เผยหลงสภาพการบินสาเหตุ"เอฟ-35"ญี่ปุ่นตกทะเล
ญี่ปุ่นสรุป ความผิดพลาดนักบิน สาเหตุเหตุเครื่องบินรบ เอฟ-35เอ ตกทะเลระหว่างฝึกบิน ไม่ใช่ปัญหาเทคนิก
ความคืบหน้าสาเหตุเครื่องบินขับไล่สเตลท์ เอฟ-35เอ ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น ประสบเหตุตกทะเลนอกชายฝั่งเมืองมิซาวะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างฝึกบินกลางคืนร่วมกับเครื่องบินรุ่นเดียวกันอีก 2 ลำ เมื่อวันที่ 9 เมษายน กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นสรุปว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากนักบินเกิดอาการหลงสภาพการบิน ( spatial disorientation ) ไม่ใช่จากปัญหาเทคนิก
เครื่องบินขาดการติดต่อราว 30 นาทีหลังจากขึ้นบินจากฐานทัพอากาศมิซาวะ พร้อมกับเครื่องบินรบรุ่นเดียวกันอีก 3 ลำ โดย นาวาอากาศตรี อาคิโนริ โฮโซโมริ วัย 41 ปี ไม่ได้แจ้งปัญหาใดก่อนหน้านั้น
อาการหลงฟ้า หรือ หลงสภาพการบิน คือสถานการณ์ที่นักบินไม่สามารถรับรู้ตำแหน่ง ความสูง ท่าทางการบิน และการเคลื่อนที่ของเครื่องบินได้อย่างถูกต้อง ณ ขณะนั้น อาการนี้จะยิ่งเลวร้ายหากเกิดตอนกลางคืน ผลศึกษาของญี่ปุ่นพบว่าอุบัติเหตุทางอากาศของกองทัพญี่ปุ่น 12% เกิดจากอาการหลงฟ้า
กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น แถลงว่า นายโฮโซโมริ ซึ่งมีชั่วโมงบิน 3,200 ชม. ขับเครื่องบินรบสุดล้ำตรงดิ่งมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างฝึกบินตอนกลางคืน
โฮโซมิ ซึ่งศพเพิ่งกู้ได้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมภาคพื้นดินตามปกติ กระทั่งไม่กี่วินาทีก่อนตก โดยในเวลานั้น เครื่องบินกำลังลงจากความสูง 9,000 เมตร ที่ความเร็ว 1,000 ก.ม.ต่อชั่วโมง เป็นช่วงเวลา 15 วินาทีระหว่างการติดต่อหลังสุดของนักบินกับขาดการติดต่อ เชื่อว่านักบินเกิดอาการนี้ระหว่างลดเพดานบินด้วยความเร็วสูง และไม่รู้ตัว
กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นยกเลิกการค้นหาเครื่องบินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังอุบัติเหตุผ่านไปสองเดือน ที่ผ่านมา พบศพนักบินบางส่วนและเศษซากเครื่องบิน รวมถึงส่วนหาง แต่ไม่พบกล่องบันทึกข้อมูลการบิน กระนั้น เจ้าหน้าที่สหรัฐและญี่ปุ่นไม่เชื่อว่ารัสเซียหรือจีนอาจพบและกู้ไปแล้ว รวมถึงซากเครื่องบินหลัก แต่ญี่ปุ่นยังคงสอดส่องพื้นที่เพื่อปกป้องข้อมูลลับทางทหารต่อไป
ญี่ปุ่นประจำการเครื่องบิน เอฟ35เอ ซึ่งแต่ละลำ ราคากว่า 1 หมื่นล้านเยน ( เกือบ 2,900 ล้านบาท ) เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่ เอฟ-4 ซึ่งเก่ามากแล้ว โดยมีแผนจัดซื้อทั้งหมด 147 ลำ จำนวนนี้คาดว่าเป็น เอฟ-35เอ จำนวน 105 ลำ
ก่อนเกิดเหตุกองทัพญี่ปุ่น มีเครื่องบินรบเอฟ-35เอ ประจำการทั้งหมด 13 ลำ แต่ 12 ลำที่เหลือถูกระงับการบินนับแต่เกิดเหตุ กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ระบุว่าจะจัดอบรมเพิ่มเติมให้แก่นักบินถึงวิธีการแก้ปัญหาอาการหลงฟ้า ก่อนกลับมาทำการบินอีกครั้ง