บันเทิง

อนาคตต้องสู้! 15 ช่องทีวีดิจิทัล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  มายาประเทศ  โดย...  นิตี้ fb/nitylive 

 

 

          คงทราบกันแล้วว่า 7 ช่องทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาต ประกอบด้วย ช่องไบรท์ทีวี 20, วอยซ์ทีวี 21, เอ็มคอต แฟมิลี่ 14, สปริงนิวส์ 19, สปริง 26, ช่อง 13 แฟมิลี่ และช่อง 3 เอสดี 28 โดยผู้บริหารช่องต่างให้เหตุผลคล้ายๆ กันตามสภาพความเป็นจริงว่า ไม่ไหวที่จะดันทุรังไปต่อ ซึ่งน่าเห็นใจ “คนทำทีวี” คาดราว 2 พันคนจะตกงาน จึงได้แต่หวังให้ได้รับการเยียวยาเพื่อลุกขึ้นก้าวใหม่

 

 

          ส่วนที่เหลืออยู่ 15 ช่องนั้น ใช่ว่าจะง่ายและอยู่รอด เพราะบิ๊กเอเยนซี อย่าง มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ หรือ เอ็มไอ ฟันธงหลัง 7 ช่องคืนใบอนุญาต ไม่หนุนเม็ดเงินโฆษณาโต ที่มีอยู่ 6-7 หมื่นล้านบาท เพราะงบโฆษณาไม่กระจายตัว ช่องเรตติ้งเทียร์ 1 เดินหน้าโกยเงินต่อ


          “ภวัต เรืองเดชวรชัย” ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา ของมีเดีย อินเทลลิเจนซ์ ชี้ว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมโฆษณาหลังผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลตบเท้าคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล (ไลเซนส์) จำนวน 7 ช่อง ว่าเม็ดเงินโฆษณาที่ใช้จ่ายในช่องดังกล่าวคาดว่าไม่ถึง 10% หรือรวมกันที่ 120 ล้านบาทต่อเดือน โดยผู้ชมกลุ่มนี้คาดว่าจะไหลไปยังช่องข่าวและสาระ เช่น ไทยรัฐทีวี เนชั่นทีวี 22 เพราะอาจได้ฐานผู้ชมเดิมจากช่องสปริงนิวส์ และสปริง 26 รวมถึงช่องอมรินทร์ทีวีด้วย


          “ปกติคนดูจะไหลไปดูรายการที่ต้องดูเป็นประจำอยู่แล้ว คือช่องข่าว ทำให้ประเมินว่าไทยรัฐทีวี เนชั่นทีวี อมรินทร์ทีวีจะได้อานิสงส์นี้ และอาจทำให้เรตติ้งขึ้น แต่ตัวแปรที่น่าสนใจอีกอย่างคือรายการ อย่างแม็กซ์ มวยไทย ของสปริง 26 ที่มีคนดูจำนวนมาก เรตติ้งสูง หากย้ายไปยังช่องอื่น เช่น พีพีทีวีเอชดี 36 ก็อาจทำให้เรตติ้งช่องดังกล่าวเพิ่มได้”




          ส่วนเม็ดเงินโฆษณาคาดว่าจะไหลไปยังช่องที่มีเรตติ้งดีในกลุ่มเทียร์ 1 เช่น ช่อง 3 วาไรตี้ความคมชัดสูง (เอชดี) และช่อง 7 เอชดี รวมถึงมีโอกาสช่องที่อยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 เช่น โมโน 29 เวิร์คพอยท์ ช่องวัน เป็นต้น


          “สิ่งที่น่าติดตามคือจำนวนช่องธุรกิจที่เหลือ 15 ช่อง ในมุมของเอเยนซี ยังมองว่าเป็นจำนวนที่มากเกินไป ไม่สอดคล้องกับคนดู เพราะหากพิจารณาอุตสาหกรรมทีวีของไทยที่ผ่านมา และยังไม่ถูกดิจิทัลเข้ามาดิสรัป จำนวนช่อง 4 ช่อง สอดคล้องกับเม็ดเงินโฆษณา 6-7 หมื่นล้านบาท”


          ขณะเดียวกัน คาดว่า 3-5 ปีข้างหน้า คือการผลิตคอนเทนต์ที่ดี ตอบสนองความต้องการคนดูได้ตรงใจมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มการรับชมใหม่ๆ โดยเฉพาะออนไลน์ ควบคู่กันไป เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย ที่ต้องยอมรับว่าเสพสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดียติดอันดับต้นๆ ของโลก ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ชั่วโมงต่อวัน ลดการรับชมรายการผ่านทีวีอยู่ที่ 2-3 ชม. และลงเรื่อยๆ โดยแพลตฟอร์มที่มาแย่งสายตาคนดูหรืออายบอล มีทั้งเน็ตฟลิกซ์ วิว ไลน์ทีวี ยูทูบ แม้กระทั่งเฟซบุ๊ก และอนาคตจะมีแพลตฟอร์มใหม่เข้ามาแข่งเพิ่ม เช่น ดิสนีย์พลัส และวีทีวีจากประเทศจีน เป็นต้น


          “เม็ดเงินโฆษณาราว 6-7 หมื่นล้านบาท ที่หล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล เพียงพอหรือสอดคล้องกับจำนวนช่องที่เหลือไหม ตอบเลยว่าจำนวนช่องยังมาก เพราะอดีตทีวีมีเพียง 4 ช่อง ไม่นับช่องสาธารณะ แต่สินค้า แบรนด์ต่างๆ และเอเยนซีที่ทำมาค้าขายซื้อสื่อโฆษณากันมีเพียง 4 ช่องเท่านั้น อยู่ๆ ประมูลมี 24 ช่อง หายไป 2 ช่อง และเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หายไป 7 ช่อง เหลือ 15 ยังเยอะไป ถ้ามองจำนวนที่เหมาะสม ไม่ควรมีช่องเกิน 10 ช่อง และหากมองเม็ดเงินโฆษณา และดิจิทัลดิสรัปอุตสาหกรรมทุกเดือน ควรมีจำนวนทีวีดิจิทัลเพียง 5 ช่อง”


          นั่นอาจเป็นการวิเคราะห์ที่ดูโหดร้าย สำหรับช่องทีวีดิจิทัลท้ายตารางที่เหลืออยู่ แต่เป็นอนาคตต้องสู้ และอาจรุ่งหรือร่วง แต่ขอให้รอดเพราะได้เลือกทางวิบากนี้แล้ว !!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ