ข่าว

สพฐ. ห่วงใยเหตุ ‘อาคารเรียนทรุด’ ย้ำ ‘โรงเรียนต้องปลอดภัย’ สำหรับทุกคน

สพฐ. ห่วงใยเหตุ ‘อาคารเรียนทรุด’ ย้ำ ‘โรงเรียนต้องปลอดภัย’ สำหรับทุกคน

10 พ.ย. 2566

โฆษก สพฐ. แจง อาคารเรียนทรุด ผู้บริหารและครูได้ดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นอย่างดี มีระบบการรายงานผลที่รวดเร็ว จึงขอย้ำเตือนทุก ‘โรงเรียนต้องปลอดภัย’ ของนักเรียนอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยไม่ประมาท

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช โฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โฆษก สพฐ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เกิดเหตุพื้นไม้อาคารเรียนเก่าทรุดตัวและพังถล่มลงสู่ด้านล่าง ความสูงประมาณ 2 เมตร ทำให้นักเรียนจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นั้น

 

สพฐ. ห่วงใยเหตุ ‘อาคารเรียนทรุด’ ย้ำ ‘โรงเรียนต้องปลอดภัย’ สำหรับทุกคน

 

 

ดร.เกศทิพย์ กล่าวว่า จากเหตุดังกล่าวที่เกิดขึ้น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มีข้อห่วงใยถึงโรงเรียนและนักเรียนในเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา โดยตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้กำชับให้โรงเรียนทั่วประเทศสำรวจ ตรวจสอบห้องเรียน อาคาร ห้องน้ำ พัสดุ อุปกรณ์อื่น ๆ โดยรอบโรงเรียนเป็นประจำทุกวัน ให้อยู่ในสภาพที่มั่นคง 

 

 

หากมีการชำรุดเสียหายต้องเร่งซ่อมแซมให้เสร็จโดยเร็วที่สุด หรือหากสุดวิสัยยังไม่สามารถซ่อมแซมแก้ไขได้ ก็ต้องจัดทำแนวกั้น ป้ายเตือน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ 

 

 

ซึ่งในกรณีล่าสุดนี้ พบว่าผู้บริหารและครูได้ดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นอย่างดี มีระบบการรายงานผลที่รวดเร็ว จึงขอย้ำเตือนทุกโรงเรียนต้องเข้มในเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยไม่ประมาท

 

 

สำหรับการดำเนินการในส่วนของ สพฐ. นั้น ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้มอบหมาย นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. พร้อมด้วยศูนย์ความปลอดภัย สพฐ. ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงยังโรงเรียนดังกล่าว พบว่า เหตุเกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 15.15 น. โรงเรียนได้จัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษ มีกิจกรรมให้นักเรียนตอบคำถามหน้าชั้นเรียน จึงมีการรวมตัวทำกิจกรรมบริเวณหน้าชั้นเรียนจำนวนมาก ทำให้เกิดเหตุการณ์พื้นห้องเรียนทรุดตัว ณ บริเวณ ชั้น 1 ของอาคารเรียน

 

อาคารเรียนทรุด  

 

โดยเบื้องต้นมีนักเรียนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 2 คน จึงได้นำส่งโรงพยาบาลพนัสนิคม และแพทย์ให้กลับบ้านได้แล้ว ส่วนสาเหตุของการทรุดตัวนั้น พบว่าห้องที่เกิดเหตุไม่มีอาการบ่งบอกถึงการทรุดตัว ซึ่งวิศวกรของ สพฐ. ได้เคยเข้ามาตรวจสอบ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 และโรงเรียนได้ใช้งบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องทำการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

 

 

สพฐ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในสถานศึกษามาโดยตลอด ตามข้อสั่งการของ รมว.ศธ. โดยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 สพฐ. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งมาตรการการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ดำเนินการแจ้งสถานศึกษาในสังกัดทราบ และดำเนินการตามมาตรการการเตรียมพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566

 

 

โดยในมาตรการได้กำหนดให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยของสถานศึกษา ในเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมให้นักเรียนปลอดภัย โดยขจัดมุมอับและจุดเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อนักเรียน เช่น การสำรวจอาคารที่ชำรุด เป็นต้น

 

.

“ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้เน้นย้ำว่า กรณีตามที่ปรากฏข่าว หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าสถานศึกษาหลีกเลี่ยงหรือละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่งและมาตรการการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ จะถือว่าปล่อยปละละเลยและบกพร่อง จะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามลำดับต่อไป" โฆษก สพฐ. กล่าว