สพฐ.เปิดผลสำรวจ ‘สถานภาพทางการเงินครู’ เหลือน้อยกว่า 30% เฉียด 5 แสนคน
สพฐ.เปิดผลสำรวจ ‘สถานภาพทางการเงินครู’ ต่อเดือน ของ 'ครูประถม'และ‘ครูมัธยม’ รวมทั้งสิ้น 687,221 คน ในจำนวนนี้ เร่งไกล่เกลี่ยคดี-ชะลอฟ้องกลุ่มวิกฤตกว่า 1 แสนคน และมีเงินเหลือน้อยกว่า 30% เกือบ 5 แสนคน ดัน ศูนย์แก้หนี้ครู ครบวงจร
แก้หนี้ครู เป็นความพยายามของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) มาทุกยุคทุกสมัย และในทุกครั้งที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ การแก้ไขปัญหาหนี้ครู จะถูกหยิบยกขึ้นมาหารือกันทุกครั้ง รวมทั้ง ศธ.ภายใต้การบริหารงานของ ‘บิ๊กอุ้ม’พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.),นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.)และเสี่ยโต้ง สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้
โดยเมื่อเร็วๆ นี้การแก้ไขปัญหาหนี้ครู ถูกนำมากางไว้บนโต๊ะเพื่อหาทางแก้หนี้ครูอีกครั้ง หลังรัฐบาลชุดก่อนพยายามแล้ว แต่ยังไม่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในครั้งนี้ ว่ากันว่า นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.)เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ สพฐ. (DOC) อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร(กทม.)
นายธีร์ ระบุว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ตั้งอยู่บริเวณอาคาร สพฐ. 1 ชั้น 1 กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะเป็นศูนย์ปฏิบัติการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ รับเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียน ตลอดจนการรวบรวมผลการดำเนินงาน ส่งต่อข้อมูลแก่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหา
โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา สพฐ.ได้สร้างโปรแกรมออนไลน์ เพื่อสำรวจข้อมูลวิเคราะห์จัดกลุ่มสถานภาพทางการเงินครู แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
- สีแดง ถูกฟ้องดำเนินคดีเรื่องหนี้สินทุกกรณี
- สีส้ม เงินคงเหลือน้อยกว่า 30% และยังไม่ถูกฟ้อง
- สีเหลือง มีหนี้สินและเงินคงเหลือน้อยกว่า 30%
- สีเขียว ครูและบุคลากรไม่มีหนี้
ปรากฎว่าผลของการสำรวจสถานภาพทางการเงินครู มีบุคลากรที่ลงทะเบียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 533,124 คน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 154,097 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 687,221 คน
โดยจำแนกข้อมูลสถานะทางการเงินของครูได้ ดังนี้
- สีแดง มีจำนวน 2,864 คน
- สีส้ม มีจำนวน 108,540 คน
- สีเหลือง มีจำนวน 485,009 คน
- สีเขียว มีจำนวน 90,808 คน
"ตัวเลขสถานภาพทางการเงินของครูดังกล่าว สพฐ.จะนำไปดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ตามแนวทางที่กำหนดตามสถานภาพทางการเงิน โดยจะนำร่องในพื้นที่ที่มีกลุ่มเป้าหมายวิกฤตมากที่สุดเป็นลำดับแรก เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ
โดยจะให้ความช่วยเหลือไกล่เกลี่ยระหว่างพิจารณาคดี,ชะลอการฟ้อง,ระหว่างเจ้าหนี้กับผู้ค้ำประกัน พร้อมทั้งพัฒนาความรู้เรื่องการเงิน จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
รวมถึงติดตามการดำเนินการในสถานีแก้หนี้ทุกพื้นที่ เพื่อให้การแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความอุ่นใจให้ครูไทยทั่วประเทศกลับมายิ้มได้อีกครั้ง และทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป"นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวย้ำ
ว่ากันว่า หนี้ครูส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืิมเงินจาก ‘สหกรณ์ออมทรัพย์ครู’ และองค์กรครูได้พยายามเรียกร้องขอให้เจ้าหนี้ ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 3 ต่อปี แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เป็นผล
ขณะเดียวกันคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ได้อนุมัติจัดสรรวงเงินให้กู้ยืมของเงินทุนหมุนเวียนฯ จำนวน 200 ล้านบาท ปล่อยให้กู้ยืมรายละไม่เกิน 500,000 บาท(ห้าแสนบาท) เริ่ม 27 พ.ย. 2566
คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูฯ เคาะวงเงิน200 ล้านเร่งแก้วิกฤตหนี้สินครู ปล่อยให้กู้ยืมรายละไม่เกิน 500,000 บาท ครูขอยื่นกู้ยืมได้ภายใน 27 พ.ย. 2566