจ ทนายความของพรายกระซิบผู้ลึกลับย้ำว่า พรายกระซิบผู้นี้มีสิทธิ์ที่จะไม่เปิดเผยตัวตน และการตอบโต้ผู้เปิดโปงถือว่า ละเมิดกฎหมายของประเทศ

 

 

 

ใครเป็นใครเบื้องหลัง"ยูเครนเกต" ปมถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์

 

 

ตัวละครสำคัญอีกคนหนึ่งก็คือ รูดี จูลีอานี มหาเศรษฐีที่เคยเป็นนายกเทศมนตรีนิวยอร์กก่อนจะรับจ้างเป็นทนายความส่วนตัวให้ทรัมป์ ที่ปากโป้งระหว่างให้สัมภาษณ์รายการ “สัปดาห์นี้” ทางสถานีโทรทัศน์เอบีซี รวมทั้งรายการ "เฟซ เดอะ เนชั่น” บอกว่าตัวเองรู้เรื่องดีที่สุด และเห็นด้วยที่ทรัมป์ทำเช่นนี้ตามคำแนะนำของนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ เพราะถ้าไม่ทำเท่ากับตัวเองฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พร้อมกับอวดอ้างว่าตัวเองได้ครอบครองหลักฐานทั้งในรูปข้อความตัวอักษร บันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ และการสื่อสารอื่นๆ ซึ่งบ่งชี้ว่าเขาไม่ได้ดำเนินการคนเดียว และอาจมีเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ในรัฐบาลเกี่ยวข้องด้วย กระทั่งคณะกรรมาธิ

 

 

การข่าวกรองของสภาผู้แทนฯ ได้ส่งหมายเชิญนายจูลีอานีไปให้ปากคำพร้อมทั้ง “เอกสารทั้งหมด” ภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้

 

 

จากคำให้สัมภาษณ์ของนายจูลีอานีเท่ากับดึงนายไมค์ ปอมเปโอ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเป็นหนึ่งในผู้ที่คณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาผู้แทนฯ มีหนังสือเรียกตัวไปให้การพร้อมข้อมูลทั้งหมดเช่นกัน

 

 

นอกจากนี้ยังมีปลาซิวปลาสร้อยที่ทยอยเผยโฉมหน้าและถูกสภาผู้แทนฯ เรียกตัวไปให้การ รวมไปถึงนายวิลเลียม บาร์ รัฐมนตรียุติธรรม นายเคิร์ต โวลเกอร์ ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งผู้แทนพิเศษฝ่ายกิจการยูเครนหลังมีชื่ออยู่ในข่าวฉาวนี้ในฐานะเป็นคนกลางช่วยให้นายจูลีอานีได้พบกับผู้ช่วยประธานาธิบดียูเครน และนางมารี โยวาโนวิตช์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเครน ที่ถูกทรัมป์ปลดจากตำแหน่งเมื่อต้นปี

 

 

หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ เดอะวอชิงตันโพสต์ ได้รับยกย่องจากการเปิดโปงคดีวอเตอร์เกต แต่แทบไม่น่าเชื่อว่าสื่อที่มีบทบาทสำคัญในการเปิดโปง "ยูเครนเกต” ครั้งนี้กลับเป็น “สเตท เพรส” หนังสือพิมพ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยแอริโซนา ที่นำเสนอข่าวการลาออกของนายเคิร์ต โวลเกอร์ เป็นฉบับแรก จากนั้นไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ซีเอ็นเอ็นก็นำไปเผยแพร่ต่อ

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ