เหลื่อมล้ำการศึกษา รุนแรง พบปี66 'นักเรียนยากจน'- 'ยากจนพิเศษ' 1.8 ล้านคน
ความเหลื่อมล้ำการศึกษา ปี2566 พบมีจำนวน ‘นักเรียนยากจน’ และ ‘ยากจนพิเศษ’ 1.8 ล้านคน กสศ.สนับสนุนทุนเสมอภาคช่วยเด็กได้1,248,861 คน ชู ทุนมนุษย์ยุติความเหลื่อมล้ำ ชี้พิษโควิด-เงินเฟ้อ ทำรายได้ครัวเรือน เหลือ 34 บาทต่อวัน ต่ำกว่าเกณฑ์ความยากจนนานาชาติ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (ผู้จัดการ กสศ.) นำเสนอรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2566 โดยชี้ว่า ปี 2566 หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สถานการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง เป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรงขึ้น
โดยเฉพาะค่าครองชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เด็กและเยาวชนจากครัวเรือนเปราะบางได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากมีปัญหาความยากจนหรือด้อยโอกาสในมิติต่างๆ เป็นทุนเดิม ถ้าหากเราไม่ช่วยเหลือ ดูแลเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนเปราะบางเหล่านี้ ประเทศไทยอาจมีการฟื้นตัวเป็นลักษณะ K-Shaped (K-Shape Recovery) หมายถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกับครัวเรือนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่าจะยิ่งถ่างกว้างออกไปมากขึ้น
“เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความพร้อมมากกว่าจะสามารถฟื้นตัวจากภาวะถดถอยจากการเรียนรู้ได้มากกว่า และเด็กที่เข้าไม่ถึงโอกาสในการฟื้นฟูหรือหลุดจากระบบ จะกลายเป็นกลุ่มประชากรรุ่นที่สูญหายจากการเรียนรู้ ( Lost Generation) หลักฐานเรื่องนี้ ยืนยันจากข้อค้นพบ ปัญหาทุนมนุษย์ช่วงวัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มยากจนด้อยโอกาส”
การพัฒนาทุนมนุษย์ในวันนี้จึงต้องเปลี่ยนไป ในบริบท และเงื่อนไขใหม่ ไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสีย หรือ เด็กเยาวชนให้หลุดออกจากระบบการศึกษาหรือไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพแม้แต่คนเดียว เพราะเด็กทุกคนเป็นมนุษย์ทองคำ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า นอกจากนี้อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เราจะเหลือเด็กเยาวชนให้ลงทุนได้น้อยลงทุกๆปี ทุกๆวัน
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 จะทยอยครบกำหนดในอีก 5-7 ปี หากไม่เร่งลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมายนี้
การลงทุนในทุนมนุษย์คือกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคน 40% เพื่อออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ภายในปี 2579 ของไทย ทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่ฐานภาษีที่กว้างและลึกขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้ และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ
จากการประเมินขององค์การ UNESCO พบว่าหากประเทศไทยสามารถยุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ประเทศไทยจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ถึง 3%
ดร.ไกรยส ระบุว่า ปีการศึกษา 2566 ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษราว 1.8 ล้านคน โดย กสศ. สนับสนุนทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ หรือยากจนระดับรุนแรง (Extremely Poor) จำนวน 1,248,861 คน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ตัวเลขยังไม่แตะหลักล้านคือ 994,428 คน เด็กกลุ่มนี้ แม้จะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี
แต่ความยากจนในระดับรุนแรงยังเป็นอุปสรรคทำให้เด็กบางคนไม่สามารถมาเรียนได้ ความเป็นอยู่ของเด็กแร้นแค้น สภาพบ้านเข้าข่ายทรุดโทรม ไม่มีค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้
รายได้ของครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษที่มีบุตรหลานอยู่ในระบบการศึกษามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิม 1,250 บาทต่อเดือน ในปี 2562 ปี 2566 ลดลงเหลือ 1,039 บาทต่อเดือน หรือวันละ 34 บาท หรือลดลงราวร้อยละ 5 ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์ความยากจนระดับนานาชาติ 2.15 ดอลลาร์ต่อวันหรือวันละประมาณ 80 บาท
จากการติดตามข้อมูลนักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2566 มีข้อค้นพบ ดังนี้
1.ยิ่งการศึกษาระดับสูง โอกาสที่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะได้เรียนต่อก็น้อยลงเรื่อยๆ ปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ (21,921 คนหรือ 12.46%) ต่ำกว่าค่าสถิติของทั้งประเทศมากกว่า 2 เท่า
2.ช่วงชั้นรอยต่อเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบมากที่สุด เพราะจำเป็นต้องย้ายสถานศึกษาในช่วงเปิดเทอมและต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น ค่าธรรมเนียมการสมัครเรียน ค่าเดินทางมาสมัครเรียน หรือการเตรียมความพร้อมในการเรียนต่อ เด็กกลุ่มนี้ต้องผ่านด่านที่เป็นอุปสรรคจำนวนมากจนต้องยอมแพ้ไม่เรียนต่อในที่สุด เช่น ค่าใช้จ่ายในการเข้ามหาวิทยาลัยคิดเป็น 12 เท่าของรายได้นักเรียนยากจนพิเศษ หรือราว 13,200 บาท-29,000 บาท
“กสศ. ได้รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักเรียนยากจนพิเศษที่เข้าศึกษาต่อผ่านระบบ TCAS พบว่า ทุนการศึกษาคือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจเรียนต่อ ขณะที่ค่าใช้จ่าย TCAS ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของนักเรียนยากจนพิเศษ การสมัคร TCAS แต่ละรอบ/สาขา หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น”
ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.)ได้จัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี Equity Forum 2023 ทุนมนุษย์ยุติความเหลื่อมล้ำ เพื่อนำเสนอรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 และผลงานวิจัย และข้อเสนอการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ในประชากร 3 ช่วงวัยสำคัญของประเทศเมื่อวันที่่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร