บันเทิง

หนังจอกว้าง - A Moment in June
ณ ขณะรัก

หนังจอกว้าง - A Moment in June ณ ขณะรัก

12 ก.พ. 2552

ผมมีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วครับ ในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ (World Film Festival of Bangkok 2008) และก็แอบลุ้นว่า หนังจะมีโอกาสเข้าฉายในวงกว้างหรือไม่? นอกเหนือไปจากการฉายแบบกระมิดกระเมี้ยน จำกัดรอบ จำกัดโรงตามเทศกาลหนัง

สาเหตุก็เพราะต้องการเป็นสื่อฯ ช่วยส่งเสียงสนับสนุน ส่งผลกระทบต่อหนัง แม้อาจจะน้อยนิด แต่ถ้าหลายๆ สื่อ ช่วยกันส่งเสียงอย่างพร้อมเพรียง ก็น่าจะเกิดกระแสให้มีคนสนใจมาดูกันได้บ้าง ถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับคนทำหนังหน้าใหม่ ที่ทุ่มเทตั้งใจทำงานในสิ่งที่รัก โดยไม่แยแสว่าตลาดหนังไทยทุกวันนี้ มุ่งให้ความสำคัญกับหนังตลก หนังผี รวมไปถึงหนังรักกุ๊กกิ๊ก ซึ่งเริ่มเปิดพื้นที่ ขยับขยายมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่ขณะเดียวกันคนทำ ‘A Moment in June’ ก็หาได้เพิกเฉยละเลย ต่อความประณีต ละเมียดละไม แทบจะทุกอณูประกอบในหนัง ที่ปรากฏในทุกชอต ทุกเฟรม อันเต็มไปด้วยงานศิลป์กระจัดกระจายอยู่รายรอบ ตั้งแต่งานกำกับภาพที่เน้นแสงเงา การกำหนดมุมภาพ การคุมโทนของสีสันที่ให้อารมณ์นุ่มนวลชวนอบอุ่น หรืองานกำกับศิลป์ที่แสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันทั้งการออกแบบฉาก การจัดวางองค์ประกอบอย่างเหมาะเจาะ การใช้สี การเลือกสถานที่ (งานภาพของหนังเรื่องนี้ คล้ายกับได้อิทธิพลจากหนังฮ่องกงเรื่องดังอย่าง ‘In the Mood For Love’ มาพอสมควร) การออกวางเฟรมแต่ละคัตให้มีลักษณะคล้ายโครงสร้างของภาพลายเส้น (Drawing) การใช้พื้นผิวขององค์ประกอบฉาก (Texture) มาสร้างพื้นที่ว่างในเฟรม (Space) ถือเป็นการก่อร่างของ ‘Mise en scene’ (การออกแบบ,จัดวางทุกๆ องค์ประกอบในหนึ่งภาพเพื่อผลต่อการสื่อความหมาย) ทั้งหมดในหนังตามอย่างงานศิลปะชั้นดี เรื่องราวใน “A Moment in June” ว่าด้วยความรักของคน 3 คู่ ที่ผูกโยง ซ้อนทับ และคู่ขนาน ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ สองห้วงเวลา ในปี พ.ศ. 2515 และ 2542 คู่แรกคือ ปกรณ์ (ชาคริต แย้มนาม) ผู้กำกับละครเวที ที่ความสัมพันธ์กับ พล (นภัสกร มิตรเอม) แฟนหนุ่ม กำลังมีปัญหา จนอีกฝ่ายต้องตัดสินใจแยกทางไปอีกสักพัก เพื่อใช้เวลาเยียวยา ในขณะที่อรัญญา (เดือนเต็ม สาลิตุลย์) สาวใหญ่กำลังเดินทางกลับไปเยี่ยม กรุง (สุเชาว์ พงษ์วิไล) เพื่อนชาย ที่เคยมีความหลังอันดีต่อกันเมื่อ 30 ปีก่อน และสุดท้ายเป็นคู่ของว่าที่เจ้าสาว (สินิทธา บุญยศักดิ์) ซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า แต่ว่าที่สามีต้องเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิดกะทันหัน ทิ้งให้อยู่กับเพื่อน (กฤษดา สุโกศล แคลปป์) โดยลำพัง จนทั้งคู่เกิดตกหลุมรักกัน ทั้งๆ ที่อีกฝ่ายมีภรรยาอยู่แล้ว... ดูเผินๆ แม้เรื่องราวความรักของคน 3 คู่ จะไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่หนังกลับเล่าเรื่องความรักของคน 3 คู่ สลับกันไปมา โดยใช้ชั้นเชิงจากบท ที่กำหนดให้พวกเขามีความเกี่ยวพันและยึดโยงเรื่องราวเข้าหากันได้อย่างแนบเนียน ผสมผสานกับศาสตร์ของละครเวที ที่เริ่มต้นจากการเป็นแค่ส่วนหนึ่งในองก์ (sequence) ของ ปกรณ์ และพล แต่ด้วยการแสดงที่กลมกลืน งานศิลป์ขององค์ประกอบฉาก และการใช้ศิลปะของละครเวทีที่เชื่อมต่อจากฉากหนึ่งไปยังอีกฉากหนึ่ง ค่อยๆ หลอมรวมเรื่องราวของนักแสดงบนเวที กลายเป็นอีกภาพสะท้อนของคู่รักหนึ่งคู่ ได้อย่างงดงาม และทำให้หนังถ่ายทอดความรักในหลายรูปแบบได้อย่างลงตัว ตั้งแต่ความรักของผู้ใหญ่วัยกลางคน ที่กลับไปทบทวนความรู้สึกดีๆ ที่ตั้งใจทิ้งไว้เป็นอดีตให้แก่กัน... การตั้งคำถามในความสัมพันธ์อันคลอนแคลนของคู่เกย์หนุ่ม และการตัดสินใจเลือกระหว่างทำตามความรู้สึกลึกๆ ในใจที่กั้นขวางโดยเส้นศีลธรรมบางๆ ของคู่รักหนุ่มสาวข้าวใหม่ปลามัน ที่เรื่องราวดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เมื่อถูกเล่าอย่างมีลีลา และนำเสนออย่างมีชั้นเชิง ก็ทำให้ “A Moment in June” ได้ชื่อว่าเป็นหนังรักที่ไม่ธรรมดา เพราะนอกจากโดดเด่นด้วยโครงสร้างของพล็อตที่เล่าเรื่องความรักต่างมุมมองที่โยงใยถึงกันได้อย่างชาญฉลาดแล้ว ยังสามารถควบคุมบรรยากาศโดยรวมได้เป็นหนึ่งเดียว โดยไม่รู้สึกแปลกแยก แม้แต่ละองก์ในหนัง จะแตกต่างกันทั้งเรื่องของสถานที่ ยุคสมัย บริบทแวดล้อมของเหตุการณ์และตัวละคร แต่ทว่าเพลง ‘ท่าฉลอม’ โรงหนังสแตนอโลน ‘ท่ามะเขือราม่า’ ภาพคัทเอ้าท์สีฉูดฉาดของหนังไทยสมัยก่อน สถานีรถไฟ หรือแม้แต่ท่าเรือข้ามฟาก ต่างก็ล้วนเป็นเสน่ห์ของสถานที่และเชื่อมโยงทุกๆ เรื่องราวเข้าด้วยกันได้อย่างน่าประทับใจ ปัญหาของหนังเพียงอย่างเดียวอยู่ที่บทสนทนา ซึ่งเต็มไปด้วยจริตแบบตะวันตก ที่ดูขัดเขินอย่างยิ่ง กับตัวละครคนไทย (อาจจะเป็นเพราะผู้กำกับร่ำเรียนในต่างประเทศมานาน) ปัญหานี้พออนุโลมได้ในองก์ของปกรณ์ และคู่รักเจ้าสาวกับเพื่อนเจ้าบ่าว เนื่องจากหนังใช้การแสดงละครเวที มาครอบทับการแสดงส่วนนี้อีกที ความคลุมเครือกลับไปกลับมาระหว่างชีวิตจริงและละครเวที จึงพอจะช่วยกลบเกลื่อนไปได้ แต่เมื่ออยู่ในองก์ของอรัญญาและกรุง บทสนทนากลับฟังแล้วแปร่งปร่า ขัดหู โดยเฉพาะตัวละคร ซึ่งเป็นคนในอดีต (สังเกตจากการใช้ชื่อดารารุ่นเก่า) แวดล้อมด้วยสิ่งที่เป็นเหมือนความหลังของคนยุคปัจจุบันอย่าง ม้าหมุน, ชิงช้าสวรรค์, เรือข้ามฟาก บ้านไม้ประตูบานเฟี้ยมโบราณ แต่ภาษาที่ใช้ในลักษณะเหมือนกับถอดแบบมาจากวรรณกรรมที่ฟุ่มเฟือยกับการใช้พรรณาโวหารอย่าง ‘มันคงจะง่ายกว่านี้ ถ้าฉันรู้ว่าคุณไม่รู้สึกเหมือนเดิมกับฉันอีกแล้ว’ แต่ด้วยความเจนจัดต่อประสบการณ์ของนักแสดงรุ่นใหญ่สองท่านอย่าง เดือนเต็ม สาลิตุลย์ และ สุเชาว์ พงษ์วิไล ที่ส่งผ่านความรู้สึกออกมาทางสีหน้าแววตา บทสนทนาแปร่งหูที่ว่า ก็แทบจะไม่ต้องไปใส่ใจฟัง “A Moment in June” คือหนังที่รวมงานศิลปะไว้อย่างครบครัน ทั้งความวิจิตรของภาพที่ปรากฏ และศิลปะการแสดงอันลุ่มลึก ที่ถ่ายทอดออกจากจิตวิญญาณของการเป็นนักแสดงชั้นครู ชื่อเรื่อง : A Moment in June ณ ขณะรัก กำกับ-เขียนบท-อำนวยการสร้าง : ณัฐพล วงศ์ตรีเนตรกุล นักแสดง : ชาคริต แย้มนาม, นภัสกร มิตรเอม, เดือนเต็ม สาลิตุลย์, สุเชาว์ พงษ์วิไล, สินิทธา บุญยศักดิ์, กฤษดา สุโกศล แคลปป์, มยุริญ ผ่องผุดพันธ์, ฮิโระ ซาโน่ ความยาว : 103 นาที วันที่เข้าฉาย : 12 กุมภาพันธ์ 2552 "ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"