บันเทิง

โจ๋ไทยรวมกลุ่มเต้น'แฟลชม็อบ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สกู๊ปบันเทิง : กระแสม็อบสร้างสุขมาแรง โจ๋ไทยแห่รวมกลุ่มเต้น 'แฟลชม็อบ'

                      "แฟลชม็อบ" (Flash Mob)" หรือ ฝูงชนชั่วพริบตา หมายถึง ม็อบสร้างสุข เป็นการมาพบปะกันของบุคคลจำนวนมาก ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันและสลายตัวเร็วเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเมื่อเสร็จภารกิจ การรวมตัวลักษณะนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประเพณีกระแสหลัก ใช้วิธีสื่อสารแบบบอกต่อหรือนิยมส่งผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยแฟลชม็อบเกิดขึ้นครั้งแรกปี 2003 เมืองแมนฮัตตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการรวมตัวผู้ชื่นชอบการซื้อพรมราคาแพงลิบประมาณ 100 คน ที่ศูนย์การค้า "เมซีย์ (Macy‘s department store)" ของเมืองนิวยอร์กและการรวมตัวกันราว 200 คน ในโรงแรมไฮแอท เพียงเพื่อตบมือพร้อมกันในเวลา 15 วินาที ก่อนสลายตัวไป ต่อมาแฟลชม็อบแพร่ระบาดไปทั่วโลก มีแฟลชม็อบที่แปลกหลายรูปแบบ เช่น มีการนัดเอาหมอนมาตีกัน โดยเรียกชื่อว่า "วันตีหมอนนานาชาติ (Worldwide Pillow Fight Day)" ถือเป็นแฟลชม็อบระดับนานาชาติครั้งแรกของโลกและเป็นแฟลชม็อบที่ใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้ มีนัดกันมาปามะเขือเทศ รวมกลุ่มเต้นเพื่อขอแฟนแต่งงาน เป็นต้น

                      กิจกรรมแฟลชม็อบที่นิยมมากที่สุด คือ การรวมกลุ่มของเหล่าแฟนคลับที่ชอบในศิลปินเดียวกัน เช่น ในปี 2011 ที่เมืองบายอน ประเทศฝรั่งเศส มีการรวมกลุ่มแฟนคลับเลดี้ กาก้า กว่า 3 หมื่นคน เพื่อเต้นตามแบบเลดี้ กาก้า โดยทุกคนต่างนัดกันแต่งกายด้วยชุดสีขาวแดงในวันนั้น หรือกลุ่มแฟนคลับผู้หญิงกว่า 100 คนของบียอนเซ ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่นัดมาสวมชุดแต่งกายแบบบียอนเซในมิวสิกวิดีโอเพลง "Single Ladies (Put A Ring On It)" และเต้นเป็นจังหวะที่พร้อมเพรียงกัน เป็นต้น นี่คือตัวอย่างของแฟลชม็อบ ซึ่งขณะนี้ได้ลุกลามเป็นวงกว้างในหลายประเทศ

                      จนตอนนี้ประเทศไทยก็เริ่มได้รับอิทธิพลแฟลชม็อบเช่นกัน เริ่มจากแฟลชม็อบจากการรวมกลุ่มแฟนคลับวง "2 พีเอ็ม (2 PM)" หรือที่เรียกกันว่า กลุ่ม "ฮอตเทสไทย (Hosttes)" เมื่อปี 2009 ณ บริเวณห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง เก๋ๆ ด้วยการนัดมาเต้นเวลาบ่าย 2 โมง เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนให้ "ปาร์ก แจบอม" หัวหน้าวงได้กลับมาเป็นหัวหน้าวงและเข้าร่วมทำกิจกรรมกับสมาชิกที่เหลือ เนื่องจาก ปาร์ก แจบอม ถูกกดดันจากเหล่าแอนตี้แฟน ที่ไม่พอใจเรื่องที่เคยพูดถึงชาวเกาหลีและประเทศเกาหลีในทางที่ไม่ดีไว้ จนทนกระแสกดดันไม่ไหวจึงขอลาออก และกลับอเมริกาไป โดยมีสื่อจากประเทศเกาหลีใต้พูดถึงแฟลชม็อบในประเทศไทยครั้งนั้นว่า ไม่สามารถพูดถึงแฟลชม็อบทุกที่ได้ แต่ประเทศไทยเข้าตามาก เพราะคนที่เข้าร่วมมากกว่าหนึ่งร้อยคนและการเต้นจังหวะที่พร้อมเพรียงนั้นน่าทึ่งจริงๆ

                      ต่อด้วยที่การรวมกลุ่มกันของเหล่าแฟนคลับเกาหลีเต็มรูปแบบ โดยใช้ชื่อแฟลชม็อบครั้งนี้ว่า "Global Flashmob Day : Bangkok flashmob" ซึ่งวัตถุประสงค์ในการจัดนั้น เพื่อเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทาง​เกาหลีตัดสินใจว่าจะมาเปิดออดิชั่น และ "Dreamstage Korea's concerts" ที่ประเทศไทยมั้ย และสำคัญกว่า คือ ศิลปินคนไหนจะได้มาบ้างนั่นเอง ซึ่งยกกันไปเต้นที่บริเวณลานหน้าศูนย์การค้ามาบุญครอง ในปี 2011 โดยในวันนั้นนัดกันมาเต้นท่าของศิลปินหลายวง อาทิ "2 PM (2PM)" "เกิร์ลเจเนอเรชั่น (Girls' Generation)" "คารา (KARA)" "4 มินิ (4minute)" เป็นต้น

                      ซึ่งแฟลชม็อบประเทศไทยไม่ได้มีแต่เฉพาะแฟนคลับของศิลปินเกาหลีเท่านั้น เพราะการรวมตัวของกลุ่มที่ชื่นชอบศิลปินฝั่งตะวันตกก็เริ่มมีให้เห็นบ่อยขึ้น เริ่มที่การรวมกลุ่มของผู้ที่ชื่นชอบ "เลดี้ กาก้า (Lady Gaga)" ที่บริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยวัตถุประสงค์การนัดมาเต้นครั้งนี้ เพื่อต้อนรับการมาแสดงคอนเสิร์ตของเลดี้ กาก้า ที่เพิ่งจะจัดคอนเสิร์ตยิ่งใหญ่สุดอลังการที่สนามราชมังคลากีฬาสถานไปนั่นเอง เรียกได้ว่าแต่ละคนแต่งกายกันแบบจัดเต็มและเต้นกันได้อย่างพร้อมเพรียงน่าประทับใจจริงๆ

                      หรืออย่างล่าสุดมีการรวมแฟลชม็อบโดยกลุ่ม "ไทยไดเร็กชั่นเนอร์ (Thai Directioners)" กลุ่มผู้ชื่นชอบศิลปินวงบอยแบรนด์ "วัน ไดเร็กชั่น (One Direction)" โดยนัดรวมตัวกันบริเวณหน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนให้ศิลปินวัน ไดเร็กชั่น มาจัดคอนเสิร์ตในทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย

                      เป็นที่น่าสังเกตว่า การทำแฟลชม็อบแต่ละครั้งและแต่ละประเทศ เป็นการช่วยสร้างความสุขและความสามัคคีกันในหมู่วงกว้าง แต่ขณะเดียวกันหากมีเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์เข้ามามันคงแปรเปลี่ยนจากความสุขเป็นความไม่สงบก็ได้ ดังหลายๆ ประเทศที่เริ่มมีมาตรการทางกฎหมายเข้ามาบ้างแล้ว ก็ต้องจับตาดูกันว่า ม็อบสร้างสุขนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ