ข่าว

ผู้ป่วยคนที่สองปลอดไวรัสเอชไอวีหลังปลูกถ่ายไขกระดูก 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ติดเชื้อเอดส์ในอังกฤษกลายเป็นผู้ป่วยคนที่สองที่กำจัดไวรัสได้ หลังจากรับการปลูกถ่ายไขกระดูกจากผู้บริจาคที่มียีนต้านเอชไอวี 



เกือบ 3 ปีที่ชายผู้ติดเชื้อเอดส์ในกรุงลอนดอนรายหนึ่ง เข้ารับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ไขกระดูก จากผู้บริจาคที่มียีนหายากต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี และไม่ได้รับยาต้านไวรัสเลยเป็นเวลานานกว่า 18 เดือน ผลตรวจไม่พบไวรัสในร่างกายเลย  
 

 

ราวินทรา กุปตะ ศาสตราจารย์และนักชีววิทยาเอชไอวี หัวหน้าทีมแพทย์ที่ให้การรักษา  กล่าวว่า กรณีของชายคนนี้เป็นบทพิสูจน์ความเชื่อที่ว่านักวิทยาศาสตร์จะยุติโรคเอดส์ได้สักวันหนึ่ง กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เวลานี้พบวิธีรักษาไวรัสเอชไอวีแล้ว  


กุปตะ พูดถึงคนไข้ของเขาโดยใช้คำว่า “ไม่มีอาการของโรค” และ“ได้รับการรักษาให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ” ( functionally cured ) และเตือนว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดว่า ได้รับการรักษาจนหายแล้ว  

 

 ผู้ป่วยคนที่สองปลอดไวรัสเอชไอวีหลังปลูกถ่ายไขกระดูก 

 


ผู้ป่วยเอดส์รายนี้ เรียกกันว่า”ผู้ป่วยลอนดอน”  เพราะเป็นกรณีคล้ายกับ ทิโมที บราวน์  ชายชาวอเมริกันที่รู้จักในชื่อ "ผู้ป่วยเบอร์ลิน" เพราะเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการเดียวกันเป็นคนแรก ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีเมื่อปี 2550 และสามารถกำจัดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้   


บราวน์ เคยพำนักในกรุงเบอร์ลิน แต่ย้ายไปสหรัฐอเมริกาแล้ว จนถึงขณะนี้ก็ยังปลอดจากไวรัส 

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี  37 ล้านคน และโรคเอดส์คร่าชีวิตผู้คนราว 35 ล้านแล้วนับตั้งแต่เริ่มรู้จักเชื้อตัวนี้ในคริสต์ทศวรรษ 1980 การศึกษาวิจัยไวรัสที่มีความซับซ้อนตลอดหลายปีที่ผ่านมา นำไปสู่การพัฒนาตัวยาหลายขนานที่ใช้ยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ 


กุปตะ ซึ่งประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ รักษา “ผู้ป่วยลอนดอน” ขณะทำงานอยู่ที่ยูนิเวอร์สซิตี คอลเลจ ลอนดอน  เขาติดเชื้อเอชไอวีในปี 2546 และในปี 2545 ตรวจพบมะเร็งในเลือดชนิด Hodgkin's Lymphoma  


ในปี 2559  เขาป่วยหนักจากโรคมะเร็ง แพทย์จึงตัดสินใจหาไขกระดูกที่เข้ากันได้เพื่อรักษา เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะรอด และได้ผู้บริจาคที่มียีนกลายพันธุ์ชื่อ 'CCR5 delta 32' ต้านไวรัสเอชไอวีได้ 


การผ่าตัดปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นไปอย่างราบรื่น แต่มีผลข้างเคียงบ้าง อย่างภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย 


ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มองว่า ยากที่วิธีการนี้จะเป็นหนทางรักษาผู้ป่วยได้ทุกคน เพราะมีราคาแพง ซับซ้อน และเสี่ยง อีกทั้งจะต้องหาผู้บริจาคที่เข้ากันได้ในกลุ่มคนที่มีเซลล์พิเศษไม่มาก และส่วนใหญ่เป็นคนยุโรปเหนือ  นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ฟันธงว่า CCR5  ยีนต้านเอชไอวี  เป็นกุญแจดอกเดียว หรือเพราะภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เซลล์ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหมดไป 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ