
โวยเศรษฐีไอซ์แลนด์ฆ่า-ชำแหละวาฬสีน้ำเงินตัวแรกใน 40 ปี
เจ้าของบริษัทล่าวาฬโต้ไม่ใช่วาฬสีเงิน แต่เป็นวาฬลูกผสมหายาก หากใช่วาฬสีน้ำเงินก็ไม่ได้เจตนา
กลุ่มต่อต้านการล่าวาฬ ซี เชพเฟิร์ด ออกแถลงการณ์ระบุว่าบริษัทล่าวาฬ Hvalur ของ คริสเตียน ลอฟต์วัน มหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของไอซแลนด์ ฆ่าและชำแหละวาฬสีน้ำเงินที่เมืองท่า Hvalfjordur พร้อมเผยภาพถ่ายของอาสาสมัครสังเกตการณ์ขณะลูกเรือกำลังสำรวจซากวาฬขนาดมหึมา
วาฬสีเงิน สัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังคงอยู่ เป็นชนิดพันธุ์สัตว์คุ้มครอง ที่ไม่เคยถูกจับได้โดยเจตนามาตั้งแต่ปี 2521
วาฬชนิดนี้หากโตเต็มวัย อาจมีความยาวได้ถึง 30 เมตร หนัก 200 ตัน คณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (ไอดับเบิลยูซี) ขึ้นทะเบียนคุ้มครองมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1960 หลังจากถูกล่าแบบไม่มีการควบคุมมานานหลายสิบปี กองทุนอนุรักษ์สัตว์ป่า ระบุว่า วาฬสีน้ำเงินถูกล่า 3.6 แสนตัวจนเกือบสูญพันธุ์ ในศตวรรษที่ 20 เฉพาะน่านน้ำแอนตาร์กติกแห่งเดียว ก่อนที่ไอดับเบิลยูซีจะห้ามล่าเพื่อการค้าอย่างสิ้้นเชิงในปี 2529
แต่ลอฟต์สัน อ้างว่า วาฬที่โวยวายกัน เป็นวาฬข้ามสายพันธุ์หายาก ระหว่า่งวาฬฟินกับวาฬสีน้ำเงิน ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีคุ้มครองของไอซ์แลนด์ และหากเป็นวาฬสีน้ำเงินจริง ก็ถือเป็นการล่าโดยไม่เจตนา
"ในอดีต เราเคยจับวาฬลูกผสมแบบนี้ได้อย่างน้อย 5 ตัว หลังสุดเป็นปี 2557 มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมองลงไปในทะเลแล้วจะรู้ว่าเป็นวาฬลูกผสม หรือวาฬฟิน เราตามล่ามัน ยิงมัน จับได้แล้วถึงจะรู้ เรื่องแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้อีก " พร้อมกับปกป้องพนักงานถ่ายรูปกับวาฬหายาก รวมถึงภาพที่ผู้ชายคนหนึ่งนั่งบนตัวสัตว์ ว่า พวกเขาก็ทำแบบนั้นทุกครั้งอยู่แล้ว หากไปตกปลา คนก็มักจะถ่ายรูปกับสัตว์ที่จับได้เป็นพิเศษ
นอกจากนี้ เขาไม่รู้สึกกังวลกับกระแสวิจารณ์จากกลุ่มนักอนุรักษ์ โดยระบุว่าคนเหล่านี้ต่อต้านทุกอย่าง และบริษัทของเขาก็ไม่ได้ปิดบัง แต่เปิดให้คนนอกมองเข้ามาเห็นจากผ่านรั้วเวลานำวาฬขึ้นมาบนฝั่ง
รัฐบาลไอซ์แลนด์แจ้งว่า จะตรวจสอบพันธุกรรมซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือน แต่ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า ตัวที่จับได้ไม่ใช่วาฬสีน้ำเงินแต่เป็นลูกผสมระหว่างวาฬฟิน กับ วาฬสีน้ำเงิน
อดัม เอ แพ็ค นักวิจัยและศาสตราจารย์ชีววิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาย บอกสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่าภาพที่ปรากฎ จากขนาดและลักษณะครีบ เป็นวาฬสีน้ำเงินชัดเจน
นักอนุรักษ์กล่าวว่าต่อให้ไม่ใช่วาฬสีน้ำเงิน เหตุการณ์นี้ฉายให้เห็นอยู่ดีว่า ไอซ์แลนด์กับอีกบางประเทศยังเดินหน้าท้าทายกฎหมายระหว่างประเทศ
ไอซ์แลนด์ ยังล่าวาฬเป็นประจำบนเงื่อนไขของตัวเอง แม้ว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกของไอดับเบิลยูซี และเริ่มส่งออกเนื้อวาฬไปญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2551 แต่การล่าวาฬสีเงิน เป็นเรื่องผิดกฎหมาย