บันเทิง

หนัง-ละครยุคใหม่สะท้อนความเป็นไปของ'วัยรุ่น'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนัง-ละครยุคใหม่สะท้อนความเป็นไปของ'วัยรุ่น' : สกู๊ปบันเทิง

 
          วัยรุ่น ... วัยแห่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ วัยที่มีการเปลี่ยนแปลงจากเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ทั้งร่างกาย อารมณ์และสังคม หลายคนมองว่า วัยนี้เป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งเป็นวิกฤติช่วงหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนที่จะต้องผ่านพ้นวัยนี้ไปให้ได้
 
          จากกระแสละครตามช่องทีวีเคเบิลในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเทรนด์หนัง-ละครวัยรุ่นเมืองไทยเริ่มเปลี่ยนไป ยุคหนึ่งเราอาจเห็นหนัง-ละครวัยรุ่นนำเสนอเรื่องราวของเพื่อนและครอบครัว บอกเล่าความสนุกสนานในชีวิตวัยรุ่น ความรักใสๆ ในวัยเรียน เราจะเห็นได้จาก แฟนฉัน กลิ่นสีและทีแปรง หวานมันฉันคือเธอ กระโปรงบานขาสั้น จักรยานสีแดง เจนี่กลางวันครับกลางคืนค่ะ ไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นยุคนั้น แหล่งที่เที่ยวยอดนิยมคงไม่พ้นสยามสแควร์ พาต้าหรือไดมารู วัยรุ่นอาจฟังเพลงผ่านวิทยุ และโทรหากันโดยโทรศัพท์บ้าน ส่วนฉากเลิฟซีนแรงสุดคงพ้นฉากจับมือ เรียกว่าแค่นิ้วของพระ-นางแตะกันก็ฟินได้
 
          พอมาถึงยุคของภาพยนตร์เรื่อง ซักซีดห่วยขั้นเทพ สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก ไฟนอลซิเคร็ด ม.3 ปี 4 เรารักนาย ฯลฯ เราจะเห็นได้ว่าไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นนั้นเปลี่ยนไป วัยรุ่นทุกคนเริ่มใช้โทรศัพท์มือถือ ทุกคนต่างใช้คอมพิวเตอร์ในการทำรายงาน มีการแชตและใช้โชเชียลมีเดียประหนึ่งอวัยวะชิ้นที่ 33 และที่เห็นเด่นชัดคงไม่พ้นฉากเลิฟที่ดูจะรุนแรงขึ้นตามยุคสมัย และไม่ได้หยุดอยู่ที่จับมืออีกต่อไป
 
          หนัง-ละครในยุคต่อๆ มาเริ่มสะท้อนปัญหาวัยรุ่นและพูดถึงความรุนแรงที่เกิดจากครอบครัวและสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาวัยรุ่นตีกันใน 2499 อันธพาลครองเมือง หรือจะเป็นปัญหายาเสพติดที่ก้าวไปสู่ปัญหาโสเภณีเด็กใน เสียดาย หรือแม้แต่ปัญหาท้องก่อนแต่งซึ่งจะพบเห็นได้ใน กว่าจะรู้เดียงสา แต่เมื่อวิวัฒนาการเปลี่ยนไปหนังเหล่านี้กลับถูกสะท้อนปัญหาในอีกแง่มุมหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมุมมองเรื่องความรักที่เปลี่ยนไป วัยรุ่นหลายคนมองว่าเรื่องเซ็กซ์ไม่ใช่เรื่องใหญ่ใน รักจัดหนัก หรือจะเป็นเทรนการบ้าดาราต่างประเทศขนาดต้องไปเรียนภาษาต่างชาติใน ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น หรือการบ้าเทคโนโลยีที่เกินพิกัดของหนุ่มๆ ในภาพยนตร์เรื่อง เกรียนฟิคชั่น หรือนำเสนอเรื่องความรักของเพศที่สาม กันอย่างโจ๋งครึ่มใน “รักแห่งสยาม” ที่นำแสดงโดย มาริโอ้ เมาเร่อ และ “พิช” วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล แต่ในยุคนี้ เรื่องไหนก็คงจะนำเสนอปัญหาวัยรุ่นได้ไม่กระแทกใจเท่ากับเรื่อง “ฮอร์โมน”
 
          วิสูตร พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารแห่งค่ายหนังจีทีเอช มองว่ากระแสความแรงของ ฮอร์โมน เกิดจากการนำเสนอเรื่องเก่า (ที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว) ในรูปแบบใหม่ที่เหมาะกับยุคสมัย เพราะวัยรุ่นคือวัยที่ต้องการคนรัก ต้องการคนสนใจ อยากเป็นจุดเด่นและอยากแสดงออก
 
          "ในวัยผมเวลาจีบผู้หญิงอาจขึ้นรถเมล์ เขียนจดหมายใช้โทรศัพท์สาธารณะสำหรับจีบหญิง แต่เดี๋ยวนี้วิวัฒนาการมันเปลี่ยนไป วัยรุ่นเดี๋ยวนี้อาจรถไฟฟ้า ใช้โทรศัพท์มือถือและเล่นคอมพิวเตอร์ สิ่งที่ผมอยากบอกคือรูปแบบแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นมันเปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการ หนัง-ละครก็เหมือนกันหากเรายังใช้รูปแบบเดิมๆ มันก็จะดูเชยและน่าเบื่อ เพราะคนดูพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเราทำออกมาจำเจเป็นรูปแบบเดิมๆ มันก็ไปไม่ได้ ซีรีส์เรื่องฮอร์โมนนั้นติดเงื่อนไขหลายอย่าง หากเราไปนำเสนอทางช่องฟรีทีวี มันอาจไม่ได้กระแสแรงเท่านี้ ถามว่าเรื่องนี้เปิดกว้างเรื่องเกย์มากขึ้นไหม สำหรับผมบ้านเราเปิดกว้างเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ตั้งแต่หนังเรื่อง “สตรีเหล็ก” ซึ่งมันใม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย เพียงแต่เรานำเสนอในรูปแบบที่เข้ายุคสมัยมากขึ้น นอกจากนี้การที่เราได้แพร่ภาพทางช่องเคเบิลมีส่วนช่วยให้การนำเสนอของเราค่อนข้างอิสระ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างยูทูบก็มีส่วนช่วยทำให้มีกลุ่มคนดูที่กว้างขึ้น เรามั่นใจว่าต่อจากนี้อาจมีหนัง-ละครแนวฮอร์โมนออกมาอีก แต่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเท่า" วิสูตร กล่าว
 
          ในขณะที่ อ.มโนธรรม เทียบเทียมรัตน์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ได้บอกเล่าถึงการนำเสนอเรื่องราวของหนัง-ละครวัยรุ่น ที่มีการนำเสนอความรุนแรง และเรื่องราวที่ล่อแหลมรวมถึงเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้นเป็นเพราะว่า
 
          "ช่องเคเบิลสามารถนำเสนออย่างเสรีมากกว่าฟรีทีวี ซึ่งการเซ็นเซอร์หรือการที่จะอนุมัติให้เรื่องใดฉายได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของทางช่องนั้นๆ เมื่อก่อนหนัง-ละคร จะมีภาคบังคับคนดีและคนร้ายต่างแสดงพฤติกรรมแยกกันอย่างชัดเจน แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ความคิดในการนำเสนอเปลี่ยนไป นอกจากพฤติกรรมแล้ว ยังรวมถึงยุคสมัยและเทคโนโลยีที่มีมากขึ้น แต่อาจรวมถึงความแปรผันทางด้านการเมืองซึมเข้ามาสู่วิธีการผลิต ทำให้หนัง-ละครยุคหลังๆ ทำให้คนดูรู้สึกว่าศีลธรรมบ้านเราเสื่อมโทรมลง หลายเรื่องที่นำเสนอในด้านดาร์คมากๆ ซึ่งซีรีย์เรื่องฮอร์โมนต่างนำเสนอความดาร์คของวัยรุ่นไว้หลากหลาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือฉากที่นักเรียนหญิงคนหนึ่งพานักเรียนชายมาค้างที่บ้าง แล้วภาพตัดมาเป็นฉากที่นักเรียนชายรีดเสื้อตัวเองในขณะที่นักเรียนหญิงนั่งอยู่โซฟาข้างๆ แล้วแม่ของนักเรียนหญิงก็เข้ามาเห็นลูกสาวซึ่งแน่นอนว่าเป็นใครก็ต้องคิดไปต่างๆ นานา ว่าชายหญิงอยู่ด้วยกันต้องเกิดอะไรขึ้นแน่นอน แต่นักเรียนหญิงกลับใช้ประโยคๆ เดียวในการคลี่คลายสถานการณ์ว่า “เขาเป็นตุ๊ด” หรือแม้แต่ฉากที่แม่เดินมาบอกลูกสาววัยรุ่นว่าตัวเองตั้งท้อง ในขณะที่ลูกสาวถามกลับด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่าทำไมแม่ถึงไม่ป้องกัน พฤติกรรมเหล่านี้เราจะเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย" อ.มโนธรรมกล่าว
.......................................
(หมายเหตุ หนัง-ละครยุคใหม่สะท้อนความเป็นไปของ'วัยรุ่น' : สกู๊ปบันเทิง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ