บันเทิง

Concert Nuvo B side

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

Concert Nuvo B side : คอลัมน์ ไตรโทน โดย... จิรายุส วรรธนะสิน

          ในยุคที่ต้องทำอัลบั้มเพลงในรูปแบบเทปคาสเซ็ต หนึ่งตลับ ต้องมีอย่างน้อย สิบเพลง เพื่อจะขายในราคาขายจริง แปดสิบบาท หรือบางวงก็มีถึงสิบห้าเพลง ส่วนใหญ่จะเป็นวงจากอังกฤษ และอเมริกา ที่เราจะเห็นว่าในหนึ่งชุดมีมากกว่าสิบเพลง ความแตกต่างมันอยู่ตรงนี้ครับ คือเราไม่ต้องย้อนอดีตไปไกลขนาด จิมมี่ เฮนดริก, เดอะ บีทเทิล, ดิ อีเกิล หรือ โรลลิงสโตนส์ เอาสักแค่ สิบห้าปี ยี่สิบปี หลังๆ ก่อนคาสเซ็ตจะสิ้นยุคก็พอ ผมจำได้ว่า วงกันส์แอนด์โรสเซส เคยมีอัลบั้มออกครั้งเดียว สองตลับเทปกันเลยทีเดียว ตลับสีแดงกับตลับสีน้ำเงิน เรียกว่าออกกันสี่สิบเพลง บวกๆ ต้องซื้อเป็นแพ็กคู่ แล้วเท่าที่จำได้ เราก็ควักตังค์ให้เขาเช่นกัน เป็นไงครับ ก็ต้องฟังไปเรื่อยๆ จนชอบหมดทุกเพลง ไฟแรงมากท่าทางแกคงจะแต่งเพลงกันเร็ว ทะลักออกมาแบบตลับเดียวเอาไม่อยู่ …มีเยอะครับวงดังๆ ช่วงนั้นที่เป็นแบบนี้ และก็มีอีกหลายท่าน ที่ออกเพลงมาเกินสิบเพลง แต่ท้ายที่สุดก็ติดหูอยู่ไม่กี่เพลง… จะมีฟังได้ทุกเพลงอย่างวงบีจี หรือ คาร์เพนเตอร์ หายาก แม้แต่วงเดอะบีทเทิลเอง ถ้าไม่ใช่แฟนคลับจริงๆ ก็ไม่เอาทุกเพลง... แต่ถ้าแฟนตัวจริง มันเลยไปถึงว่า บ้านช่องอยู่ที่ถนนอะไรกันไปแล้ว เพลงก็จำได้ทุกตัวอักษร อย่างสิ้นเชิง… สมมุติ นะครับ สมมุติ  ถ้า จอห์น เลนนอน จอร์จ แฮริสันยังไม่ตาย แล้วทั้งสี่ท่านยังไหวอยู่ ผมว่าถ้ามาบ้านเรา หรือที่ไหนในโลก บัตรก็ยังคงเต็มทุกที่แน่นอน ถ้าสิบห้าปีที่แล้วมา เมืองไทย ราชมังคลา ก็มีสิทธิ์คนเต็มให้เห็น ทุกวันนี้ตัวปลอมยังรวยเลย สำหรับวงนี้ The Beatles
 
          ประเด็นผมอยู่ที่นี่ครับในวันนี้  คือโดยหลักการแล้วผมว่าในทุกๆ อัลบั้ม เพลงที่ถูกวางไว้ให้เป็นตัวนำร่อง จากการนำเสนอของเจ้าของเพลงมักจะถูกวางไว้ให้ได้ยินเป็นเพลงแรกๆ ง่ายๆ ก็คืออยู่หน้า เอ นั่นแหละ บางครั้งชื่อเพลงคือชื่ออัลบัมนั้นเลย  เป็นคอนเซ็ปต์ ของการนำเสนออย่างแข็งแรง ถ้าโดน ก็คือ "It's The Hit !!" คำนี้ฝรั่งหมายถึงขายกันกระจาย ไม่ต้องรอยอด ออเดอร์… ปั๊มเทปห่อพลาสติก รอส่งขายได้เลย เราจึงจะเห็นได้ว่า ยุคเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว มีบริษัทตัวแทนจากต่างชาติ ซึ่งดูแลเรื่องเพลงโดยตรง เปิดกันทั่วบ้านทั่วเมือง เช่น อีเอ็มไอ วอร์นเนอร์ โซนี่ ของบ้านเรา ในเพลงไทยสากล อโซน่า น่าจะเป็นเจ้าแรกๆ และถึงแม้เพลงที่ถูกนำเสนอไม่แข็งแรง หรือเพลงไม่ติดหูก็ไม่ถึงกับแย่ เพราะมันก็สามารถหาหนทางของมันไปได้เรื่อยๆ หยิบเพลงที่สามหน้าเอ มาโปรโมทใหม่ ก็กลับมาฮิตได้ไม่ยาก แล้วก็จบอย่างสวยงามคือ คนก็จะฟังทุกเพลงในเทปม้วนนั้น ทั้งหน้าเอ และหน้าบี ตลอดจนไปถึงอัลบั้มเหล่านั้นก็ยังวางอยู่ในหมวด A-Z ตลอดกาล
 
          คือผมจะให้ทุกท่านเห็นบรรยากาศในยุคหนึ่ง มันลงตัวมากกับธุรกิจดนตรี ที่ไม่มีอะไรรีบเร่ง คนแต่งอยากเสนออะไรว่ามา ตลาดรออยู่ ถ้าไม่โดนเอาใหม่ ยิ่งมีชื่อเสียงดีอยู่แล้วออกผลงานมาเถอะแฟนๆ รออยู่ จะยุค 70, 80 จะดิสโก้ เพลงฟังง่าย หรือเฮฟวี่เมทเทิล มีความสุขรวยกันทั้งโลกเลยทีเดียว รวมถึงเพลงคลาสสิกสามร้อยปี อย่าง บาร์ก หรือ บีโธเฟ่น ยังขายได้ในรูปแบบเทปคาสเซ็ต จะอัดใหม่หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นช่วงยี่สิบปีทองของคาสเซ็ตเทปเลยทีเดียว ยุคของแผ่นเสียงน่าจะหาซื้อได้ยากกว่าในความคิดของผม แต่ถ้ายุคผมเทปคาสเซ็ต กระหึ่มมาก อ่านมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องความตกต่ำของวงการเพลงนะครับที่ผมจะพูดต่อ เราก้าวข้ามเรื่องนั้นมาด้วยกันแล้ว มีขึ้นก็ต้องมีลงเรื่องธรรมดา
 
          เรามาถึงยุคเพลงไทยเฟื่องฟูกันบ้าง จากสายการผลิตธุรกิจเพลงสัดส่วนการแบ่งรายได้ ถูกพิสูจน์ออกมาเป็น Fact แล้วว่า หนึ่งอัลบั้ม ต้องมี สิบเพลง อย่าให้ต้องอธิบายต่อว่าเพราะเหตุใด จึงเกินสิบเพลงไม่ได้หรือขาดไม่ได้ เอาเป็นว่าอะไรที่เป็น Fact แล้วไม่ต้องพิสูจน์ เราพูดกันเฉพาะโรงงานผลิตเพลง เช่น แกรมมี่ อาร์เอส คีตา ครีเอเทีย เท่านั้น ส่วนพี่หมู พงษ์เทพ หรือน้าแอ๊ด บาว หรือพี่นุภาพ จะออกกี่เพลงในหนึ่งตลับนั้นแล้วแต่ครับ เราจะมาว่ากันในสิ่งที่จับต้องได้  ทุกอัลบั้มในยุคที่ว่า เพลงหน้าบีมักจะเป็นตัวตนของผู้นำเสนอที่ไม่ใช่แค่เพียงแปะๆ เข้าไปให้มันครบสิบเพลง หรือเพื่อผดุงราคา แปดสิบบาท ไว้เท่านั้น แต่ผู้เสนอหรือทีมผู้เสนอซึ่งยังมีไฟกันอยู่ทั้งคณะ ยังได้ละเลงฝีไม้ลายมือทำเพลงออกมาตามคอนเซ็ปต์ที่ตั้งไว้ สนับสนุนการฟังเพลงให้เกิดความอิ่มเอม โดยเฉพาะเมื่อฟังเครื่องเล่นเทปในรถยามขับไปเที่ยวหัวหินในเครื่องเล่นที่มีระบบกลับหน้าเทปในตัว คุณจะรู้สึกกลมกลืนและฟังได้เรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปสองรอบ นี่คือตัวอย่างของความลงตัว ในยุคหนึ่งครับ แน่นอนอาจมีสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นได้อีก เช่นขี้เกียจกรอเทปไปข้างหน้า หรือเพลงในชาติเรามีน้อย หรืออะไรก็ตามผมไม่อาจวิเคราะห์ได้ เพราะไม่ใช่จิตแพทย์ แต่ผมให้สาเหตุใหญ่ๆ คือการวางระบบ การใช้คนให้ถูกที่ถูกทาง การเรียงเพลง ความสามารถอันหลากหลายของโหมดคอร์ดดนตรี กรูฟ ดนตรีของโปรดิวเซอร์ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ไฟ ในการทำงานกับบรรยากาศของยุค ขุดทองเพลงไทย(สากล) เมื่อเงินไหลมาเทมา บรรยากาศก็ดีอะไรมันก็ลงตัวไปหมด เราจะไม่พูดไปจนถึงยุคเทปผีซีดีเถื่อนนะครับเดี๋ยวเสียบรรยากาศ หรือยุคเพลงไทยล้นตลาดดาษดื่นจนขาดตัวตน หรือเพลงซ้ำจนต้องเขี่ยๆ ปะๆ ไปให้ครบสิบเพลงเพียงเพื่อผดุงราคาการแบ่ง เค้ก
 
          ปี 2531 นูโว "เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เกิดเลย" ปี 2533 นูโว "บุญคุณปูดำ" ปี 2534 นูโว "สุดสุดไปเลย" ปี 2535 นูโว "ออกซิเจน" เอาแค่นี้ก่อนนะครับ นี่คือยุคบรรยากาศที่คนฟังเพลงทั้งหน้าเอ และหน้าบีกันอย่างจริงจัง เรียกได้ว่ามีแฟนคลับอย่างเป็นรูปแบบและทุกเพลงก็ได้เข้าไปนั่งในหัวใจแฟนๆ อย่างน่าชื่นใจ… และเราได้แยกวง ปิดฉากตัวเองในปี 2536 ด้วยการตามหาฝันที่เป็นตัวของตัวเอง โดยออกอัลบั้ม โจ ก้อง  และมีอัลบั้มในปี 2538 รวมกันเฉพาะกิจ 2540 "happenning" และ 2543 "สดุดี" บรรยากาศทุกอย่างเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เทคโนโลยี เข้ามามีบทบาททำลายรายได้วงการดนตรี การเลือกฟังเพลงที่ชอบเท่านั้นเริ่มเกิดขึ้น… คำว่าฟังเพลงหน้าเอหน้าบีไม่เหลือแล้วครับ... หมดยุคของเราอย่างสิ้นเชิง หรือพูดได้อีกคำว่า “กรูมาได้แค่นี้” หรือ กรูเก่งได้แค่นี้ จบข่าว นูโวหายจากวงการไปทั้งหมด 8 ปีเต็ม จนถึง วัน "รียูเนียน" ครั้งแรกของหัวหน้าแก๊ง old school song…ปี 2544 คอนเสิร์ต นูโวอินเลิฟ จัดโดยพี่เปิ้ล หัทยา วงษ์กระจ่าง เป็นผู้ริเริ่ม ปรากฏว่า เกิดปรากฏการณ์ที่สุดยอดขึ้น แฟนคลับที่ทำงานเป็นผู้บริหาร หรือเป็นพ่อแม่มือใหม่ มารุมซื้อตั๋วเช้าชมถึงกับ สามชั่วโมงตั๋วหมด บริษัทเจ้าของเพลงถึงกะตกใจ ขออัดการแสดงสดโดยผ่านบริษัท มอร์มิวสิค เป็นดีวีดีขายกันเลยทีเดียว
 
          หลังจากนั้นเราก็ยังเล่นดนตรีมาจนถึงวันนี้ โดยมี อัลบั้มใหม่อีก เช่น นูโว 5 ปี 2545 ปี 2551 "now 2.0"  และปี 2554 "6am" ตลอดสิบปีหลังจากการรียูเนียน  เราได้ตระหนักถึง ลิสต์เพลงที่เล่นมาทุกวันนี้ ถูกกลั่นกรองด้วยอะไรก็ไม่ทราบ ที่ทำให้เราเล่นอยู่เพียง ยี่สิบเพลง บวกลบ ทั้งที่เรามีเพลงถ้ารวมของ จอหน์ นูโว อัลบั้มเดี่ยวด้วยก็เป็นร้อยเพลง ลิสต์เพลงที่เล่นอยู่ทุกวันนี้น่าจะมาจาก... ชอบให้คนกรี๊ดทุกเพลง... หรืออาการติดเสียงกรี๊ด หรือขี้เกียจซ้อม จะอะไรก็แล้วแต่ นั่นหมายถึงเพลงดีๆ หน้าบีก็จะถูกลืมไปในที่สุด แฟนคลับรุ่นใหม่ทุกท่านและรุ่นเก่าก็จะจำได้แค่ว่านูโวมีเพลงแค่ หลอกกันเล่นเลย, ไม่เป็นไรเลย, สัญชาตญาณบอก, ลืมไปไม่รักกัน
 
          ผมจึงมีความคิดริเริ่มที่จะใช้พื้นที่ตรงนี้ประชาสัมพันธ์กันตรงๆ ไปเลยว่า นูโวประกาศเลิกเล่นเพลงหน้าเอ หรือเพลงฮิตตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยเราจะจัดคอนเสิร์ต ที่ชื่อว่า B side ที่อิมแพ็ค อารีน่า ในวันที่ 13 ตุลาคม ปีนี้ โดยจะเล่นเพลงเหล่านี้เท่านั้น คางคกร่าเริงเลย, ของมันได้อยู่เลย, หลบไปเลยไป, ถังขยะเลย, เพื่อนกับพ่อ, ทนทนเอาหน่อย, รักเธอเบื่อเธอ, เบาเบา, คัดมาอย่างดี, หลุมหลบภัย, ฉันยังคงอยู่, ไม่มีคำตอบ, สักวันคงเจอ, กวีบทเก่า, เก็บไว้ให้เธอ, ไม่เข้าใจ, ยอมแล้วยอม, อีกครั้งนี้คงถูกใจ, มาลองดูซักที, โลกเราสวยงาม, ทารุณ, หน่วยกล้าอาย, หลับตา
 
          ถ้าสนใจไปเจอกันได้ที่ อิมแพ็ค อารีน่า 13 ตุลาคมปีนี้เท่านั้น เราจะทำให้เพลงหน้าบีกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ถ้าต้องการฟังเพลงนอกเหนือจากลิสต์นี้กรุณาอย่าไป... ชัดเจน นะครับ
.......................................
(หมายเหตุ Concert Nuvo B side : คอลัมน์ ไตรโทน  โดย...  จิรายุส  วรรธนะสิน)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ