ข่าว

สงครามซ่อนเร้นแต่ไม่ลับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโลกวันอาทิตย์ : สงครามซ่อนเร้นแต่ไม่ลับ : อิหร่าน-อิสราเอล-สหรัฐ โดย...อุไรวรรณ นอร์มา

                  ความพยายามของฝ่ายตรงข้ามในการสกัดกั้นอิหร่านไม่ให้ก้าวไกลไปถึงขั้นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จ (อิหร่านยืนยันว่า วิจัยอย่างสันติ) และสกัดความคืบหน้าโครงการขีปนาวุธที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ นำพาสู่สงครามรูปแบบหนึ่งที่ยืดเยื้อมาหลายปี และทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เคยมีการประกาศ ไม่มีใครยืนยันว่ามีอยู่จริง และไม่เคยเกี่ยวข้องกับไทย (โดยตรง)

                   จนเมื่อเสียงระเบิดมาดังถึงใจกลางกรุงเทพฯ ไล่หลังเสียงระเบิดในเมืองหลวงอินเดีย และหวิดดังในเมืองหลวงจอร์เจียในเวลาไล่เลี่ยไม่ถึงหนึ่งวัน ช่วง 13-14 กุมภาพันธ์ ได้ทำให้สงครามห่างออกมาจากคำว่า "ซ่อนเร้น" มากขึ้น และทำให้ชื่อเมืองหลวงของไทยเข้าไปอยู่ในลิสต์เหตุร้ายปริศนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

                  สงครามนี้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ยังมีความเห็นต่างกัน ในทัศนะของนายยอสซี เมลแมน ผู้สื่อข่าวสายทหารของหนังสือพิมพ์ ฮาเรตซ์ แห่งอิสราเอล ผู้แต่งหนังสือหลายเรื่องเกี่ยวกับระบบข่าวกรองของอิสราเอล บอกกับโกลบอลโพสต์ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่า เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 หรือเร็วกว่านั้น จากการตายอย่างปริศนาของ นายอาร์เดชิน ฮัสซันพัวร์ นักวิทยาศาสตร์อิหร่าน (อิหร่านระบุว่าสาเหตุเกิดจากแก๊สรั่ว)

                  ส่วนนายโรเนน เบิร์กแมน นักวิเคราะห์การเมืองและการทหารอาวุโส หนังสือพิมพ์ เยดิโอธ อาชโรนอร์ธ และผู้เขียนหนังสือ "สงครามลับกับอิหร่าน" ระบุว่าสงครามนี้ เป็นหนึ่งในสงครามยืดเยื้อที่สุดในตะวันออกกลาง และเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสถาปนาสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เป็นสงครามที่สาธารณชนอาจมองไม่เห็น แต่คร่าชีวิตคนเหมือนกับสงครามทั่วไป

                  ขณะที่ในคอลัมน์ ฟรอนต์ไลน์ ของเครือข่ายพีบีเอส ได้ไล่เรียงเหตุเงื่อนงำในอิหร่านที่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสงครามซ่อนเร้นนี้ยาวนานอย่างน้อย 10 ปี เริ่มจากพันเอกอาลี มาห์มูด มิมานด์ ผู้ก่อตั้งโครงการขีปนาวุธอิหร่าน กลายเป็นร่างไร้วิญญาณในห้องทำงานของตัวเอง เมื่อกรกฎาคม 2544 โดยพบกระสุนปริศนาหนึ่งนัดในศีรษะ

                  นับจากนั้นจนถึงวันนี้ที่อิสราเอลกำลังใช้เหตุระเบิดในสามเมืองหลวงพุ่งเป้านักการทูตของตน เพิ่มแรงกดดันอิหร่านบนเวทีการทูตโลกและตอกย้ำว่า อิหร่านเป็นผู้ส่งออกการก่อการร้ายใหญ่ที่สุดของโลกโดยที่ยังไม่มีการพิสูจน์นั้น  ได้เกิดเหตุวินาศกรรม ลอบสังหาร และวางระเบิดปริศนา ที่ทำให้ผู้มีบาดเจ็บล้มตายในอิหร่านจำนวนมาก  ชวนสงสัยเป็นฝีมือของอิสราเอลและพันธมิตรอย่างสหรัฐอเมริกาแต่พิสูจน์ไม่ได้เช่นกัน

                  7 กุมภาพันธ์ 2550 พลจัตวา อาลี เรีย อาสการิ อดีตที่ปรึกษาของรัฐมนตรีช่วยกลาโหมในรัฐบาลประธานาธิบดีคาตามิ หายตัวไปขณะเดินทางไปกรุงอิสตันบูล อิหร่านบอกว่า นายพลอาสการิถูกลักพาตัว แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า นายพลท่านนี้แปรพักตร์กับตะวันตก แต่ที่สุด อิสราเอลได้ตัวไป เชื่อว่าขณะนี้ยังถูกคุมขังอยู่

                  เมษายน 2549 เกิดเหตุระเบิดในบริเวณโรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมนาทานซ์ ทำให้เครื่องหมุนเหวี่ยง เสียหายบางส่วน เมื่อสอบสวนสาเหตุแล้ว พบว่า เป็นความผิดพลาดด้านเทคนิคของตัวอุปกรณ์ที่อิหร่านนำเข้า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการขายอุปกรณ์บางอย่างให้อิหร่านเพื่อทำให้ระบบรวน และเสียหาย เป็นส่วนหนึ่งของสงครามซ่อนเร้น

                  มกราคม 2550 เกิดเหตุฆาตกรรม ดร.อาร์เดชีร์ ฮัสซันพัวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแม่เหล็กไฟฟ้า และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งต่อมา "สตรัทฟอร์" บริษัทวิเคราะห์ข่าวกรองและความมั่นคงชื่อดัง ออกรายงานระบุว่า มอสสาดอยู่เบื้องหลัง

                  กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน หนังสือพิมพ์ เทเลกราฟ ในอังกฤษ รายงานว่า สหรัฐอเมริกาแอบให้เงินสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในอิหร่านเพื่อเพิ่มแรงกดดันอีกทางหนึ่งให้รัฐบาลเตหะราน ล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์

                  ซีไอเอช่วยให้กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยต่อต้านอิหร่านตามชายแดน รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน และในช่วงปีที่ผ่านมา มีข่าวการก่อความไม่สงบโดยชนกลุ่มน้อยตามชายแดนอิหร่านหลายระลอก ซึ่งรวมถึงการวางระเบิดและลอบสังหารทหารตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐบาล  

                  สอดรับกับรายงานช่วงต้นปี 2551 ว่าประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้รับการอนุมัติอย่างลับๆ จากสภาคองเกรสให้ทุ่มเงิน 400 ล้านดอลลาร์ สำหรับภารกิจบ่อนทำลายระบอบเตหะราน และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ โดยเข้าไปสนับสนุนชนกลุ่มน้อยที่เห็นต่างจากรัฐบาล รวมถึงบางกลุ่มที่สหรัฐขึ้นบัญชีเป็นผู้ก่อการร้าย    

                  มิถุนายน 2553 ระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการทำงานของเครื่องหมุนเหวี่ยงเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม ที่โรงงานนาทานซ์ ติดไวรัส Stuxnet ที่ว่ากันว่าเป็นอาวุธไซเบอร์ทรงอานุภาพและไฮเทคที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะทำให้เครื่องเหวี่ยงแร่ที่โรงงานแห่งนี้ พังไปอย่างน้อยถึง 1,000 ตัว

                  นสพ.เทเลกราฟ อ้างพลโทกาบิ อาชเคนซานิ อดีตเสนาธิการทหารกองทัพอิสราเอล ยืนยันว่าอิสราเอลเป็นผู้ใช้ไวรัสคอมพิวเตอร์โจมตี ขณะที่นิวยอร์กไทม์ส ระบุว่า อิสราเอลได้ทดสอบประสิทธิภาพของไวรัสตัวนี้ กับเตาปฏิกรณ์ของตนก่อนนำมาใช้เล่นงานอิหร่าน

                  จากนั้น ดร.มาจิด ชาห์เรียรี ก็เป็นเหยื่อรายต่อไป ในฐานะผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการคำนวณ ช่วยให้เตาปฏิกรณ์วิจัยเตหะรานซึ่งจัดหารังสีให้ผู้ป่วย 8.5 แสนคนต่อปี เพิ่มสัดส่วนอะตอมแร่ยูเรเนียมเป็น 19.75 % ดร.ซาห์เรียรี เสียชีวิต ส่วนภรรยาได้รับบาดเจ็บจากระเบิดติดแถบแม่เหล็กที่คนร้ายสองคนใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ แปะติดกับรถยนต์ของเขาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553

                   ในวันเดียวกันนั้น มีความพยายามลอบสังหาร ดร.เฟเรดูน อับบาซี เดวานี นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญอีกคนหนึ่ง ในกรุงเตหะราน แต่โชคดีที่รอดชีวิต ปัจจุบัน ดร.เดวานี เป็นประธานองค์การปรมาณูอิหร่าน

                  10 ธันวาคม 2553 เกิดระเบิดอย่างรุนแรงที่ฐานทัพอิหม่าม อาลี ในจังหวัดโลเรสสถาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 40 คน

                  24 กรกฎาคม 2554 นายดาริอุช เรซาเนจัด วิศวกรไฟฟ้าวัย 35 ที่กำลังจะทำปริญญาเอก ถูกมือปืนยิงสังหารพร้อมกับภรรยาในเตหะราน วิศวกรอิหร่านผู้นี้ร่วมออกแบบเครื่องปั่นไฟฟ้าแรงสูงที่ใช้ในทางพลเรือน และอาจใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ด้วย แต่การที่ผู้ตายเคยตีพิมพ์ผลงานวิชาการในวารสารวิทยาศาสตร์เผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้เชื่อกันว่า เหยื่อไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์ ขณะที่หนังสือพิมพ์ เดร์ ชปีเกล ในเยอรมนี ระบุว่า หน่วยข่าวอิสราเอลอยู่เบื้องหลังการลอบสังหาร

                  และในวันเดียวกันนั้น ยังมีศาสตราจารย์ฟิสิกส์ ที่รู้จักในชื่อ ดร.โบรอนซี ถูกลอบสังหารเช่นกันในเตหะราน

                  หลังจากนั้น การโจมตีดูเหมือนพุ่งเป้าไปที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ

                  12 พฤศจิกายน 2554 เกิดระเบิดอย่างรุนแรงที่ฐานขีปนาวุธของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ ดังกึกก้องไปถึงกรุงเตหะรานที่อยู่ห่างออกไปเพียง 40 กิโลเมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 37 ราย รวมทั้ง พลเอก ฮัสซัน เทห์รานี โมกัดดัม หัวหน้าโครงการพัฒนาขีปนาวุธ อิหร่านระบุว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่ไทม์ รายงานอ้างแหล่งข่าวตะวันตกว่า อิสราเอลอยู่เบื้องหลัง

                  หลังจากนั้นสองสัปดาห์ เสียงระเบิดก็ดังขึ้นอีกที่เมืองอิสฟาฮาน เมืองใหญ่อันดับสาม ซึ่งชานเมืองเป็นที่ตั้งโรงงานเปลี่ยนรูปยูเรเนียม เสียงระเบิดดังมากจนผู้คนแตกตื่นวิ่งออกมาบนถนน แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าแรงระเบิดสร้างความเสียหายขนาดไหน

                  12 ธันวาคม 2554 เกิดเหตุระเบิดรุนแรงที่โรงงานผลิตเหล็กกล้า ที่ผลิตชิ้นส่วนขีปนาวุธและเครื่องหมุนเหวี่ยง ทางตอนกลางอิหร่าน มีผู้เสียชีวิต 16 คน

                  และเริ่มปีใหม่เพียง 11 วัน เกิดเหตุลอบสังหาร นายอาห์มาดี โรชาน ผู้อำนวยการโรงงานยูเรเนียมนาทานซ์ จากระเบิดติดแถบแม่เหล็ก

                  เมลแมน จากนสพ. ฮาเรตซ์ ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่า เหตุระเบิดที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์และอาวุธในสามส่วน ส่วนแรกคือการเปลี่ยนรูปยูเรเนียม  ส่วนที่สอง การเพิ่มสมรรถนะ และสุดท้าย ขั้นส่งมอบ เมื่อพ่วงกับการสังหารนักวิทยาศาสตร์หลายต่อหลายคนแล้ว ได้สร้างความวิตกกับผู้มีอำนาจในเตหะรานอย่างมาก ปฏิกิริยามีตั้งแต่อับอายจนถึงเดือดดาล ปฏิกิริยาของประชาชนก็เช่นกัน และเป็นไปได้ที่อยาโตลเลาะห์ผู้มีอำนาจในเตหะราน อาจจะต้องออกคำสั่งให้ตอบโต้

                  การก่อวินาศกรรมในอิหร่าน ต้องอาศัยทั้ง เงิน ความแยบยล เทคโนโลยี สายลับ และข่าวกรองที่แม่นยำ อาทิ ต้องมีคนที่รู้ว่า พลเอกโมกัดดัมจะต้องอยู่ที่ฐานทัพ ในวันที่เข้าไปกำกับดูแลการทดสอบเครื่องกลขีปนาวุธรุ่นใหม่ ส่วนการสังหารนักวิทยาศาสตร์สหรัฐ ฆาตกรก็จะต้องล่วงรู้ความเคลื่อนไหวของเหยื่ออย่างแม่นยำ จนบ่งบอกว่า น่าจะเป็นฝีมือของหน่วยข่าวต่างชาติที่ใช้ชาวอิหร่านที่เห็นต่างจากรัฐบาลเป็นสาย

                  การปล่อยไวรัสคอมพิวเตอร์ก็ต้องการคนเข้าถึงระบบเช่นกัน ใครคนหนึ่งต้องเข้าไปเสียบแฟลชไดรฟ์ที่มีไวรัสเข้ากับระบบควบคุม แต่หัวคิด จัดการวางแผน คือหน่วยข่าวกรองต่างชาติ ซึ่งสำหรับอิหร่านและสื่อต่างชาติเชื่อว่า ปฏิบัติการลับเหล่านี้เป็นฝีมือของหน่วยมอสสาด ที่อาจจะมีหุ้นส่วนตะวันตกอย่าง ซีไอเอ หรือ เอ็มไอซิกซ์ของอังกฤษ ร่วมด้วยก็เป็นได้

                  เหตุร้ายที่เกิดขึ้นตลอดมา อิสราเอลยืนหยัดในจุดเดิม คือไม่เคยยืนยันหรือปฏิเสธว่ามีส่วนหรือไม่

                   เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์คนหนึ่งในอิสราเอล ได้ถาม นายเมียร์ ดาแกน อดีตหัวหน้ามอสสาด ที่ว่าพระเจ้าดลบันดาลปฏิบัติการในอิหร่านหรือ  นายดาแกน ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นผู้สนับสนุนภารกิจลับสุดตัว กล่าวยิ้มๆ ว่า "ถูกต้อง"

                  ขณะที่นายแกร์รี ซามอร์ ผู้ช่วยพิเศษและผู้ประสานงานด้านการควบคุมอาวุธทำลายล้างสูงของประธานาธิบดีบารัก โอบามา พูดชัดกว่านั้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ว่า "ยินดีที่ได้ยินว่า อิหร่านมีปัญหากับเครื่องหมุนเหวี่ยงในโรงงานนิวเคลียร์ สหรัฐและพันธมิตรกำลังทำทุกวิถีทางที่จะทำให้มันยุ่งยากซับซ้อนขึ้นอีก ยังต้องให้พูดชัดกว่านี้หรือไม่สำหรับการบอกว่ามนุษย์อยู่เบื้องหลัง หัตถ์ของพระเจ้า"

......................................
(เปิดโลกวันอาทิตย์ : สงครามซ่อนเร้นแต่ไม่ลับ : อิหร่าน-อิสราเอล-สหรัฐ โดย...อุไรวรรณ นอร์มา)

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ