บันเทิง

ความดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความดี : พริกกะเกลือ โดย... นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ [email protected] <mailto:[email protected]> <https://www.facebook.com/NithinandY>

          โลกตะวันตกเถียงกันเรื่องนิยาม “ความดี” มาเป็นพันปีแล้ว แต่ในสังคมไทยไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งถือเป็นศาสนาหลักของชาติ และถือเป็น “ความดีสมบูรณ์” คอมพลีทร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีอะไรให้ต้องตั้งคำถามอีกต่อไป
 
          เมื่ออาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอความเห็นในลักษณะที่ว่า ความดีเป็นปัญหา เพราะบ่อยครั้งมีผู้อ้างความดีไปทำลายล้างคนอื่นที่ไม่ดีในทัศนะของตน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาหลายประการ ทั้งในแง่ของความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
 
          หลายคนในสังคมไทยที่เชื่อมั่นในความดีของตนจึงหงุดหงิดมากว่า ทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยจึงโง่และเลวนัก ช่างไม่รู้เสียเลยว่า ความดีไม่เคยมีปัญหา เพราะความดีย่อมหมายถึงความดีเสมอ เรื่องนี้เป็นปกติว่า ใครที่ไม่เคยอ่านตำราทางสังคมศาสตร์มาบ้าง หรือไม่มีพื้นฐานความเข้าใจในวิชาปรัชญา/จริยศาสตร์มาบ้างย่อมคิดไปในทำนองนั้น แต่สังคมสมัยใหม่ ที่ผู้คนสามารถค้นคว้าหาความรู้ได้อย่างไม่มีพรมแดน เป็นเรื่องสมควรต้องเสนอข้อถกเถียง
 
          นี่ไม่ใช่เรื่องตามก้นฝรั่ง แต่เป็นเรื่องของการเปิดพรมแดนความรู้ เมื่อมีคำถามกับความเชื่อเก่า ก็ควรได้ถกเถียงเพื่อสติปัญญา มิใช่รีบชี้หน้าด่าคนถามว่าเลว ถามแล้ว ตอบแล้ว จะเลือกเชื่อความเชื่อเดิม หรือรับมุมมองใหม่ๆ ไปพิจารณา ย่อมเป็นสิทธิส่วนตน มิใช่เรื่องต้องบังคับกัน นี่คือเสรีภาพในการเรียนรู้ของสมองมนุษย์ตามธรรมชาติ
 
          ย้อนกลับมาเรื่องความดี กับความดีเป็นปัญหา ซึ่งพื้นที่สำหรับคอลัมน์นี้ มีไม่พอสำหรับเขียนให้ครบถ้วนทุกประเด็น จึงขอเสนอแบบย่อๆ ว่า จะพิจารณาเรื่องนี้ ต้องชัดในกรอบคิดหรือฐานคิดที่นำมาถกเถียงกันก่อน
 
          โดยทั่วไปแล้ว คำว่า “ดี” ถ้าพูดในหลักการศาสนา จะไม่มีปัญหามาก เพราะศาสนาขึ้นกับความเชื่อและความศรัทธาในคำสอนของศาสดา แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นได้ เมื่อผู้นับถือต่างศาสนายกพวกทำสงครามกันเพื่อกำจัดศาสนาอื่นด้วยข้ออ้างว่า "ไม่ดี” หรือ “ไม่ใช่ศาสนา” นำไปสู่คำถามว่า ตกลงแล้ว การฆ่าชีวิตอื่น ซึ่งทุกศาสนาว่าไม่ดีนั้น แท้จริงแล้ว ดีหรือไม่ดี เป็นต้น
 
          ชาวพุทธโดยเฉพาะในสังคมไทย มักคุยว่า ศาสนาพุทธดีเลิศ เพราะไม่เคยบังคับใคร แต่ก็ทำนองเดียวกับตัวอย่างข้างต้น นั่นคือ ศีลเบื้องต้นของพุทธบอกว่า การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาป หากชาวพุทธในไทย กลับไม่เคยตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใด จึงไม่เคยสะเทือนใจเมื่อเห็นภาพการฆ่าคนที่เราคิดว่าเป็นศัตรู หมายถึง การฆ่าศัตรูและคนเลวเป็นข้อยกเว้นหรือ ซึ่งก็จะนำไปสู่คำถามต่อไปว่า คนเลวที่ว่านั้น เลวอย่างไร ทั้งหมดนี้ ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำ
 
          เรื่องจริงก็คือ การพูดถึงความดีเลวในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องคลุมเครือมาก นักคิดทั้งหลายจึงเห็นมาเป็นพันเป็นร้อยปีแล้วว่า ดีในทางจริยศาสตร์และสังคมเป็นสิ่งสัมพัทธ์ นั่นคือ มันมิได้หรือมิอาจ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ตามลำพัง
 
          พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2542) ระบุว่า ดี เป็นคำวิเศษณ์ (แปลไทยอีกทีว่าคำขยาย) หมายถึงลักษณะที่เป็นที่ต้องการ น่าปรารถนา น่าพอใจ ส่วนพจนานุกรมศัพท์ปรัชญาไทย-อังกฤษ (2543) บอกว่า คือ ลักษณะที่เป็นที่ต้องการ อาจมีความหมายในทางจริยธรรมหรือไม่ก็ได้ เช่น ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งดี มีความหมายในทางจริยธรรม แต่มีดเล่มนี้ดี หมายถึงใช้ดี ไม่มีความหมายทางจริยธรรม 
 
          เราสามารถยกตัวอย่าง “ความดี” ในลักษณะคลุมเครือ จากคำอธิบายตามพจนานุกรมศัพท์ปรัชญานี้ได้ เช่น ความซื่อสัตย์เป็นสิ่งดี แต่ถ้าเราจำเป็นต้องปิดบังความจริงบางอย่างเกี่ยวกับผู้นำของเรา เพื่อให้บ้านเมืองอยู่รอด (ในทัศนะของเรา) เราจึงไม่ซื่อสัตย์ต่อความจริง ส่งคนอื่นไปรับผิดแทน ตายแทน หรือถูกประณามเจ็ดชั่วโคตรแทนล่ะ จะแปลว่า เรายังซื่อสัตย์อยู่หรือไม่ ดีอยู่หรือไม่ เป็นต้น  
 
          สรุปสำหรับข้อเขียนนี้ ในพื้นที่น้อยนิดนี้ จึงเป็นข้อเสนอว่า ถ้าคิดจะเถียงกันเรื่องดีเลว ก็ควรต้องอ่านให้มากขึ้น เปิดใจรับหลากหลายมุมมองในสากลโลกให้มากขึ้น ถ้ายืนยันจะยึดติดเพียงมุมมองแบบไทยๆ และกอดศีลธรรมของพุทธศาสนาแบบไทยๆ ก็อย่าเถียงให้เสียเวลา แต่ท่านจะตามโลกและความจริงทันหรือไม่ เป็นเรื่องของท่าน
.............................
(หมายเหตุ ความดี : พริกกะเกลือ โดย... นิธินันท์ ยอแสงรัตน์  [email protected] <mailto:[email protected]>
<https://www.facebook.com/NithinandY>)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ