ต้นไม้ช่วยชีวิตเกษตรกรเปรู
18 เม.ย. 2558
เวิลด์วาไรตี้ : ต้นไม้ช่วยชีวิตเกษตรกรเปรู
หยดน้ำแต่ละหยดที่ละลายออกมาจากธารน้ำแข็งปาสโตรูรี ในเปรู เพิ่มจำนวนน้ำที่หลั่งไหลมายังพื้นราบ แต่กลับลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนธารน้ำแข็งขนาดใหญ่แห่งนี้ลงเรื่อยๆ เปรู ดินแดนทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้เคยได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งธารน้ำแข็งเขตร้อนของโลก คิดเป็นสัดส่วน 70% ของปริมาณธารน้ำแข็งเขตร้อนของโลก แต่ธารน้ำแข็งในเปรูกลับลดจำนวนลงอย่างน่าใจหายถึง 40% ตั้งแต่ทศวรรษ 2513
ส่วนธารน้ำแข็งปาสโตรูรี ก็ไม่สามารถหนีพ้นชะตากรรมที่เกิดขึ้นจากเงื้อมมือมนุษย์ที่ก่อให้เกิดกาวะโลกร้อนรุนแรง ซึ่งทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธารน้ำแข็งแห่งนี้ละลายจนลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (สถิติจากองค์การน้ำแห่งชาติเปรู)
น้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งเป็นดั่งสายเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเปรูที่อาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาที่มีธารน้ำแข็ง ที่มักจะอยู่ในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 6,000 เมตรขึ้นไป ดังนั้น ประชาชน รวมทั้งเกษตรกรในบริเวณนี้จึงหวังพึ่งฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่สูงเช่นนี้ได้ยาก น้ำจากธารน้ำแข็งจึงเป็นที่พึ่งหลักเพียงแห่งเดียวของชาวที่สูงแห่งเปรู
แต่น้ำจากธารน้ำแข็งเหล่านี้ไม่บริสุทธิ์เพียงพอที่จะใช้บริโภค แม้แต่จะใช้เลี้ยงสัตว์ เพราะน้ำแข็งบนธารน้ำแข็งที่ก่อตัวขึ้นมาเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว ในยุคน้ำแข็ง สัมผัสกับแร่เหล็กบนพื้นผิวดิน รวมทั้งสารโลหะหนักอื่นๆ ที่น้ำเหล่านี้ดูดซึมไว้เมื่อหลายล้านปีก่อนในช่วงที่โลกยังไม่สงบเช่นปัจจุบันนี้ ดังนั้นโลหะหนักที่เป็นอันตรายอย่างเช่น ตะกั่ว สารหนู แคดเมียม แมงกานีส รวมทั้งแร่เหล็ก จึงปนเปื้อนอยู่ในน้ำแข็งที่ละลายลงมาเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงชาวเปรู
หากดื่มหรือสัมผัสกับน้ำปนเปื้อนเหล่านี้เป็นเวลานานๆ ผู้บริโภคจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคภัยสารพัดที่มีต้นเหตุมาจากโลหะหนัก
และปริมาณสารโลหะหนักในน้ำจากธารน้ำแข็งก็เพิ่มขึ้นทุกวันๆ เนื่องจากธารน้ำแข็งละลายลึกลงไปทุกทีๆ จนถึงแกนของก้อนน้ำแข็งที่ไม่เคยสัมผัสกับอากาศภายนอกตั้งแต่มันก่อตัวเป็นน้ำแข็งเมื่อหลายล้านปีก่อน
นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคาเยตาโน เฮอเรเดีย ระบุว่าพื้นดินที่มีน้ำปนเปื้อนเหล่านี้ไหลผ่าน ไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป เพราะถ้าฝืนปลูกพืชอาหารในบริเวณนี้ โลหะหนักก็จะถูกดูดซับเข้าไปในลำต้นและผลผลิตของพืชอาหารที่มักจะมีอายุสั้น และทำให้ผู้บริโภคมีปริมาณโลหะหนักสะสมจนเป็นอันตรายในที่สุด
เพื่อแก้ปัญหานี้ นักวิจัยแห่ง ม.คาเยตาโน เฮอเรเดีย จึงค้นลึกลงไปในประวัติศาสตร์ มองหาวิธีการที่ชาวเปรูโบราณ ที่สืบเชื้อสายจากชนเผ่ามายัน ที่เคยอาศัยในดินแดนแถบนี้มาก่อน เพื่อหาวิธีจัดการกับน้ำพิษจากธารน้ำแข็งเหล่านี้
ที่สุดนักวิจัยก็พบวิธีของคนโบราณที่ใช้ต่อสู้กับน้ำปนเปื้อนโลหะหนัก โดยใช้การ "กรอง" น้ำด้วย "ต้นไม้" ที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับโลหะหนักไว้ในลำต้นโดยไม่ทำให้มีพิษภัยต่อสิ่งมีชีวิตรอบข้าง
ต้นไม้หลายชนิดตั้งแต่หญ้า ต้นกก ที่มีชื่อท้องถิ่นว่า โตโตรา จุงโค และ โคลา เดอ ซอร์โร เป็นพืชที่เหมาะที่สุดในการกรองโลหะหนักออกจากน้ำปนเปื้อนจากธารน้ำแข็ง
ในต้นไม้เหล่านี้จะมีเซลล์เมมเบรน (เยื่อผนังเซลล์) ที่มีประจุไฟฟ้าบวก สามารถดักจับโลหะหนักได้เป็นอย่างดี ด้วยวิธีการดูดซึมและใช้แรงดึงดูดระหว่างอะตอมและโมเลกุล ทั้งยังมีโปรตีนที่เรียกว่า เมทัลโลไธโอนีนส์ (metallothioneins) ที่ดึงดูดโลหะประเภททองแดง เหล็ก แคดเมียม และสังกะสีเข้าไปเก็บในลำต้นได้ดีมากอีกด้วย
ดังนั้น เกษตรกรที่สูงในเปรูจึงระดมปลูกต้นกก และหญ้าในพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งพักน้ำที่ไหลลงมาจากธารน้ำแข็ง โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเทคนิคและวิชาการจาก อูนาแซม หรือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติซานติอาโก อันตูเนซ เดอ มาโยโล ที่เข้าช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนบนที่สูง ที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ระบุว่าด้วยวิธีดังกล่าวทำให้น้ำจากธารน้ำแข็งที่ปนเปื้อนโลหะหนัก มีปริมาณโลหะหนักลดลงอย่างชัดเจนในระดับ 2-3 แมกนิจูด และเพิ่มค่าความเป็นด่างให้แก่น้ำจากธารน้ำแข็งที่มีค่าเป็นกรดสูง (3pH) จนน้ำมีค่า pH เป็นกลางที่ 7pH ทำให้สามารถใช้เลี้ยงปศุสัตว์ได้อย่างน่าพอใจ
ภูมิปัญญาของคนโบราณนั้นไม่ใช่ของที่ไร้ค่า แต่เป็นปัญญาที่กลั่นและกรองมาจากประสบการณ์จริง จนตกผลึกเป็นสูตรสำเร็จที่คนรุ่นหลังจะนำมาใช้ได้อย่างสะดวกใจ แต่ต้องศึกษาและเลือกใช้ให้ถูกต้องตามกาลเทศะเท่านั้น