บันเทิง

ขบวนการซื้อขายเด็กทารก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  มายาประเทศ   โดย...   นิตี้ fb/nitylive

 

 

 

          ข่าวลือ ข่าวลวงในปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นได้ง่ายมากในโลกโซเชียลออนไลน์ บางเรื่องอุปโลกน์ขึ้นแสร้งว่าเป็นคนดีช่วยเหลือผู้คน โพสต์แต่งเรื่องขึ้นจนสื่อบางสำนักตกเป็นเหยื่อเอาไปขยายความจนโด่งดัง จากเคยมีคนติดตามในเฟซบุ๊กหลักร้อยกลายเป็นหลักหมื่นเพียงไม่กี่วัน แต่สุดท้ายก็โป๊ะแตก ที่แท้หลอกลวงหวังให้คนสนใจเพื่อจะได้ขายของออนไลน์นั่นเอง

 

 

          แต่บางเรื่องก็เป็นกลายเตือนภัยในสังคม อาจจะมีจริงแต่ยังไม่มีเคสตัวอย่าง แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลรับอุปการะทารกแรกเกิด โดยตั้งราคา พร้อมระบุเพศ อายุ และรูปภาพของเด็ก เพื่อเสนอผู้สนใจ


          ในแง่มุมของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน มองว่าการขออุปการะเด็กหรือทารกไม่สามารถทำได้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งกรณีนี้อาจมีการหลอกลวง และอาจหมิ่นเหม่ต่อการค้ามนุษย์ ดังนั้นการขอรับอุปการะ หรือการขอรับบุตรบุญธรรมจึงมีขั้นตอนที่ค่อนข้างมากและละเอียดเพื่อรักษาสวัสดิภาพของเด็ก


          อนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มองว่า พ่อแม่ของเด็กหรือเยาวชนที่ไม่สามารถดูแลหรือเลี้ยงดูบุตรได้ สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือและขอคำปรึกษาได้ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือและให้คำปรึกษาทั้งกรณีชั่วคราวหรือการส่งต่อไปสถานรองรับต่างๆ ตามความเหมาะสมของเด็กและเยาวชนในแต่ละช่วงวัย


          ส่วนขอรับบุตรบุญธรรมสามารถติดต่อได้ที่ “พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด” โดยต้องพิจารณาในหลายองค์ประกอบเพื่อความเหมาะสมต่อเด็กและครอบครัวที่ขอรับ

 

          “การค้ามนุษย์ในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่โทษค่อนข้างแรง และมีความร่วมมือทั้งจาก ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) การซื้อขายจึงมักจะไม่พบในรูปแบบที่เปิดเผยแต่จะกระทำในรูปแบบใต้ดิน โดยจะในเขตแนวชายแดนเช่นการล่องเรือเข้าสู่ประเทศเพื่อค้าแรงงานในรูปแบบต่างๆ แต่กรณีการใช้ช่องทางออนไลน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ จะต้องมีการปรับรูปแบบหรือพัฒนาเพื่อตรวจสอบและรองรับต่อไป”

 




          ด้านตำรวจเองก็อธิบายว่าเสี่ยงผิดกฎหมาย อย่าง พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่าจากตรวจสอบเบื้องต้น พบว่ากรณีดังกล่าวมีการใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการเผยแพร่ โดยยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการแชร์ข้อมูล โพสต์หรือแสดงความคิดเห็น อาจเข้าข่ายความผิด และสั่งให้ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว


          หากกรณีดังกล่าวพบไม่เป็นความจริงก็ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากผิดศีลธรรม แต่หากตรวจสอบพบว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งผู้ที่โพสต์ข้อความ แชร์ รวมทั้งผู้แสดงความคิดเห็น ก็จะถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ด้วยเช่นกัน


          “สั่งให้ทาง ปอท.เร่งดำเนินการตรวจสอบถึงที่มาของเฟซบุ๊กชื่อ รับอุปการะเด็กจากแม่ที่ท้องไม่พร้อมแล้ว โดยเบื้องต้นพบว่าเฟซบุ๊กดังกล่าว ได้มีประชาชนเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นถึงความไม่เหมาะสม สำหรับการกระทำดังกล่าวหรือหากมองในแง่ร้าย ทารกเพศชายที่ถูกซื้อไป อาจจะถูกนำไปใช้แรงงานทาส ส่วนทารถหญิงอาจถูกนำไปค้าประเวณี”


          เมื่อได้ฟังทั้งเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายดูแลเด็กและตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว คือเข้าใจตรงกันว่ามันผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงและทำเป็นขบวนการก็น่าวิตก ส่วนตัวเชื่อว่ามีแต่คงไม่ทำแบบเอิกเกริกอย่างนี้ เพราะการโพสต์สาธารณะเหมือน “หาลูกค้า” แบบนี้ ย่อมมีคนหวัง “โกยเงิน” จากการดำเนินการแบบผิดกฎหมาย


          ขอให้เจ้าหน้าที่ตามจับได้ให้เป็นเคสตัวอย่าง เพื่อให้สังคมได้ตระหนัก และคนที่เปิดโปงจะได้เป็นพระเอกตัวจริงด้วย !!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ