บันเทิง

เอกเขนกดูหนัง:'เมืองในหมอก'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'เมืองในหมอก' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม

 
 
 
          ในประวัติภาพยนตร์ไทยที่มีอายุอานามหนึ่งร้อยปีเศษๆ หนึ่งในตำนานหนังไทยคลาสสิกที่ถูกหยิบนำมาพูดถึงอยู่บ่อยๆ และถูกจัดให้เป็นหนังไทยหนึ่งในร้อยเรื่องที่คนไทยควรดู และเมื่อราวสองปี่ก่อน หนังเรื่องนี้ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า “เมืองในหมอก” ของผู้กำกับ เพิ่มพล เชยอรุณ
 
          หนังเรื่องนี้ จัดว่า ‘มาก่อนกาล’ ครับ ในยุคสมัยที่หนังออกฉายเมื่อปี พ.ศ.2521 นั้นตัวหนังไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย ด้วยเพราะเนื้อหาที่ไม่ได้ร่วมยุคสมัยนิยมของหนังไทยในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นการดำรงฐานะแบบหนังบู๊ล้างผลาญประเภทระเบิดภูเขาเผากระท่อม หนังรักรันทดชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตาหรือรักตลกพ่อแง่แม่งอน ซึ่งแนวทางของหนังไทยเหล่านี้ล้วนเป็นที่ได้รับความนิยมในโมงยามความรุ่งเรืองของวงการหนังไทย ซึ่งมีการสร้างหนังมากถึงปีละเป็นร้อยเรื่องเลยทีเดียวแต่ก็เป็นที่เสียดายว่าในจำนวนที่มากมายนั้นหนังที่พยายามสร้างความแตกต่างเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับคนดูนั้นกลับได้เป็นที่ยอมรับเท่าที่ควร (ซึ่งก็ไม่ต่างจากปีพ.ศ.นี้เท่าไหร่นักแม้เวลาจะผ่านมากว่า 30 ปีแล้วก็ตาม)
 
          “เมืองในหมอก” อาจไม่ได้ยอมนรับนับถือในความเป็นต้นฉบับสักเท่าใดนัก เพราะหนังดัดแปลงมาจากบทละครของ อัลแบรต์ กามูส์ นักคิด นักเขียน คนสำคัญชาวฝรั่งเศส ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 ในชื่อ le melentenduหรือชื่อภาษาอังกฤษว่า the misunderstanding และได้รับการนำมาร่วมเล่มแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ความเข้าใจผิด ออกตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2536 โดยคุณอำพรรณ โอตระกูล ตัวหนังนั้นเล่าถึงครอบครัวหนึ่งที่ประกอบกิจการโรงแรมในเมืองห่างไกลกันดาร อากาศหนาวเย็นมีหมอกปกคลุมอยู่แทบจะตลอดเวลา โดยมีเบื้องหลังอันน่าสะพรึงกลัวคือการลอบวางยาพิษแขกที่มาพักเพื่อชิงเอาทรัพย์สินเงินทอง 
 
          เนื้อหาของหนังไม่เพียงสะท้อนด้านมืดในใจผู้คนเท่านั้น พล็อตบางช่วงตอนยังสะท้อนมุมมองส่วนตัวของคนทำหนังลงไปด้วย ตั้งแต่ฉากแรกๆ ที่เกริ่นแนะนำตัวละครในครอบครัว ตั้งแต่ พ่อ แม่ คนรับใช้ และลูกชาย  
 
          คนโตที่วิ่งหนีหายออกไปจากบ้านในวันหนึ่ง หลังถูกผู้พ่อเข้มงวด ทำลายกล้องรูเข็มของเล่นชิ้นโปรดเพียงชิ้นเดียวที่มีอยู่ ซึ่งกล้องรูเข็มนั้นเป็นประดิษฐกรรมที่ถือกำเนิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 16 และพัฒนาจนก่อให้เกิดกล้องถ่ายภาพและภาพยนตร์ตามมา ฉากที่พ่อกระทืบกล้องรูเข็มจนแตกยับ ทำให้ไอ้หนูเบือนหน้าหนีและตัดสินใจวิ่งจากบ้านไป น่าจะสะท้อนถึงการพยายามโหยหาอิสรภาพของคนทำหนังไทยในยุคนั้น (ช่วงปี พ.ศ. 2519 - 2529 เกิดคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ มากมายหลายคนได้รับการยอมรับในฐานะคลื่นลูกใหม่ผู้บุกเบิกแผ้วถางแนวทางการทำงานใหม่ๆ ให้กับวงการหนังไทยปัจจุบันไม่ว่าจะเป็น ม.จ. ชาตรีเฉลิมยุคล, สมบูรณ์สุขนิยมศิริ หรือ เปี๊ยก โปสเตอร์, วิจิตรคุณาวุฒิ, เชิดทรงศรี และ เพิ่มพล เชยอรุณ ก็เป็นหนึ่งในผู้กำกับร่วมยุคสมัยที่หนังของเขาแต่ละเรื่องล้วนสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการหนังไทยในช่วงเวลานั้นรวมถึงนักแสดงชั้นแยี่ยมที่ชื่อ สุพรรณ บูรณะพิมพ์)
 
          เรื่องราวที่ดัดแปลงมาจากบทละครของกามูส์ ก็ดูเหมือนจะพยายามนำมาใช้ให้สอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนาในช่วงเวลานั้น เพราะสุดท้ายกรรมก็สนองครอบครัวนี้เมื่อวันหนึ่งมีโจรร้ายบุกปล้นโรงแรมฆ่าหัวหน้าครอบครัวตายและทำร้ายลูกสาวจนขาพิการทำให้แม่ลูกสาวและคนรับใช้ต้องรับหน้าบทบาทฆาตกรต่อเนื่องวางยาฆ่าแขกที่มาพักรายอื่นๆเพื่อชิงทรัพย์ต่อไป แต่ทั้งนี้พวกเขาก็หวังจะเก็บเอาทรัพย์สินเงินทองเหล่านั้นเป็นทุนรอนเพื่อหนีไปให้ไกลจากเมืองในหมอก บ้านป่าแดนเถื่อนแห่งนี้นั่นเอง
 
          งานด้านภาพของเมืองในหมอกไม่เพียงเฉดสีและแสงเงาที่ถูกออกแบบมาในแนวทางของฟิล์มนัวร์ที่เน้นความหม่นทึบมืดอับ แต่งานกำกับภาพก็ถือว่าแตกต่างจากหนังในยุคสมัยรุ่นราวคราวเดียวกันค่อนข้างมาก เพราะการจัดองค์ประกอบภาพที่ไม่เน้นให้คนหรือวัตถุอยู่กลางเฟรมหากแต่จัดวางให้ subject ไม่อยู่ซ้ายก็ขวา เน้นภาพ close up มากกว่าภาพระยะไกล การบันทึกสีหน้า แววตา เพื่อสื่อให้เห็นถึงปมปัญหาทางจิตที่ตัวละครต้องเผชิญหรือทุกครั้งในฉากที่แม่ลูกปรับทุกข์กันในล็อบบี้ (จะว่าไปมันก็ดูเหมือนแค่ห้องรับแขกเล็กๆ เก่าๆ ซอมซ่อ) กล้องจะเปลี่ยนตำแหน่งไปบันทึกภาพในมุมสูง ปรากฎให้เห็นคู่แม่ลูก ที่ถูกคนดูเมียงมองด้วยความรู้สึกอับจนต่ำต้อยด้อยค่า (ในเครดิตบนไตเติ้ลหนัง ระบุว่า เพิ่มพล เชยอรุณ รับหน้าที่ถ่านภาพ) งานออกแบบฉากกำกับศิลป์ และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ผู้กำกับเพิ่มพล ได้สร้างตัวละครของเขาประหนึ่งว่าเป็นคนที่อยู่ในอีกโลกหนึ่ง ตั้งแต่โรงแรมเปลี่ยวร้างห่างไกลจากตัวเมือง ชื่อเสียงเรียงนามของตัวละคร ตั้งแต่ลูกสาวชื่อ ‘ฝง’ มีแม่ชื่อ ‘จ้าง’ คนรับใช้ชื่อ ‘เติบ’ และ ‘เสี้ยว’ ลูกชายคนโตที่หวนกลับมาเยี่ยมครอบครัว หลังหนีออกจากบ้านไปนานแรมปี  กระทั่งตัวละครที่เป็นเหมือนผู้นำ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้รักษากฎคุ้มครองเมืองเล็กๆแห่งนี้ ก็ยังถูกตั้งชื่อให้ว่า ‘ปู่บ้าน’ แต่ก็ใช่ว่าจะทำตัวเป็นคนดีทำหน้าที่คุ้มกฎดูแลสารทุกข์สุกดิบให้ชาวบ้าน เพราะเอาเข้าจริง ‘ปู่บ้าน’ ก็มีสภาพไม่ต่างจากนักเลง หรือเจ้าพ่อมาเฟีย คอยหาผลประโยชน์เท่าที่โอกาสอำนวย หนำซ้ำลูกน้องบางคนยังสำมะเลเทเมาไม่เอาถ่าน ตัวละครที่มาพักในโรงแรม ก็ล้วนแต่ประหลาดเพี้ยน เพราะมีทั้งนักมายากลอารมณ์ดี แม่เล้าที่ออกเดินทางสอดส่องมองหาหญิงสาวมาทำงานขายบริการใกล้ตน และคู่รักข้าวใหม่ปลามัน ที่วันๆ หมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องเซ็กส์ 
 
          เมืองในหมอก นอกจากเป็นหนังที่ตีแผ่ความชั่วร้ายของคนและสะท้อนให้เห็นถึงผลที่ย้อนกลับมาแล้ว งานด้านเทคนิคที่ทั้งพยายามทดลองเล่าเรื่องและสื่อความหมายใหม่ๆ ทั้งการถ่ายภาพและตัดต่อ ที่เมื่อดูจากพ.ศ.นี้ จะเห็นว่ากลวิธีต่างๆ ที่หนังใช้หาได้ล้าสมัยตกยุคแต่อย่างใด เสียดายก็แต่การเก็บรักษาหนังต้นฉบับและนำออกเผยแพร่(ในรูปแบบดีวีดี) ที่ไม่มีการบูรณะให้กลับมีสภาพใกล้เคียงต้นฉบับ จึงได้ดูหนัง (แผ่นดีวีดี) สีเพี้ยนๆ ท่ามกลางระบบเสียงที่อื้ออึงฟังแทบไม่ได้ศัพท์ ลดทอนคุณค่าอันยอดเยี่ยมของหนังไปอย่างน่าเสียดาย
 
.......................................
(หมายเหตุ 'เมืองในหมอก' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม)
 
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ